ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เป็นเรื่องที่บาดลึกลงไปในความรู้สึกของประชาชนคนไทยจริงๆ สำหรับกรณีที่ “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงบังคับให้ 4 ส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์อันประกอบด้วย นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ นายดุลการิม เต็งระกีนา ส.ส.ยะลา นายอันวาร์ สาและนาย อิสมาแอล เบญอิบรอฮิม ส.ส.ปัตตานี ไปตำหนิต่อหน้า “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังจากที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผู้บัญชาการทหารบกในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้
บาดลึกในแง่ของศักดิ์ศรีแห่งความมนุษย์ ศักดิ์ศรีของความเป็นคน และศักดิ์ศรีของความเป็นพลเรือนไทยในระบอบประชาธิปไตยที่มีสิทธิ์ที่จะวิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของผู้มีหน้าที่รับผิดชอบด้วยความบริสุทธิ์ใจเมื่อเห็นว่า ล้มเหลวและไม่มีประสิทธิภาพ
และบาดลึกในแง่ของการดำรงอยู่แห่ง “ความเป็นเผด็จการ” ที่ดำรงอยู่ในตัวของนายสุเทพที่ประหวั่นพรั่นพรึงต่ออำนาจของทหารที่ค้ำบัลลังก์อำนาจของตัวเอง โดยที่ไม่ใส่ใจในความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน
แน่นอน นั่นไม่ใช่เพราะเพียงแค่นายทหารยังเติร์กกลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น20 (ตท.20) แสดงอาการไม่พอใจ นายสุเทพก็ปากสั่นลนลานจนแทบจะปูผ้ากราบ พล.อ.ประวิตรและพล.อ.ประยุทธ์ หากแต่แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่แท้จริงของ “ตือโป๊ยก่าย” พี่เอื้อยแห่งบูรพาพยัคฆ์ที่สามารถสั่งให้รัฐบาลนี้ซ้ายหันหรือขวาหันได้ตามใจชอบ เพราะบุญคุณที่ค้ำหัวในการจับพรรคประชาธิปัตย์ใส่ถาดถวายให้เป็นรัฐบาลโดยที่มิต้องลงทุนแรงอะไร
“ในช่วงที่ผมเรียก ส.ส.มาชี้แจง ก็ได้เชิญ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม มาร่วมรับฟังด้วยว่า ส.ส.คิดอย่างไร ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ก็อธิบายให้ฟังถึงการทำงานของเจ้าหน้าที่ หาก ส.ส.ไม่เข้าใจ ก็จะพาไปพบคนที่มีหน้าที่รับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.นั้น ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปพบ แต่ได้โทรศัพท์แจ้งให้ทราบ และขอโทษ ซึ่งท่านก็เข้าใจ”
คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ สิ่งที่ 4 ส.ส.ภาคใต้ของพรรคประชาธิปัตย์แสดงความคิดเห็นนั้น มีสิ่งไหนที่ไม่ถูกต้อง เพราะความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็เป็นเรื่องจริงดังปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็นจนเจนตา และพวกเขาที่เป็นคนพื้นที่ก็ย่อมรู้ดีว่า น่าสะพรึงกลัวแค่ไหน
ที่สำคัญคือ ทุกคนรู้ดีว่า รัฐบาลทุ่มงบประมาณเพื่อแก้ปัญหานับหมื่นล้านบาทตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีอะไรที่ดีขึ้น แถมเลวร้ายหนักกว่าเก่าอีกต่างหาก ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้หนักหนาสาหัสถึงขนาดที่สามารถกล่าวได้ว่า อำนาจรัฐไม่สามารถใช้บังคับได้
หรือถ้าจะใช้คำว่าตกอยู่ในภาวะสงครามก็คงจะไม่เกินเลยจากความเป็นจริงเท่าใดนัก
กล่าวสำหรับการทำหน้าที่ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แห่งพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายสุเทพ เป็นหัวเรือใหญ่และมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมชื่อ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” นั้น ได้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน
ถ้าการทำงานของ พล.อ.ประวิตร ในฐานะรมว.กลาโหมดีจริง ถ้าการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผบ.ทบ.ดีจริง และถ้าการทำงานของนายสุเทพในฐานะรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงดีจริง จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงที่ลุกลามเช่นนี้หรือไม่
งบประมาณที่ทุ่มให้กับการแก้ปัญหาจำนวนมากมายมหาศาล คุ้มหรือไม่กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น และมีความสำเร็จอะไรบ้างหรือไม่ที่เห็นเป็นรูปธรรม
แน่นอน ไม่มีใครตำหนิทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพราะเข้าใจดีถึงความตั้งใจและความเสี่ยงภัยในการทำงาน แต่สำหรับบรรดา “บิ๊กทหาร” หรือ “นักการเมืองผู้รับผิดชอบ” ที่นั่งอยู่ในกรุงเทพฯ หรือฐานที่มั่นอันปลอดภัย เสียงตำหนิติฉินย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
ยิ่งเมื่อพิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์ของนายสุเทพด้วยแล้วยิ่งน่าสลดหดหู่ใจเข้าไปใหญ่
““ผมได้ตำหนิไปว่า เราเป็นรัฐบาล เวลามีปัญหาควรพูดกันในที่ประชุมพรรค ซึ่งเปิดพื้นที่ให้พูดเต็มที่ เพื่อให้นายกฯ และรัฐมนตรีได้ทราบ และนำไปแก้ไข แล้วทำไมไม่ทำตามขั้นตอน และที่ผ่านมา ส.ส.กลุ่มนี้ ก็ได้พบกับผมสัปดาห์ 2-3 ครั้งอยู่แล้ว ก็ควรจะบอกว่ามีปัญหาอะไร หรือจะตำหนิผม ก็ควรจะมาบอก เพราะผมได้รับมอบหมายจากนายกฯ ให้กำกับดูแลแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ไปตำหนิเจ้าหน้าที่ ซึ่งไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ ทหาร หรือพลเรือนที่ทำงานในพื้นที่ เขาเสี่ยงภัยเสี่ยงชีวิตมากกว่า ส.ส. เพราะที่ผ่านมา ไม่เคยปรากฏว่ามี ส.ส.ถูกยิง หรือบาดเจ็บ มีแต่เจ้าหน้าที่ และประชาชนที่บาดเจ็บ ซึ่งผมได้กำชับไปว่าหากมีปัญหาอีกให้มาบอกผม หรือนายกฯ และให้คุยกันในพรรค อย่างไรก็ตาม เขาได้เล่าให้ฟังว่าความจริงให้สัมภาษณ์ไปตามปกติว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง แต่พอออกจากห้องมีสื่อไปถามว่า แล้วจะเปลี่ยนไปถึง ผบ.ทบ.ด้วยหรือไม่ จึงพูดเล่น ๆ ว่าดี ผมก็บอกว่าเรื่องบ้านเมืองอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องพูดเล่น”
คำพูดข้างต้นของนายสุเทพแสดงให้เห็นว่า เขากำลังใช้ความยิ่งใหญ่ของตนเองปกปิดความล้มเหลวในการทำงานของตัวเองโดยบังคับให้ ส.ส.พูดจาเฉพาะในที่ประชุมพรรค ซึ่งนั่นสะท้อนให้เห็นถึงความบิดเบี้ยวของสังคมไทย เพราะต้องไม่ลืมว่า ส.ส.ทั้ง 4 คนไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของพรรคประชาธิปัตย์ หากแต่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นเมื่อพบเจอสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์จากคำพูดของ “นายอันวาร์ สาและ” หนึ่งใน 4ส.ส.ก็ทำให้เข้าใจถึงเบื้องหลังความโมโหโกรธาของนายสุเทพได้เป็นอย่างดี
“ที่พวกผมเสนอคือ ให้ปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่ที่ขอเข้าไปทำงานเพื่ออยากเลื่อนขั้นแต่ไม่เคยทำงาน ซึ่งไม่ได้หมายถึง พล.อ.ประยุทธ์อย่างแน่นอน เพราะระดับ พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ต้องไปเอา 2 ขั้นที่นั่น ซึ่งเรื่องนี้ท่านสุเทพโกรธพอสมควร ถ้ายิ่งไปพูดเรื่องการโยกย้ายตัว พล.อ.ประยุทธ์ ท่านสุเทพก็ยิ่งโกรธเพราะรักการดี”
ทั้งนี้ ถ้าหากย้อนกลับไปวิเคราะห์คำพูดของ 4 ส.ส.กลุ่มดังกล่าวก็จะพบเห็นว่า ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ที่ “ประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่คุ้มกับงบประมาณ”
“ต้องยอมรับว่าประชาชนยังทุกข์อยู่ ยังได้รับผลกรรมจากเหตุระเบิด ถ้าเราไม่เด็ดขาดปัญหาก็จะซ้ำอยู่อย่างนี้ ส่วนการพูดว่า ไม่มีงบประมาณหรือกำลังคนไม่เพียงพอนั้น ไม่น่าจะพูด เพราะรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ เครื่องมือ และยุทโธปกรณ์ให้ตามที่มีการร้องขอ ซึ่งเหลืออยู่อย่างเดียวคือจะพัฒนาประสิทธิภาพได้แค่ไหน”นายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริกล่าว
และเมื่อย้อนกลับไปที่การให้สัมภาษณ์ในวันที่เป็นต้นเหตุของเรื่องก็จะยิ่งชัดเจนขึ้น โดยในวันนั้นนายประเสริฐระบุชัดเจนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า “เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการสร้างสถานการณ์ แต่เป็นความจงใจให้เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเดือดร้อน และมองว่าเป็นสงครามย่อยๆ ไม่ใช่เป็นการสร้างสถานการณ์อย่างที่มีการพูดกัน และไม่เชื่อว่า กลไกรัฐไม่สามารถหยุดปัญหาได้ เพราะพื้นที่ที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นใจกลางเมือง หรือเป็นพื้นที่ไข่แดง ซึ่งจุดที่เกิดเหตุในแต่ละจุดห่างกันไม่เกิน 100 เมตร มีการตรวจตราอย่างแน่นหนา แต่ยังมีระเบิดหลุดรอดจนเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ดังนั้น พวกตนอยากเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในพื้นที่ เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ ทหาร ตำรวจ และเรือเหาะ ให้ไปหมดแล้ว เหลือเพียงอย่างเดียวคือการปรับเปลี่ยน ที่ผ่านมารับฟังปัญหาจากชาวบ้านคือต้องการให้ทหารออกจากพื้นที่ เพราะไม่เชื่อว่าจะป้องกันสถานการณ์ได้”
ถามว่า หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธความจริงข้อนี้หรือไม่
....ถึงตรงนี้ สิ่งที่สังคมไทยอยากจะเห็นนอกจากความสงบเกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว ยังมีอีก 2 ประการที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือ
หนึ่ง-การลาออกของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ
สอง-การลาออกของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
และสาม-การลาออก จากพรรคประชาธิปัตย์ ของ 4 ส.ส.เพื่อธำรงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีของผู้แทนปวงชนชาวไทย