xs
xsm
sm
md
lg

การดับไฟด้วยน้ำมัน(กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้)...(1)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

ด้วยงบประมาณกว่า 1.4 แสนล้านบาทที่ถมลงไปในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ 6 ปีของกรณีที่เริ่มจากสังหารหมู่ในเหตุการณ์ตากใบ (25 ตุลาคม 2547) “กล่าวโดยรวมนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จนถึงเดือนตุลาคม 2553 มีเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้เกิดขึ้น 10,386 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม4,453 คน ผู้บาดเจ็บ 7,239 คน ถ้านับรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตรวมกันจะมียอดรวมสูงถึง 11,692 คน” (ดร.ศรีสมภพ จิตภิรมณ์ศรี)

การสูญเสียงบประมาณจำนวนมากและชีวิตของผู้คน ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน ในเหตุการณ์และสถานการณ์ที่ยังดำรงความรุนแรงรายวันเช่นนี้จึงไม่ใช่ภาวะปกติที่ผู้คนในสังคมจะนิ่งเฉยหรือชินชากับมัน เพราะมันคือทรัพยากรคือเลือดเนื้อและชีวิตพี่น้องร่วมชาติของพวกเรา เป็นหน้าที่ที่ผมคิดว่าเราต้องเสาะแสวงหาทางออกร่วมกันและสร้างความสงบสุขให้กลับคืนมาให้ได้

เท่าที่พอมีประสบการณ์ในการทำงานกับพี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ในฐานะคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนมาตั้งแต่ปี 2536 ณ ช่วงเวลาที่สถานการณ์ของความรุนแรงยังไม่เกิดขึ้น จะมีอยู่บ้างก็เฉพาะเหตุการณ์ตามฤดูกาลของงบประมาณหรือความขัดแย้งทางการเมืองภายใต้โครงสร้างทางการเมืองภายในประเทศ เช่น การเผาโรงเรียน การฆ่าฟันกันก็เป็นเพียงวิถีปกติเหมือนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกๆ ภาคของประเทศ ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองการปกครองของสังคมเราที่เต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์ค้ำชู ระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ระบบเจ้าพ่อนักเลงโต ที่ผสมผสานกันระหว่างเหล่าข้าราชการที่มีอำนาจและใช้อำนาจหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ร่วมกันกับนักธุรกิจใต้ดิน ธุรกิจผิดกฎหมายที่มีอยู่เกือบทุกระดับในสังคม

ประชาชนทุกหมู่เหล่าไร้ที่พึ่ง ประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำจำต้องสยบยอมและตกอยู่ใต้ปีกของอำนาจมืดเพื่อเอาตัวรอด เพื่อรักษาชีวิตและครอบครัวของตัวเองเอาไว้ให้ได้เท่านั้น พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ที่ผมมีโอกาสได้สัมผัสในช่วงปี 2536 ก็ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น

ความไม่พอใจรัฐบาลไทยของพี่น้องชาวไทยมุสลิมเชื้อสายมลายูเริ่มขึ้นจากการยกเลิกระบบสุลต่านหรือเจ้าผู้ครองนครมาเป็นระบบมณฑลเทศาภิบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 และทวีความรุนแรงขึ้นในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมที่ จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี รวมทั้งความอดอยากยากจนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ราษฎรที่นับถือศาสนาอิสลามเห็นว่าพวกตนไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกับราษฎรที่นับถือศาสนาพุทธ

นอกจากนี้ยังมีแรงหนุนจากภายนอก โดยเฉพาะอังกฤษสนับสนุน ตนกู มะไฮยิดดิน อับดุลกาเดร์ บุตรของรายาปัตตานีองค์สุดท้ายให้แยกตัวออกจากไทย เพื่อแก้แค้นที่ไทยหันไปร่วมมือกับญี่ปุ่น แกนนำในการต่อต้านรัฐบาลยุคนั้นคือ หะยีสุหลง อับดุลกาเดร์ ซึ่งมีบทบาทในการคัดค้านการตั้งดะโต๊ะยุติธรรม เรียกร้องให้แยกศาลศาสนา และเสนอคำขอ 7 ข้อต่อรัฐบาล หะยีสุหลงถูกจับด้วยข้อหากบฏเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2491 ต่อมาก็ถูกฆ่า ซึ่งสร้างความไม่พอใจแก่ราษฎรในพื้นที่ 3 จังหวัดอย่างกว้างขวาง

และเหตุการณ์ของความรุนแรงที่ทำให้เกิดการปะทะเกิดการรบราฆ่าฟันกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างเผชิญหน้าที่เราต่างรับรู้ก็คือกรณี “กบฏดุซงญอ” ระหว่างวันที่ 25-28 เมษายน 2491 ณ ตำบลดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส(ซึ่งพี่น้องในพื้นที่ 3 จังหวัดไม่ได้เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “กบฏ” อย่างกับที่หน่วยงานราชการเรียกกัน เขาเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “ปือแร ดุซงญอ” ซึ่งแปลว่า ดุซงญอลุกขึ้นสู้ หรือสงครามดุซงญอ นัยแห่งความหมายย่อมสะท้อนอะไรๆ ให้สังคมเราได้รับรู้ตั้งแต่ตอนนั้น)

จากปี 2491-2547 รวมเวลากว่า 56 ปีที่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขตามอัตภาพ อาศัยฐานทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า และทะเลที่อุดมสมบูรณ์ มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและอบอุ่นระหว่างพี่น้องในพื้นที่ที่มีความแตกต่างกันทางศาสนา สังคมไทยปล่อยผ่านเวลาอันยาวนานในการสร้างสังคมในพื้นที่ที่มีความหลากหลายและแตกต่างที่ดีงาม ให้ถูกกัดกร่อนลงไปทีละนิดๆ ด้วยปัจจัยต่างๆที่ไม่ได้เกินวิสัยที่จะเรียนรู้และเข้าใจ แต่สังคมไทยก็เสียโอกาสนั้นไป

เหตุการณ์ความรุนแรงอย่างเผชิญหน้าและเกิดเลือดตกยางออกที่ยากแก่การเยี่ยวยาก็เกิดขึ้นในปี 2547 เป็นต้นมา จากการสรุปรวบรวมสาเหตุจากฝ่ายต่างๆ ที่มีส่วนในการพยายามค้นหาสาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งจากอดีตก็ได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องกันว่าเหตุการณ์ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นและต่อเนื่องมานั้นพบว่า นอกจากความฝังใจทางประวัติศาสตร์และแนวคิดในการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่สำคัญยิ่งและเป็นเสมือนเชื้อเพลิงโหมปัญหาให้รุนแรงและกว้างขวาง 5 ปัจจัยที่สำคัญคือ

1)  ความยากจน ความด้อยโอกาส และปัญหาด้านการศึกษาของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ ประชาชนทั่วไปมีคุณภาพชีวิตระดับค่อนข้างต่ำ และได้รับการศึกษาน้อย ส่งผลกระทบต่อความรอบรู้แนวความคิด การดำรงชีวิต การมีงานทำ และการประกอบอาชีพ ทำให้ถูกปลุกระดมชักจูงให้คล้อยตามแนวคิดก่อความไม่สงบได้ง่าย

2)  ความบกพร่องและจุดอ่อนในการกำหนดนโยบาย และยุทธศาสตร์ เนื่องจากขาดความเข้าใจที่ชัดเจนถึงรากเหง้าและเงื่อนไขที่แท้จริงแห่งปัญหาของผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ และมิได้มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการที่ดี เพื่อผลในการพัฒนานโยบายให้สอดคล้องกับสถานการณ์อย่างแท้จริง นอกจากนั้นในด้านการบริหารยังขาดเอกภาพและประสิทธิภาพ ทั้งทางด้านความคิด และการบริหารจัดการนโยบายและยุทธศาสตร์ องค์กร และบุคลากร ระยะที่ผ่านมารัฐบาลและทางราชการมิได้ให้ความสำคัญกับปัญหานี้มากเท่าที่ควร จึงมีความไม่ต่อเนื่องและจุดอ่อนในการบริหารนโยบายและการดำเนินการ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญยิ่งของชาติ

3) ความอ่อนแอด้านขีดความสามารถและสมรรถภาพขององค์กร และบุคลากรที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบในการจัดการแก้ไขปัญหาในพื้นที่

4) พฤติกรรมไม่ถูกต้องเหมาะสมของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ นักการเมือง และข้าราชการ ทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นโดยเฉพาะการสร้างความไม่เป็นธรรม ความอยุติธรรม การกดขี่ข่มเหงประชาชน การปฏิบัติรุนแรงละเมิดกฎหมายและขัดกับความรู้สึกของประชาชน การเข้าไม่ถึงประชาชน ความไม่เข้าใจในวัฒนธรรม ศาสนา วิถีชีวิต แนวคิด และภาษาของคนในท้องถิ่น ทำให้คนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นเกิดความรู้สึกแปลกแยก น้อยเนื้อต่ำใจ และรู้สึกว่าได้รับการปฏิบัติเสมือนไม่ใช่คนไทย

ตามประวัติศาสตร์ ไทยยึดครองรัฐปัตตานีมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 และปกครองแบบประเทศราช มีเจ้าผู้ครองนครของเขาเอง จนถึงรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2445 ได้มีการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นเป็นระบบเทศาภิบาล แต่งตั้งข้าหลวงจากส่วนกลางไปปกครองแทนเจ้าผู้ครองนครซึ่งเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งเกิดความไม่พอใจนับแต่นั้นมาเหมือนไฟสุมขอน

สาเหตุดังกล่าวได้นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่นศรัทธา ขาดความไว้วางใจ ขาดความร่วมมือ และนำไปสู่การร่วมกับกลุ่มก่อความไม่สงบ นอกจากนั้นมีหลายกรณีติดต่อกันที่เกิดขึ้น กระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาเพิ่มมากขึ้น อาทิ กรณีหายตัวของทนายสมชายฯ การสูญหายหรือเสียชีวิตของประชาชน ทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ 4 กราคม 2547 รวมทั้งกรณีการปราบปรามยาเสพติดและกรณีการเสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะ

5) การใช้อิทธิพล ความขัดแย้ง และการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของหลายกลุ่มหลายกรณีในพื้นที่ เช่น เรื่องอบายมุข ยาเสพติด และสินค้าผิดกฎหมาย ฯลฯ ซึ่งกรณีเหล่านี้มีทั้งจากหน่วยงานราชการ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพลเกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังมีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มการเมืองที่เป็นฝ่ายตรงข้าม และกลุ่มการเมืองเหล่านี้น่าจะทราบความตื้นลึกของสถานการณ์ แต่ไม่ได้ร่วมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง เพราะเกรงจะเสียความนิยมหรือผลประโยชน์อื่นใดในพื้นที่สถานการณ์ เหล่านี้จึงเพิ่มความรุนแรงของปัญหาและสูญเสียความเชื่อมั่นจากประชาชนมากยิ่งขึ้น

การดับไฟที่ลุกโชนหรือไฟสุมขอน การแก้ไขโดยการไม่เติมเชื้อลงไปในกองไฟก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ และไม่มีการดับไฟที่ใดในโลกที่ใช้น้ำมันแทนน้ำในการดับไฟ เหตุการณ์ความไม่สงบความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็เช่นกัน นอกเสียจากว่ามีบุคคลกลุ่มบุคคลที่ได้ผลประโยชน์จากเพลิงไฟที่โหมเผาไหม้อย่างเลือดเย็นเท่านั้น บุคคลกลุ่มบุคคล หน่วยงานใดที่ปฏิติการดับไฟใต้ด้วยน้ำมัน คงจะต้องหยิบยกขึ้นมาบอกกล่าวกันทั้ง 5 เหตุผลของไฟใต้ที่ยังดับไม่ลงในโอกาสต่อไป..
กำลังโหลดความคิดเห็น