xs
xsm
sm
md
lg

การดับไฟด้วยน้ำมัน (กรณี 3 จังหวัดชายแดนใต้)...(3)

เผยแพร่:   โดย: บรรจง นะแส

“หวอ เหงียนย้าป” นักการทหารเวียดนามชื่อก้องโลก ผู้ซึ่งมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเอาชนะสงครามปลดแอกประเทศเวียดนามออกจากระบบอาณานิคมของฝรั่งเศส ได้กล่าวเอาไว้ในวาระเฉลิมฉลองชัยชนะต่อเมืองเดียนเบียนฟู ประจำปี ค.ศ. 1984 ว่า “ประชาชนเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญที่สุดในสงครามประชาชน” เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ในวันนี้ สังคมเราจะยอมรับกันแค่ไหนหรือไม่ก็ตาม แต่ในทัศนะของผู้เขียนอยากจะบอกว่า ปัญหาความรุนแรงไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ดำรงอยู่ในวันนี้ อยากบอกว่าสังคมเรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า “สงครามประชาชน”

สังคมไทยเราอาจจะเคยชินกับข่าวและภาพการทำสงครามของชาติมหาอำนาจตะวันตกที่มีอำนาจกำลังรบ อาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีล้ำสมัย กระทำต่อชาติเล็กๆ เช่น ในสงครามอ่าวเปอร์เซียระหว่างสหรัฐอเมริกา กับอัฟกานิสถาน หรือแม้แต่ในอิรักผ่านทางสื่อประเภทต่างๆ ที่ล้ำหน้าด้วยเทคโนโลยี อาจจะทำให้เราจินตนาการไปว่า หากเกิดความขัดแย้งภายในอย่างกรณีความขัดแย้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น “รัฐบาล” ก็อาจแก้ปัญหาโดยการใช้งานยุทธการทางทหารหรือการใช้กำลังที่เหนือกว่าเข้าไปแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้จบลงได้

แต่กว่า 6 ปีของเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตของผู้คนกว่า 4,000 คนสูญเสียงบประมาณของแผ่นดินไปกว่า 1 แสน 5 หมื่นล้านบาทเราน่าจะได้ข้อสรุปแล้วว่าแนวทางที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาอยู่นั้นมันไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข (2547, 120-121) ที่พูดถึงปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดในภาคใต้นั้นว่าเป็นลักษณะของการก่อความไม่สงบ (insurgency) ที่เป็นลักษณะของ “สงครามการเมือง” (political warfare) ไม่ใช่ “สงครามการทหาร” (military warfare)

ดังนั้น รัฐที่ต่อสู้จะต้องตระหนักถึงมิติทางการเมืองที่ดำรงอยู่ในสงครามนี้ มิใช่การใช้มาตรการทางทหารในรูปของการค้นหาและทำลาย (search and destroy) หรือจับกุมและปราบปรามด้วยการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างสุดขั้ว ถ้าจะให้ได้รับชัยชนะในสงครามนี้จะต้องเป็น “ชัยชนะทางการเมือง” (political victory) กล่าวคือ การเมืองเป็นปัจจัยชี้ขาด การทหารเป็นปัจจัยสนับสนุน การเอาชนะจิตใจประชาชน (to win over heart and mind) เป็นส่วนสำคัญของชัยชนะในสงคราม และรัฐจะต้องดำเนินการในมิติอื่นๆ ทั้งในรูปของโครงการทางเศรษฐกิจและสังคม ฯลฯ

ซึ่งจากการติดตามการแก้ไขปัญหาพบว่า ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เราจะไม่เห็นบทบาทหน้าที่ที่เน้นให้เห็นถึงความเข้าใจต่อปัญหาที่ว่า นี่คือสงครามการเมือง ไม่ใช่สงครามทางการทหาร ยุทธวิธีที่นำมาใช้จึงวนเวียนอยู่กับการค้นหา ล้อมปราบ จับกุม และใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างสุดขั้วเหมือนที่กำลังกระทำกันอยู่อย่างเข้มข้นในปัจจุบัน การแก้ไขปัญหาในมิติอื่นๆ อันเป็นรากฐานของปัญหาที่มีการศึกษารวบรวมและเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนใต้นั้น มีมูลเหตุมาจากหลายๆ ปัญหา

ไม่ว่ามาจากปัญหาความยากจน ปัญหาของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เป็นที่เชื่อถือและไม่ได้รับการยอมรับเชื่อมั่นจากคนในพื้นที่ ปัญหาทัศนคติของข้าราชการหรือสังคมไทยโดยรวมที่ยังมีอคติต่อความเป็น “มุสลิม” ของพี่น้องที่เป็นอิสลาม ปัญหาการดำรงอยู่ของธุรกิจผิดกฎหมาย แน่นอนว่าอีกด้านของปัญหามาจากกลุ่มก่อการร้ายข้ามประเทศ หรือการดำรงอยู่จริงของขบวนการ “ผู้ก่อการหวังการแบ่งแยกดินแดน”

แต่รากฐานที่สำคัญที่สุด คือ ปัญหาการแปลกแยกของผู้คนในสังคมไทยต่อการมองความแตกต่างทางสังคม วิถีชีวิต วิถีการผลิต และความคิดความเชื่อของเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมอย่างแปลกแยก ไม่ให้ความเคารพในความแตกต่าง (ซึ่งหมายถึงพี่น้องที่แตกทางศาสนาทุกศาสนา) ขาดขบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มองไม่เห็นความสวยงามในความหลากหลายของการดำรงอยู่ที่แตกต่างเท่าที่ควร

อาจารย์ประเวศ วะสี เคยกล่าวถึงปัญหานี้ไว้เมื่อปี 2550ว่า “คนในสังคมไทยต้องปรับโลกทัศน์ในการมองคนในสังคมด้วยกัน เพราะคนไทยยังมีจิตสำนึกที่แคบ คิดแต่ในหมู่พรรคพวกของตนเอง เพราะสังคมไทยกำลังจะไปไม่ไหวแล้ว มองแต่ประโยชน์ของตนเองก็จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรง ซึ่งจุดนี้ต้องปฏิวัติจิตสำนึกใหม่ให้เป็นจิตสำนึกที่ใหญ่คิดถึงเพื่อนมนุษย์ทั้งหมดอย่างเท่าเทียมกัน เคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของทุกคนในชุมชน และดำเนินวิถีชีวิตที่อยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยากให้คนไทยหันมาสนใจเรื่องนี้ไม่ใช่มุ่งแต่คิดว่าทำอย่างไรจะรวย ต่อไปก็จะเกิดความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”

แม้จะไม่ได้มุ่งประเด็นมาที่ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็เป็นโจทย์ ว่าวันนี้สังคมไทยยังต้องได้รับการพัฒนาในส่วนอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับความขัดแย้งและความรุนแรงที่ดำรงอยู่ในสังคม ซึ่งแน่นอนว่าโจทย์ดังกล่าวก็ดำรงอยู่จริงและเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ของความขัดแย้งใน 3 จังหวัดของภาคใต้

Samuel Huntington นักวิชาการชาวอเมริกันเคยกล่าวเตือนไว้ในบทความเรื่อง “The Clash of Civilization” (1993) มาแล้วว่า “ปัญหาในอนาคต จะเป็นเรื่องของ สงครามอารยธรรม” ผู้เขียนคิดว่าเป็นคำเตือนที่สังคมไทยควรได้นำมาไตร่ตรองอย่างจริงจัง กรณีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ในวันนี้ พูดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของ “สงครามอารยธรรม” เป็น “สงครามประชาชน” ที่ไม่ใช่สงครามทางทหาร ที่เราจะใช้มาตรการทางทหารอย่างเข้มข้นเหมือนที่กระทำกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมันจะทำให้ไม่ต่างอะไรกับการเอาน้ำมันไปราดรดเพื่อดับไฟ
กำลังโหลดความคิดเห็น