ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นอกจากปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชาที่สมรภูมิเขาพระวิหารที่รัฐบาลของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ไปไม่เป็นกระทั่งทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนให้แก่รัฐบาลของนายฮุนเซนแล้ว วิกฤต “น้ำมันปาล์ม” คืออีกปัญหาที่สะท้อนภาพความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดนี้จนไม่อาจหาคำใดๆ มาแก้ตัวได้
เพราะนับจากวันที่สัญญาณแห่งความขาดแคลนปรากฏชัดเจนตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นต้นมา รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ก็ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และยังไม่มีวี่แววว่า จะยุติความเดือดร้อนของประชาชนได้อย่างไร
ขณะเดียวกันวิกฤตน้ำมันปาล์มยังทำให้ประชาชนคนไทยได้เห็นถึง “ธาตุแท้” ของนักการเมืองที่ชัดเจนว่า ไม่ได้เข้ามาทำหน้าที่เพื่อประชาชน หากแต่เข้ามาเพื่อหวังกอบโกยผลประโยชน์ให้กับตัวเองและพวกพ้องบนความทุกข์ยากของประชาชนอย่างเลือดเย็น
ทั้งนี้ หลังเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันปาล์มยาวนานเป็นเดือน 2 เดือน ก็มีการแฉรายชื่ออักษรย่อซึ่งต้องสงสัยว่าจะเกี่ยวข้องออกมา 3 อักษรย่อด้วยกัน คือ ส. พ. และ อ.
ส. เป็นใคร เมื่อพูดถึง ส ทุกคนต่างพุ่งไปหาคนๆ เดียว ก็คือ ส.ผู้เป็นขาใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวงการปาล์มน้ำมันอย่างแยกไม่ออก
พ. เป็นใคร เมื่อมีชื่อย่อตัวนี้ปรากฏ ทุกคนก็พุ่งเป้าไปที่ พ.ผู้เป็นขาใหญ่ในกระทรวงพาณิชย์ ควบคุมดูแลการปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม จัดสรรน้ำมันปาล์มที่นำเข้า
ส่วน อ. แรกๆ ก็ยังไม่มีการเฉลย แต่สุดท้ายคนชื่อ อ. ก็ออกมาตอบโต้เอง ก็คือ อ.เจ้าเก่าแห่ง สปก.4-01 ที่เบื้องหลังเป็นเจ้าของสวนปาล์ม ทำธุรกิจเกี่ยวกับปาล์มครบวงจรในภาคใต้
และ ส.คนที่ 2 ที่มาแรงชนิดเบียดขึ้นมาในโค้งสุดท้ายจากปากของ “นายพิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล” ส.ส.จังหวัดกระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ก็คือ “ส.โคราช” ที่เป็นพี่เบิ้มตัวจริงแห่งกระทรวงพลังงาน
แต่ทั้ง 4 คนมีพฤติกรรมดังที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ คงต้องบอกว่า เป็นปริศนา ที่สังคมใคร่รู้คำตอบเป็นอย่างยิ่ง
ส.+อ.+พ.กับการงาบครั้งที่ 1
ขึ้นราคา-นำเข้า 3 หมื่นตัน
กรณีวิกฤตน้ำมันปาล์มนั้น มติที่เป็นเอกฉันท์ของสังคมก็คือ งานนี้มีการ “โกง” เกิดขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ ดังเช่นที่สำนักวิจัยเอแบคโพล ม.อัสสัมชัญ ออกมาเปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง “สภาวะปัญหาความเดือดร้อน จากการขาดแคลนน้ำมันปาล์มของประชาชน” โดยสำรวจจากตัวอย่างประชาชน ใน 17 จังหวัด จำนวน 2,366 ตัวอย่าง ซึ่งผลปรากฏออกมาว่า กลุ่มตัวอย่างประชาชน ร้อยละ 47.3 ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน
แต่ที่สำคัญก็คือประชาชนกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 72.1 คิดว่า ภาวะดังกล่าวเกิดจากการทุจริตในหน่วยงานของรัฐและผลประโยชน์ของบริษัทเอกชน แถมมีเพียงร้อยละ 25.9 เท่านั้น ที่เชื่อมั่นในระดับมากถึงมากที่สุด ต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของรัฐบาล ขณะที่ร้อยละ 40.8 เชื่อมั่นในระดับปานกลาง
นี่คือ ประจักษ์พยานที่เป็นคำตอบของปัญหาที่เกิดขึ้น
กระนั้นก็ดี สิ่งที่จะต้องแสวงหาคำตอบเพิ่มเติมก็คือ บรรดา “ไอ้โม่ง” ที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้น เพราะคนเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ตาสีตาสาที่มิรู้ความ หากแต่เป็นผู้ที่จะต้องรู้ข้อมูล รู้ระบบการทำงานและรู้ช่องทางในการทำมาหากินเป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นใครเสียมิได้ นอกจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พ่อค้า ข้าราชการ” และ “นักการเมือง”
ด้วยเหตุดังกล่าวในเวลาต่อมาจึงปรากฏชื่อย่อของนักการเมือง 3 คนที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตน้ำมันปาล์มออกมาสู่สายตาสาธารณชน
ชื่อย่อแรกคือ “ส.”
ชื่อย่อที่สองคือ “พ.”
และชื่อย่อที่สามคือ “อ.”
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยเฉลยชื่อย่อของบุคคลทั้ง 3 ว่า “การยื้อผลประโยชน์ระหว่าง “ส.” กับ “พ.” มีตัวตัวละคร “อ.” คอยดำเนินการประสานผลประโยชน์ให้ ซึ่งตัวละครตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์เยอะมาก ที่สำคัญมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของน้ำมันปาล์มอย่างมาก หลังจากที่ถามกันมากว่า ตัวย่อทั้งหมดเป็นใคร ผมบอกได้เลย “ส.” เป็นผู้ชาย “พ.” เป็นผู้หญิง ขณะที่ “อ.” เป็นผู้หญิงเช่นเดียวกัน”
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ตัวจริงของทั้ง 3 คนเป็นใครและมีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐบาลนี้อย่างไร
คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่การงาบดอกแรก...
ในช่วงเช้าของวันที่จะมีการอนุมัติปรับราคา “นางพรทิวา นาคาศัย” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้แจ้งกับนักข่าวที่ทำเนียบรัฐบาลว่า คงให้ขึ้นไม่เกิน 7 บาท แต่หลังจากนั้นไม่กี่นาที ที่กระทรวงพาณิชย์กลับอนุมัติให้ขึ้นถึง 9 บาท ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผิดปกติเป็นอย่างมากเพราะการให้ข่าวของเจ้ากระทรวงและข้าราชการประจำไปคนละทิศละทาง
อย่างไรก็ตาม เมื่อค้นหาความจริงก็พบว่า ในวันนั้นมีสายตรงจากบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในทำเนียบรัฐบาลสั่งตรงถึงกระทรวงพาณิชย์ว่า “ขอให้อนุมัติการขึ้นราคาในครั้งนี้” พร้อมกับอธิบายเหตุผลที่เป็นอันรู้กันว่า เพื่อใช้เป็นเสบียงสำหรับการเลือกตั้ง
งานนี้ มีคำยืนยันว่า ผู้อยู่เบื้องหลังคำสั่งดังกล่าวก็คือบุรุษผู้มีนามกรดังชื่อย่อที่ปรากฏเป็นข่าวว่า “ส.”
แต่ ฯพณฯ ส.ผู้นี้จะสั่งตรงถึงใคร ยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัด
ขณะเดียวกันก็คือ เงื่อนงำของการปรับราคาในครั้งนั้นก็มีพิรุธที่น่าสนใจอยู่ตรงที่รัฐบาลส่งสัญญาณล่วงหน้าก่อนให้มีการปรับราคาน้ำมันปาล์มเมื่อเดือนธันวาคม 53 ทำให้พ่อค้ามีการกักตุนสินค้าเพื่อรอราคาใหม่ส่งผลให้สินค้าออกสู่ตลาดน้อยกว่าปกติ
“ตรงนี้ ผมคิดว่าเป็นความผิดพลาด ไม่ควรบอกว่าจะให้ปรับราคาเมื่อไหร่ ผมว่าเป็นความผิดพลาดของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ผิดพลาดในการตลาดอย่างแรงทำให้พ่อค้ามีการสต็อกสินค้ากัน”นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) ให้ความเห็นถึงช่องว่างที่เกิดขึ้น
ร้ายไปกว่านั้นคือ วันเดียวกันกับที่อนุมัติให้ขึ้นราคา คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ยังได้อนุมัติให้นำเข้าปาล์มน้ำมันกึ่งบริสุทธิ์จำนวน 3 หมื่นตันด้วย
เรียกว่า ทั้ง ส.เสือ พ.พาน และ อ.อ่างในฐานะผู้ประสานงานฟาดกันทั้งขึ้นทั้งล่องในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้และจำต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจก็คือ ทำไมการอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มล็อตแรก 3 หมื่นตันจึงต้องเป็นปาล์มน้ำมันกึ่งบริสุทธิ์ที่จำเป็นต้องนำมากลั่นอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เป็นน้ำมันบริสุทธิ์ ทำไมถึงไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่พร้อมบรรจุขวดเข้ามาขายหรือไม่ก็นำน้ำมันปาล์มบรรจุขวดเข้ามาจากต่างประเทศเลย ทั้งๆ ที่ทุกคนรู้อยู่เต็มอกว่า เป็นกระบวนการที่ทำให้ล่าช้าและไม่ทันกับภาวการณ์ขาดแคลนที่เข้าขั้นวิกฤต
หรือนี่จะเป็นไปอย่างที่ “นายประเสริฐ ประคุณศึกษาพันธ์” ส.ว.ขอนแก่น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจ การพาณิชย์และอุตสาหกรรม ชี้ให้เห็นข้อพิรุธเอาไว้ว่า มีการส่งออกน้ำปาล์มดิบออกไปกักตุนเอาไว้ที่สิงคโปร์เพื่อเก็งราคา (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์)
นี่คือ สิ่งที่สังคมยังไม่เคยได้รับคำอธิบายให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง
ส.+อ.+พ.กับการงาบครั้งที่ 2
นำเข้า 1.2 แสนตัน
วิกฤตการน้ำมันปาล์มยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะหลังจากที่แต่ละชื่อย่อเล็งเห็นถึงส่วนต่างอันเป็นกำไรเหนาะจากการกักตุนน้ำมันปาล์ม ปฏิบัติการงาบครั้งที่ 2 ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะหลังจากอนุมัติให้ขึ้นราคาและนำเข้าลอตแรก 3 หมื่นตัน น้ำมันปาล์มก็ยังคงขาดแคลนอย่างหนักเหมือนเดิม แถมยังมีการปั่นราคานอกตลาดจากราคาควบคุมโดยกรมการค้าภายในขวดละ 47 บาทพุ่งขึ้นเป็น 60 บาท
กระทั่งต้องมีการออกมาป่าวประกาศนำเข้าน้ำมันปาล์มอีกเพื่อเพิ่มสต๊อก ซึ่งนั่นก็เป็นช่องทางที่จะทำมาหากินกันอีกครั้ง
ทั้งนี้ ถ้าย้อนกลับไปที่คำให้สัมภาษณ์ของนายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง นั่นคือ การที่นายฉัตรชัยระบุว่า “การนำเข้าน้ำมันปาล์ม 1.2 แสนตันนั้น กระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ดำเนินการล่าช้า แต่เมื่อมีข่าวว่าไทยจะนำเข้า กระทรวงพาณิชย์ได้รับรายงานว่า มีเรือบรรทุกน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ลอยลำอยู่นอกน่านน้ำไทย 6 ลำทำให้สงสัยว่า เป็นความพยายามกว้านซื้อสินค้าไว้ล่วงหน้าเพื่อนาขายทำกำไร”
ใครคือเจ้าของเรือบรรทุกน้ำมันปาล์มที่ลอยลำอยู่นอกน่านน้ำไทยตามที่นายฉัตรชัยกล่าวอ้าง
ที่สำคัญคือข้อมูลของนายฉัตรชัยไปสอดคล้องกับข้อมูลที่นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า “ขณะนี้มีเรือ 5 ลำลอยอยู่นอกอ่าวตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก่อนรัฐบาลจะอนุมัติการนำเข้าน้ำมันปาล์มอีก 1.2 แสนตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ก็ทราบเรื่องนี้ดี แสดงให้เห็นว่ามีการรู้กันว่าจะมีการอนุมัติเพิ่มเติม เพียงแต่รอการยื้อผลประโยชน์”
งานนี้ตัวละครที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็คือ เจ้าเก่าผู้มีชื่อย่อว่า ส. อ.และ พ.
แน่นอน ผู้อยู่เบื้องหลังเรือ 5 ลำย่อมไม่ใช่ “เจ๊ พ.” เพราะไม่เช่นนั้น นายฉัตรชัยจะไม่โพล่งข้อมูลเหล่านี้ออกมา ดังนั้น เป้าจึงพุ่งตรงไปที่ “เจ๊ อ.” นักการเมืองหญิงขาใหญ่ในภาคใต้ซึ่งเป็นแก๊งเดียวกับ “นาย ส.” โดย เจ๊ อ.ผู้นี้คือคนวิ่งเต้นหาผลประโยชน์ให้กับนาย ส. ซึ่งโฆษกเด็จพี่ให้คำจำกัดความผู้หญิงคนนี้ว่า “อ.คอยดำเนินการประสานผลประโยชน์ให้ ซึ่งตัวละครตัวนี้มีอิทธิฤทธิ์เยอะมาก ที่สำคัญมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของน้ำมันปาล์มอย่างมาก”
ทั้งนี้ ถ้าหากโยงความสัมพันธ์ระหว่าง ส.กับ อ.ผ่านเรื่องราวในอดีต ก็จะพบว่า ทั้ง 2 คนมีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งและแนบแน่นมาโดยตลอด กระทั่งเหิมเกริมกระทำการทุจริตชนิดที่ไม่อายฟ้าอายดินจนรัฐบาลที่คนทั้งสองสังกัดต้องล้มอย่างไม่เป็นท่ามาแล้วครั้งหนึ่ง
ข้อมูลที่น่าเชื่อถือจากหลายแห่งยืนยันตรงกันว่า “เจ๊ อ.” ผู้นี้เรียกค่าหัวคิวจากบริษัทต่างชาติตันละ 10 เหรียญสหรัฐฯ ก่อนนำมาขายต่อให้เอกชนโดยบวกราคาเพิ่มอีกตันละ 80 เหรียญสหรัฐฯ แถมยังต่อสายถึงบริษัทผู้ผลิตน้ำมันพืชในประเทศ ขอให้ช่วยสนับสนุนพรรคการเมืองต้นสังกัดอีกลิตรละ 1 บาท
แต่ก็ใช่ว่า เจ๊ พ.จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายน้ำมันพืชปาล์มที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธานได้อนุมัติให้นำเข้าจากต่างประเทศ 120,000 ตันตั้งแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 54แต่เอาเข้าจริง เวลาผ่านไปจนกระทั่งปัจจุบัน(22 ก.พ.) ก็ยังไม่ได้มีการนำเข้าและน้ำมันปาล์มก็ยังขาดแคลนจนประชาชนต้องเข้าคิวยาวเหยียดเพื่อรอซื้อ จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมการนำเข้าถึงได้ยากเย็นถึงเพียงนี้
แหล่งข่าวในแวดวงน้ำมันปาล์มให้ข้อมูลว่า เหตุที่ช้าเป็นผลมาจากการที่ “เจ๊ พ.” เรียกร้องผลประโยชน์ในการนำเข้าน้ำมันปาล์มครั้งนี้ไม่ลงตัว โดยขอส่วนแบ่งถึงลิตรละ 2 บาท ทำให้การนำเข้าต้องล่าช้าออกไป
จากประจักษ์พยานทั้งหลายทั้งปวง จึงต้องสงสัยว่าทั้ง นาย ส. เจ๊ อ.และเจ๊ พ.ต่างรู้เห็นกับขบวนการสวาปาล์มครั้งนี้
เปิดศึกสาวไส้กันเละเทะ
เมื่อตัวละครปรากฏโฉม ปฏิบัติการสาวไส้ให้กากิน ก็เริ่มดำเนินการ
ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เริ่มจากโยนข้อมูลตูมเดียว สั่นสะเทือนไปทั้งวงการ ด้วยการกล่าวหา 4 บริษัทใหญ่ที่ได้รับโควตาจัดสรรน้ำมันปาล์มไปแล้ว แต่ไม่ผลิตออกสู่ตลาดจำนวนเกือบ 10 ล้านขวด เป็นต้นเหตุให้น้ำมันในท้องตลาดยังคงขาดแคลน
ก็ไม่รู้ว่า 4 รายนี้ไปทำอะไรให้ หรือยึกยักอะไร ถึงได้โดนขนาดนี้ แต่พอหลังข่าวออก ก็จบลงแบบโอ้ละพ่อ กลายเป็นว่ากระทรวงพาณิชย์ทำข้อมูลผิด
แต่เรื่องมันไม่จบแค่นี้ เพราะนายสุเทพใช้โอกาสนี้สั่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าไปตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์ม และตรวจหาไอ้โม่งที่สวาปาล์ม เป็นการรับลูกจับไว พร้อมกับขย่มซ้ำว่าเป็นเพราะกระทรวงพาณิชย์ทำงานล่าช้า ทั้งๆ ที่ให้นำเข้า 1.2 แสนตันมาจะเป็นเดือนแล้ว มัวไปทำอะไรอยู่ ถึงปล่อยให้ปัญหาบานปลายได้ขนาดนี้
นางพรทิวาที่ถูกโยนให้เป็นแพะ ถึงกับเปรยกับคนรอบข้างว่า “ทุกวันนี้ จะร้อง แบะ แบะ แบะ ได้อยู่แล้ว” พร้อมกับให้ข้อมูลโต้กลับว่า ที่นำเข้าช้า เพราะมีเรือมาลอยลำอยู่นอกน่านน้ำไทย รอขนน้ำมันปาล์มมาขาย แถมราคายังแพงสุดๆ ก็เลยต้องรอให้ราคาตลาดโลกนิ่งก่อน ไม่ได้ชักช้า หรือนิ่งนอนใจใดๆ
ตามต่อด้วยนายฉัตรชัย ชูแก้ว ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ (ฝ่ายการเมือง) ให้สัมภาษณ์อัดกลับไปว่า “ขอถามกลับว่าใครกันแน่ที่ทำงานล่าช้า เพราะปัญหาปาล์มขาดแคลนเกิดขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน กลับไม่เคยเรียกประชุมเลย ปล่อยให้ปัญหาสะสม จนเพิ่งประชุมเมื่อ 6 ม.ค.54”
“เราทำเรื่องเสนอให้คณะกรรมการปาล์มน้ำมันพิจารณาน้ำเข้าครั้งแรก 50,000 ตัน เมื่อเดือนธ.ค.53 แต่คณะกรรมการไม่มีการเรียกประชุมเลย เพิ่งอนุมัติน้ำเข้ารอบแรกเมื่อวันที่ 6 ม.ค.54 เพียง 30,000 ตัน ส่วนครั้งที่สองวันที่ 6 ก.พ.อนุมัตินำเข้า 120,000 ตัน เป็นน้ำมันปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ ทั้งๆ ที่กระทรวงพาณิชย์ขออนุมัติเพียง 100,000 ตัน และเป็นการขอนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขหรือน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ กำหนดภายในสิ้นเดือน มี.ค. แต่คณะกรรมการฯ จะให้ระบุชัดเลยว่า ให้นำเข้าเดือนละ 60,000 ตัน ตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค.ซึ่งไม่สมควรทำแบบนั้น เพราะอาจมีการกว้านซื้อมาขายโกงราคากับรัฐบาลไทยได้ จึงขอถามกลับว่า ใครทำงานล่าช้า แล้วทำไมต้องอนุมัติให้นำเข้าแบบต้องอาศัยกระบวนการของโรงกลั่นด้วย ใครกันแน่ได้และเสียประโยชน์”
และที่เด็ดที่สุดคือการที่นายฉัตรชัยโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของตัวเองว่า “กะพริบตาแวบเดียว ผู้นำที่ต้องรับผิดชอบกระโดดผึงเปลี่ยนมายืนฝั่งชาวบ้านแล้วหันกลับชี้นิ้วไปที่พรทิวา นาคาศัย ให้เป็นผู้ร้าย แมนจริงๆ ควรต้องพูดคุยกันหรือร่วมกันคิดถึงวิธีการแก้ไขปัญหา แต่อภิสิทธิ์-สุเทพใช้วิธีออกมาตะโกนข้างนอก แล้วชี้นิ้วโยนความผิดไปที่ลูกน้องเลย แบบนี้ไม่ใช่นักบริหารครับ แต่เป็นนักการเมืองที่คิดเรื่องคะแนนเสียงอย่างเดียวสำหรับพรรคหรือพวกตัวเอง”
ขณะเดียวกัน นางพรทิวาได้เสนอทางเลือกใหม่ในการนำเข้า เปลี่ยนจากน้ำมันดิบแยกไข เป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ไม่รู้ว่ากะหักหน้า หรือตัดทางทำมาหากินกันแบบตรงๆ หรือไม่ เพราะถ้าเปลี่ยนชนิดน้ำมันปาล์มนำเข้าเมื่อไร มีหวังได้เห็นไอ้โม่งบางคนชักดิ้นชักงอกันตรงหน้าเป็นแน่แท้ เพราะดันไปตุนน้ำมันปาล์มไว้รอขายอยู่เพียบ
แต่ผลที่เกิดขึ้น ทำให้ถูกรุมสกรัมยกใหญ่จากคนฟากประชาธิปัตย์ ทั้งตัวนายสุเทพเอง สมทบด้วยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลงมาเล่นเรื่องนี้ด้วยตัวเอง ปล่อยให้นายพรทิวา ที่ร้อง แบะ แบะ อยู่แล้ว ต้องร้อง แบะ แบะ ต่อไป กระทั่งลูกพี่ใหญ่อย่าง “นายเนวิน ชิดชอบ” ทนไม่ไหวต้องออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยวลีที่ไม่ธรรมดาว่า “ทำกันอย่างนี้ ระวังเมียจะมีชู้”
มิหนำซ้ำแนวทางการแก้ปัญหาของนางพรทิวาจะไม่ได้รับการตอบสนองจากพรรคประชาธิปัตย์ แถมยังให้สัมภาษณ์เสมือนหนึ่งเป็นการหักหน้านางพรทิวาอีกต่างหาก
กล่าวคือขณะที่นางพรทิวาประกาศชัดเจนว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 ก.พ.นี้ จะเสนอขออนุมัติงบประมาณ 1,000 ล้านบาทเพื่อชดเชยส่วนต่างจากต้นทุนที่สูงขึ้น ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภค แต่หาก ครม.ไม่อนุมัติ ก็ต้องหาแนวทางแก้ปัญหามาด้วย เพราะกระทรวงจะไม่เลือกปรับขึ้นราคาแน่นอน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็ติดเบรกล่วงหน้าจนนางพรทิวาไปไม่เป็นด้วยการออกมาให้สัมภาษณ์เตะตัดขาว่า “ ผมไม่คิดว่าจะมีการใช้เงินมากมายอะไรขนาดนั้น”
อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการสกัดอ้อยเข้าปากช้างยังไม่จบเพียงแค่นี้ เนื่องจากนางพรทิวาตัดสินใจใช้เวทีประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ก.พ. เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน ขอให้เปิดนำเข้าเสรี และห้ามส่งออกชั่วคราว 3 เดือน และขอให้นำเข้าน้ำมันปาล์มสำเร็จรูป ในโควตา 1.2 แสนตัน แทนน้ำมันปาล์มดิบแยกไข และให้มีคณะกรรมการบริหารจัดการนำเข้าแห่งชาติ เข้ามาดูแล
ยังไม่ทันที่นางพรทิวาจะพูดจบนายอภิสิทธิ์ได้ใช้สิทธิ์ประธานสรุปว่า ให้นำเรื่องนี้ไปคุยในบอร์ดปาล์มชุดทั่นสุเทพ แต่ยังใจดีโดยแต่งตั้งให้นางพรทิวา และนพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน ไปเป็นกรรมการด้วย
ถัดจากนั้น ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายสุเทพได้ประชุมบอร์ดปาล์ม ใช้เวลาประชุมกว่า 5 ชั่วโมง ตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงหกโมงเย็น แล้วแถลงข้อสรุปว่า มติในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริโภค จะมีการจัดหาวัตถุดิบให้กับผู้ประกอบการ โดยให้นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไข 3 หมื่นตัน ภายใน 15 วัน ให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้า และกระจายให้กับโรงงาน โดยรัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างราคานำเข้าให้ลิตรละ 5 บาท เนื่องจากราคานำเข้าขณะนี้สูงถึงตันละ 1,310 เหรียญสหรัฐ
อีกส่วนหนึ่งให้จัดหาน้ำมันปาล์มดิบแยกไขในประเทศ 1.5 หมื่นตัน โดย 1 หมื่นตันให้ซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรราคา 7 บาทมาสกัด และอีก 5 พันตัน ให้กระทรวงพลังงานยืมจากโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีเหลือจากการชะลอการใช้บี 3 เป็นบี 2 โดยส่วนนี้รัฐบาลจะชดเชยให้ลิตรละ 9.50 บาท รวมแล้วรัฐบาลต้องชดเชยประมาณ 200 ล้านบาท
นายสุเทพย้ำว่า วิธีการดังกล่าว จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และทำให้ตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ.เป็นต้นไป จะมีน้ำมันปาล์มทั้งบรรจุขวด ถุง ปี๊ป จำหน่ายในราคา 47 บาทต่อลิตร โดยจะไม่มีปัญหาการขาดแคลนอีกต่อไป
พร้อมกับขอให้กระทรวงพาณิชย์ไปเปลี่ยนฝาจุกขวดใหม่จากสีฟ้าเป็นสีอื่นเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบ โดยฝาสีฟ้าจะมีขายอีกภายใน 3 วันนี้ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะมีการประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 8 มี.ค. เพื่อประเมินสถานการณ์ ซึ่งเบื้องต้นยังคงมติครั้งก่อนที่อนุมัติให้มีการนำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศ 1.2 แสนตันไว้ก่อน
พร้อมกับห้ามการส่งออกน้ำมันปาล์มออกต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าปฏิบัติการครั้งนี้เป็นปฏิบัติการที่ขาใหญ่ชื่อย่อ “ส.”ได้กับได้เหมือนเดิม เพราะน้ำมันปาล์มที่นำเข้ายังคงเป็นน้ำมันปาล์มชนิดเดิมที่มีข่าวว่ามาลอยลำอยู่นอกน่านน้ำไทยรอเวลาเข้าประเทศ เป็นน้ำมันปาล์มที่มีข่าวว่ามีใครบางคนที่มีชื่อย่อ “อ.”ไปกว้านซื้อรอไว้ขาย
ไม่เพียงแค่นั้น ใครก็ตามที่ได้โควตาน้ำมันปาล์มนำเข้าล็อตที่สองนี้ ก็ยังจะได้เงินชดเชยอีกกก.ละ 5 บาท ก็ไม่รู้เหมือนกันว่า รอบนี้จะมีโรงงานเข้ามาแย่งขอโควตาไปผลิตมากน้อยแค่ไหน จากเดิมรอบแรกมีเข้ามาแค่ 10 ราย โดยที่น่าจับตา ก็คือ เงินชดเชยตรงนี้ จะไปเข้ากระเป๋าใครกันบ้าง
ส่วนที่ให้จัดหาวัตถุดิบในประเทศ 1.5 หมื่นตัน ก็คงเข้าทางใครบางคนอีกเหมือนกัน เพราะ 1 หมื่นตันแรกที่ให้ไปซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกรราคา 7 บาท แล้วมาสกัด กลั่น ใส่ขวด โดยได้รับเงินชดเชยกก.ละ 9.50 บาท ก็หาใช่ใครที่ไหน ก็พวกเดียวกันอีกนั่นแหละ และอีก 5 พันตันที่ขอยืมมา คนเอาไปกลั่นใส่ขวดก็ยังได้รับชดเชยอีก 9.50 บาท คงต้องจับตาดูว่าใครจะได้รับเค้กก้อนนี้ไป
แต่ที่รู้ๆ งานนี้ กระทรวงพาณิชย์ถูกตัดออกจากวงโคจร และนายสุเทพได้เข้ายึดงานดูแลปาล์มได้เบ็ดเสร็จเอาไว้เรยีบร้อยแล้ว
ส.โคราช
อีก 1 ส.ที่น่าสงสัย
อย่างไรก็ตาม ขณะที่สังคมปักใจเชื่อว่า ส.แรกมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสวาปาล์มในครั้งนี้ ก็ปรากฏอักษรย่อเป็น ส.ที่ 2 โผล่ขึ้นมาเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่น่าสนใจออกมาจากปากของ “นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล” ส.ส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์ นั่นก็คือ “ส.โคราช” ผู้ยิ่งใหญ่ตัวจริงในกระทรวงพลังงาน เพราะถ้าจะว่าไปแล้ว ส.โคราชผู้นี้ก็มีร่องรอยของการสวาปาล์มให้เห็นเช่นกัน
เพราะต้องไม่ลืมว่า น้ำมันปาล์มส่วนหนึ่งนั้นถูกนำเข้าไปสู่กระบวนการผลิตไบโอดีเซลที่รัฐบาลใช้เงินจากการทุนน้ำมันสนับสนุนเพื่อไม่ให้ราคาขายเกินลิตรละ 30 บาท
ยิ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้นำน้ำมันในสต็อกจำนวน 5 พันตัน โดยให้กระทรวงพลังงานยืมจากโรงกลั่นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีเหลือจากการชะลอการใช้บี 3 เป็นบี 2 แถมรัฐบาลชดเชยให้ลิตรละ 9.50 บาท ก็ยิ่งทำให้สงสัยอีกว่า ส.โคราชผู้นี้เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไม่อาจปฏิเสธ
กรณีของ ส.โคราชนั้น นายพิเชษฐให้ข้อมูลเอาไว้อย่างสนใจว่า “ผมเชื่อว่า น่าจะหายไปประมาณแสนกว่าตัน ไปอยู่ในการผลิตไบโอดีเซล เพราะที่ผ่านมาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นราคา ทำให้ต้องการไบโอดีเซลสูง ประกอบกับมีการปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น น่าจะมีการสต๊อกไว้ ทั้งหมดน่าจะเป็นเพราะความไม่รู้ ไม่ใช่โกง และไม่เชื่อว่าคุณอัญชลีจะโกง เพราะเกี่ยวข้องกับโรงสกัด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงกลั่น น้ำมันที่เข้ามาจะเป็นเก็บไว้ที่ไหนเป็นเรื่องของโรงกลั่น ไม่ใช่เรื่องของโรงสกัด ดังนั้น จะไปใช้คำว่า “อ” ที่หมายถึงคุณอัญชลี คุณก็ไม่เข้าใจ “ส”ที่ว่าก็ไม่ใช่คุณสุเทพ แต่ผมรู้ว่าหมายถึงใครเป็น “ส” ที่เกี่ยวข้องกับโรงผลิตไบโอดีเซลที่อยู่โคราช เพราะทางโคราชบอกมา”
นอกจากนี้ ทันทีที่ประกาศการชดเชยน้ำมันปาล์มต่อลิตรที่ราคาผู้ผลิตที่ 9.50 บาท และ ผู้นำเข้าที่ 5 บาท ปรากฏว่ามีน้ำมันปาล์มเข้ามาขายในห้างเป็นจำนวนมากโดยทันที ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าต้องมีการกักตุนน้ำมันปาล์มเพื่อเก็งกำไรโดยหวังการชดเชยนี้ ทั้งนี้เพราะโดยขบวนการปกติการที่จะนำน้ำมันปาล์มดิบมากลั่นจนเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อบรรจุขวดได้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 วัน เรื่องนี้แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่ามีขบวนการที่เอาความเดือดร้อนของประชาชนมาหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง
...และนี่คือมหากาพย์ของศึกสวาปาล์มที่กำลังร้อนระอุและสั่นสะเทือนรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะอยู่ในขณะนี้
******************************
ความจริงของน้ำมันปาล์ม
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่น่าจับตามอง นอกจากจะเป็นพืชน้ำมันที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายอุตสาหกรรม เช่น สบู่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน เนยเทียม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น นอกจากนี้ปาล์มน้ำมันยังจะมีบทบาทสำคัญในการใช้ผลิตไบโอดีเซล ซึ่งจะถูกนำไปเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันในอนาคต
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณปีละ 700,000-800,000 ตัน โดยการบริโภคส่วนใหญ่เป็นน้ำมันพืช ที่เหลือใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามสัดส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบได้ในอนาคต แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ และยังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย
ข้อมูลผลผลิตปาล์มของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2553 ระบุว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกปาล์มให้ผลผลิตแล้ว 3.5 ล้านไร่ ผลผลิตปาล์มสดได้ 8,223,135 ตัน นำมากลั่นเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ 1,287,509 ตัน แบ่งเป็นใช้บริโภคในประเทศมากที่สุด 977,813 ตัน หรือ 70 % ใช้ผลิตไบโอดีเซล 379,500 ตัน หรือ 29% ที่เหลือส่งออกประมาณ 1 % หรือ 63,321 ตัน
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือสศก. ระบุว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันขาดแคลน อย่างหนักเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 4 เดือน คือในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2553-กุมภาพันธุ์ 2554 โดยช่วงเวลาดังกล่าว มีความต้องการบริโภคอยู่ที่ 400,000 ลิตร แต่จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดประมาณ 232,000 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ตลอด 3-4 เดือนก่อนเข้าวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา พบว่าผลผลิตปาล์มสดยังใกล้เคียงปี 2552 คือประมาณ 8.2 ล้านตัน แต่ตัวเลขสต๊อกน้ำมันปาล์มจากที่เคยกันสำรองไว้ 2 แสนตัน ในเดือนสิงหาคม 2553 ลดลงอย่างรวดเร็ว เหลือ 1.85 แสนตัน , 1.33 แสนตัน และ 98,015 ตันในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 0% ในเดือนธันวาคม 2553 จนถึงเดือนมกราคม 2554รวมถึงตัวเลขการใช้ไบโอดีเซลจากใช้เพียง 2.6 หมื่นตันในปี 2550 เพิ่มเป็น 4.7 แสนตันในปี 2553
สำหรับการเพิ่มขึ้นของตัวเลขส่งออกน้ำมันปาล์ม พบว่าเดือนกันยายน เอกชนส่งสัญญาณต่อกระทรวงพาณิชย์แล้วว่า มีปาล์มในประเทศลดลง มีการส่งออกสูงถึง 37,137 ตัน จากก่อนหน้านี้ส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 23,000 ตัน แม้ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ก็ยังมีการส่งออก 7,901 ตัน และ 3,606 ตันตามลำดับ
ทั้งปี 2553 ยอดส่งออกมีถึง 223,984 ตัน สูงกว่าปี 2552 ส่งออกไป 189,780 ตัน อัตราเพิ่มของมูลค่าสูงกว่าปริมาณ ปี 2553 มีมูลค่า 6,656 ล้านบาท แต่ปี 2552 มีมูลค่า 4,720 ล้านบาท
ดังนั้น หากรัฐบาลใส่ใจและไม่ปล่อยให้ปัญหาล่วงเลยถึงเดือนธันวาคม 2553 วิกฤตขาดแคลนปาล์มเพื่อใช้ในการบริโภคก็จะไม่รุนแรงอย่างเช่นขณะนี้
***********************************
วิธีสวาปาล์ม...เขาทำกันยังไง
เมื่อก่อนน้ำมันปาล์ม ผลิตออกมาแล้ว ก็มีแต่ล้นตลาด ไทยเลยแก้ปัญหาด้วยการส่งออก แต่มาช่วงหลังรัฐบาลให้การสนับสนุนไบโอดีเซล นำน้ำมันปาล์มไปผสม เพื่อลดราคาน้ำมัน ก็เลยทำให้ตลาดน้ำมันปาล์มถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งส่งให้ผู้บริโภคกิน อีกส่วนหนึ่งส่งให้รถยนต์กิน
เมื่อราคาน้ำมันแพงขึ้น ความต้องการปริมาณน้ำมันปาล์มไปผสมกับน้ำมันดีเซลก็เลยมีมากขึ้น ทำให้น้ำมันปาล์มส่วนหนึ่งไหลเข้ามาตรงนี้ เพราะไม่มีการควบคุมราคาไว้ชัดเจน
ขณะที่น้ำมันปาล์มที่นำไปให้ผู้บริโภคกิน ถูกกำหนดไว้ที่ราคาปลายทาง ณ วันนี้ คือ 47 บาท ไม่ว่าต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นแค่ไหน ก็ต้องขายในราคาที่ 47 บาท จึงเป็นที่มาของการ “สวาปาล์ม”
สวาปาล์มในฝั่งผู้ผลิต จะใช้วิธีการนำเอาน้ำมันที่ตัวเองมีอยู่ ออกขายในตลาดมืด ส่วนใหญ่จะใส่ลงถุงขายกันถุงละ 65-80 บาท โดยอ้างว่า ต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบสูง ถ้าให้ขายที่ 47 บาท คงขาดทุน และก็ทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยที่ภาครัฐหลิวตาให้ จับใครไม่เคยได้ ที่จับได้ ก็น่าจะเป็นพวกที่ไม่ถวายเครื่องเซ่นไหว้ อย่างน้ำมันพืชไทย
ที่ถูกจับดำเนินคดีเพียงแค่รายเดียว ในข้อหาขายเกินราคา
แล้วฝั่งการเมือง จะสวาปาล์มกันยังไง ก็อย่างที่รู้ๆ กัน ในบรรดาผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง เริ่มจากส่งซิกทำให้น้ำมันปาล์มขาดแคลน ไม่ผลิตของออกมาขาย แล้วให้เอาไปขายในตลาดมืดแทน แค่นี้สต๊อกก็หายวับอย่างกะเสกได้แล้ว
คำถามแล้วการเมืองจะเอี่ยวได้ตรงไหน ก็จะมาเอี่ยวได้ในช่วงที่ต้องเปิดให้นำเข้า อย่างล็อตแรก 3 หมื่นตัน คนที่ทำมาค้าขายในภาคใต้ ก็รู้ๆ กันอยู่ว่า ใคร คนไหน ที่ทำมาหากินกับน้ำมันปาล์ม ทั้งน้ำมันปาล์มลักลอบ น้ำมันปาล์มเถื่อน ที่นำเข้ามาจากมาเลเซีย ทำมาหากินกันอยู่ทุกวัน เมื่อรู้ว่าไทยต้องนำเข้า มีหรือจะนิ่งเฉย ก็ไปตกลงลับๆ กับพ่อค้าในมาเลเซียกินส่วนต่างราคา โดยให้บวกเพิ่มไปในราคาที่จะขายให้กับไทย
********************************
พณ.-ปชป.ต้องรับผิดชอบ
คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นจากวิกฤติปาล์มน้ำมันในครั้งนี้นั้น ใครควรที่จะต้องรับผิดชอบ แน่นอน จำเลยของสังคมย่อมหนีไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ นั่งเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ และกระทรวงพาณิชย์ที่มีนางพรทวา นาคาศัยเป็นรัฐมนตรีว่าการ
กล่าวสำหรับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นพรรคที่มีข้อมูลเรื่องปาล์มน้ำมันที่ดีที่สุด เพราะพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเกือบทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ โดยปาล์มน้ำมันร้อยละ 88 ปลูกอยู่ที่ “กระบี่ สุราษฎร์ธานีและชุมพร” ดังนั้น สังคมจึงคาดหวังว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ยิ่งเมื่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติมีนายสุเทพนั่งเป็นประธานด้วยแล้ว ก็ยิ่งต้องมีข้อมูล แต่เอาเข้าจริง ไม่มีใครรู้ว่า เกิดอะไรขึ้น ทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงดูดายต่อปัญหานี้จนน่าสงสัย
ด้วยเหตุดังกล่าวหลายคนจึงสงสัยถึงสายสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงระหว่างคนของพรรคประชาธิปัตย์กับบริษัทผู้ค้าปาล์มน้ำมัน 3 บริษัทคือ 1.บ.ปาร์โก้เทรดดิ้ง จำกัด 2.บ.ทักษิณ ปาล์ม(2521) จำกัด และ3.บ.นิวไบโอ-ดีเซล จำกัด ว่า อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาก็ได้ ดังเช่นที่ “นายธาริต เพ็งดิษฐ” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษให้สัมภาษณ์ว่า “ได้ประสานงานกับพาณิชย์จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อขอเข้าตรวจสอบในโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มในพื้นที่สุราษฎร์ธานี 3 บริษัท ซึ่งที่ผ่านมามีกระแสข่าวว่า บริษัทดังกล่าวเกี่ยวพันกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำให้ดีเอสไอไม่กล้าเข้าไปตรวจสอบ ขอยืนยันว่า ดีเอสไอดำเนินการทุกอย่างตามข้อเท็จจริง แม้รัฐบาลจะเป็นคนสั่งการให้ดีเอสไอตรวจสอบ หากพบข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคนในรัฐบาลทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ได้ละเว้นหรือเลือกปฏิบัติ”
ขณะที่นางพรทิวาและกระทรวงพาณิชย์เองก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้เช่นกัน เนื่องจากเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวเองโดยตรง แต่ก็ไม่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ แถมยังทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นจนประชาชนเดือดร้อนไปทุกหย่อมหญ้า
กล่าวคือ กระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาไม่ถูกจุด ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่า กฎหมายไม่ควบคุมราคาจากโรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมัน แต่ควบคุมราคาขายปลีกในห้างสรรพสินค้า จากเดิมควบคุมไว้ที่ขวดละ 38 บาท ก่อนปรับเพิ่มเป็นขวดละ 47 บาท ทำให้โรงกลั่นโก่งราคาที่ขายให้ห้างสรรพสินค้าค่อนข้างสูง แต่ห้างกลับถูกคุมราคา จึงทำให้ไม่มีสินค้าเข้าห้าง เกิดภาวะสินค้าขาดแคลน ทำให้ต้องปิดป้ายจำกัดการซื้อสินค้ารายละ 2 ขวด แต่กระทรวงพาณิชย์ก็ไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาได้ ทั้งๆ ที่นางพรทิวาควรควบคุมราคาที่โรงสกัดและโรงกลั่น เพราะมีสูตรคำนวณราคาปาล์มจากเกษตรกรอยู่แล้ว
นอกจากนี้ การนำเข้าน้ำมันปาล์ม 3 หมื่นตัน องค์การคลังสินค้า หน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์.ดำเนินการผิดพลาด เพราะทั้งๆ ที่รู้ว่าน้ำมันปาล์มขาดตลาด แต่ยังนำเข้าปาล์มดิบเพื่อมากลั่นในประเทศ ขณะที่ความต้องการมีจำนวนมาก จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เฉกเช่นเดียวกับปัญหาการดูแลการกระจายสินค้าของกรมการค้าภายในที่ผิดพลาด แบ่งโควตาน้ำมันปาล์มดิบให้โรงกลั่นน้ำมันไปแล้ว ไม่ทราบว่า มีการควบคุมหรือไม่ว่า นำไปบรรจุขวดจุกฟ้าเท่าไหร่ เท่าที่ทราบน้ำมันปาล์มดิบที่ขนส่งทางเรือมาขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการนั้น ไม่ได้สั่งให้โรงกลั่นแจ้งการขนย้าย ทั้งๆ ที่ปกติกรมการค้าภายในจะต้องแจ้งให้โรงกลั่นที่ได้รับโควตาแจ้งการขนย้าย แต่ครั้งนี้ไม่มี ทำให้เกิดช่องว่างได้
“ผมว่า เจ้าหน้าที่ อคส.แย่มาก ให้ข้อมูล รมต.พาณิชย์ผิดพลาดที่ไม่ยอมให้นำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ อ้างว่ามาเลเซียกลั่นแค่ 95% แต่ของไทย 98% จริงๆ แล้ว เมื่อสินค้าขาดแคลน ค่าการกลั่นห่างกันนิดหน่อยไม่น่าจะมีปัญหาอะไร นอกจากนี้ ผมถามว่า กรมการค้าภายในได้มีการตรวจสอบโรงกลั่นที่ได้รับการบรรจุน้ำมันจุกฟ้า ตามบัญชีที่แจ้งไว้หรือไม่ เพราะผมทราบข้อมูลจากห้างบางแห่งว่า ตามบัญชีต้องส่งหนึ่งแสนขวด แต่ส่งให้จริง 4-5 หมื่นขวด เรื่องนี้กรมการค้าภายในเข้าไปตรวจสอบบ้างหรือไม่”นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้า(อคส.) ให้ความเห็น
ที่สำคัญคือ วิกฤตน้ำมันปาล์มที่เกิดขึ้น ทำให้สังคมอดสงสัยถึงประสิทธิภาพของผู้คนใน “กระทรวงธงฟ้า” ว่า ทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการจัดงานธงฟ้าเป็นหรือไม่ หรือมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการปล่อยให้เกิดวิกฤตการณ์ครั้งนี้