xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 14-19 ก.พ.2554

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1. “ไทย-เขมร” ลงนามหยุดยิงแล้ว ขณะที่ “ฮุน เซน” เล็งจี้ศาลโลกรื้อคดีพระวิหาร ด้าน ตร.ออกหมายเรียก 10 แกนนำ พธม.แล้ว!
พล.ท.ฮุนมาเน็ต บุตรชายสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา
ความคืบหน้าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา หลังทหารกัมพูชาเปิดฉากใช้อาวุธหนักยิงเข้ามาฝั่งไทย ส่งผลให้ทหารไทยต้องยิงตอบโต้หลายรอบแล้วในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้มีทหารและชาวบ้านบาดเจ็บและเสียชีวิต ขณะที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาไม่เพียงอ้างว่าไทยเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน แต่ยังได้ทำหนังสือถึงคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอสซี) เรียกร้องให้จัดประชุมด่วนเพื่อหยุดยั้งการรุกรานของไทยด้วย ซึ่งยูเอ็นเอสซีมีกำหนดประชุมเรื่องนี้ในวันที่ 14 ก.พ. พร้อมเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาได้เข้าชี้แจง โดยฝ่ายไทย รัฐบาลมอบหมายให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการะทรวงการต่างประเทศ ไปชี้แจง ขณะที่ฝ่ายกัมพูชา ผู้ที่จะเข้าชี้แจงคือ นายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา

ทั้งนี้ นายฮอ นัมฮง ชี้แจงว่า ไทยรุกรานกัมพูชาโดยใช้อาวุธอานุภาพร้ายแรงระหว่างวันที่ 4-7 ก.พ. ทำให้เกิดความเสียหายทั้งต่อปราสาทพระวิหารและวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ รวมทั้งทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย บาดเจ็บอีก 71 คน นายฮอ นัมฮง ยังเท้าความประวัติศาสตร์โดยกล่าวหาว่าไทยทำสงครามบุกรุกดินแดนกัมพูชาและยึดครองปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2497 เมื่อกัมพูชาได้เอกราช จึงต้องฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจ จากนั้นไอซีเจตัดสินเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2505 ให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในดินแดนกัมพูชา แต่ไทยเริ่มเรียกร้องว่าพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ใกล้ปราสาทพระวิหารเป็นพื้นที่ของไทยและใช้อาวุธรุกรานกัมพูชามาแล้ว 3 ครั้ง คือ วันที่ 15 ก.ค.2551 ,15 ต.ค.2551 และ 3 เม.ย.2552 นายฮอ นัมฮง ยังโอดครวญต่อยูเอ็นเอสซีด้วยว่า “กัมพูชาใช้ความอดทนในการเจรจากับไทย เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี หลีกเลี่ยงการปะทะทางทหารครั้งใหญ่ อย่างไรก็ดี ความพยายามสูญเปล่า เพราะความได้เปรียบทางยุทโธปกรณ์ที่ใหญ่กว่าและมีอำนาจทำลายล้างมากกว่า ทำให้ไทยย่ามใจ”

ด้านนายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ยืนยันว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากโจมตีไทยตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ส่งผลให้ทหารไทยเสียชีวิต 2 นาย และชาวบ้านอีก 2 ราย ขณะที่ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่อีก 2 หมื่นคน นอกจากนี้กัมพูชายังใช้ปราสาทพระวิหารเป็นค่ายทหารและฐานโจมตีไทย ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ นายกษิต ยังชี้เบื้องหลังการที่กัมพูชารุกรานไทยด้วยว่า กัมพูชาต้องการสร้างสถานการณ์บริเวณชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่จะเลี่ยงการเจรจาทวิภาคีกับไทย และต้องการทำให้เรื่องทวิภาคีกลายเป็นเรื่องระหว่างประเทศ

หลังทั้ง 2 ฝ่ายชี้แจงแล้วเสร็จ นางมาเรีย ลุยชา ริเบโร วีออตติ เอกอัครราชทูตถาวรจากประเทศบราซิล ซึ่งทำหน้าที่ประธานยูเอ็นเอสซี ได้เปิดแถลงแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ปะทะระหว่างไทย-กัมพูชา พร้อมเรียกร้องให้คู่กรณีอดทนอดกลั้นสูงสุด เพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง รวมทั้งขอให้หยุดยิงถาวร และให้มีการเจรจาเพื่อแก้ไขสถานการณ์อย่างสันติ นอกจากนี้ประธานยูเอ็นเอสซี ยังแสดงท่าทีสนับสนุนอาเซียนให้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ด้วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ยูเอ็นเอสซีจะขอให้กัมพูชาและไทยหยุดยิงถาวรเมื่อวันที่ 14 ก.พ. แต่ก็ยังเกิดเหตุปะทะกันอีกหลายระลอกตั้งแต่กลางดึกคืนวันที่ 14 ก.พ.จนถึงเช้ามืดวันที่ 16 ก.พ. ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เผยเหตุปะทะดังกล่าวว่า เกิดจากทหารกัมพูชาพยายามเจาะแนวป้องกันของทหารไทยบริเวณภูมะเขือตลอดทั้งคืน แต่ไม่สำเร็จ

ด้านนายฮอ นัมฮง รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศกัมพูชา บอกว่า กัมพูชาจะขอให้อาเซียนส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปในพื้นที่พิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา ใกล้ปราสาทพระวิหาร เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการหยุดยิงอย่างถาวร และว่า นับจากนี้เป็นต้นไป จะขอให้ประธานหรือตัวแทนอาเซียนเข้าร่วมประชุมระหว่างกัมพูชากับไทยทุกครั้ง รวมถึงการประชุมคณะกรรมการชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ควรจะมีตัวแทนจากอาเซียนเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะที่ผ่านมากัมพูชาได้เจรจากับไทยหลายครั้งแล้วตั้งแต่ปี 2551-2553 แต่ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ย้ำว่า ยูเอ็นเอสซีระบุแค่ว่า ขอให้อาเซียนสนับสนุนและสร้างบรรยากาศการเจรจาของทั้ง 2 ประเทศผ่านกลไกทวิภาคีที่มีอยู่ ไม่มีส่วนใดพูดให้อาเซียนสร้างกลไกเพิ่มเติมหรือตั้งผู้แทนพิเศษเข้ามาช่วยแก้ปัญหา

ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ออกมาย้ำอีกครั้งว่า ต่อไปจะไม่มีการประชุมทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชาอีกแล้ว ต้องมีฝ่ายที่สามด้วย คือประธานอาเซียนซึ่งปัจจุบันก็คืออินโดนีเซีย สมเด็จฯ ฮุน เซน ยังส่งสัญญาณด้วยว่า ปัญหาระหว่างไทย-กัมพูชาควรจะต้องถึงมือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ(ไอซีเจ) เพราะอาเซียนทำได้แค่ขัดขวางไม่ให้คนสองคนทะเลาะกันเท่านั้น ขณะที่ยูเอ็นเอสซีก็ไม่มีบทบาทแก้ไขปัญหาให้จบสิ้นได้ ดังนั้นกัมพูชาจะฟ้องไปยังไอซีเจ เพื่อให้พิจารณาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 เพิ่มเติม “เราไม่ขอให้ศาลโลกตัดสินใหม่ แต่ขอให้รื้อฟื้นคำพิพากษาเดิมดูอีกครั้งหนึ่ง ถ้าทำอย่างนี้ได้แล้ว ทางกัมพูชาสบาย ไทยเองก็หมดปัญหาด้วย เพราะจะได้ยุติข้อขัดแย้งในปัญหาเส้นแบ่งพรมแดน ตรงไหนเป็นของไทยหรือของกัมพูชา ก็เอาให้ชัดเจนไปเลย”

ล่าสุด วันนี้(19 ก.พ.) นายทหารชั้นผู้ใหญ่ของทั้งไทยและกัมพูชา ได้เปิดการเจรจากันที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง บริเวณชายแดนช่องสะงำ ตรงข้าม จ.สุรินทร์ โดยฝ่ายไทยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสนาธิการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะ ส่วนฝ่ายกัมพูชามี พล.ท.ฮุนมาเน็ต บุตรชายสมเด็จฯ ฮุน เซน เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ มีรายงานว่า ทั้งสองฝ่ายในลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน 8 ข้อ คือ 1.หยุดยิง 2.ห้ามเพิ่มกำลังทหารและห้ามเคลื่อนย้ายทหาร 3.ห้ามเคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ขนาดใหญ่ 4.ห้ามใช้อาวุธหนักในการโจมตีซึ่งกันและกัน 5.ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่พิพาท 4.6 ตร.กม.เด็ดขาด 6.ห้ามทำฐานทหารหรือบังเกอร์ 7.ห้ามก่อสร้างถนนของทั้งสองฝ่าย และ 8.ให้ประสานทำความเข้าใจกันผ่านทางโทรศัพท์ Hotline 24 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกำลังทหารจะยังคงไว้ในพื้นที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเจรจาตกลงกันในระดับรัฐบาลและคณะกรรมการชุดต่างๆ รวมถึงรอการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในวันที่ 22 ก.พ.นี้ด้วย

ส่วนความคืบหน้ากรณีนายวีระ สมความคิด แกนนำเครือข่ายประชาชนไทยหัวใจรักชาติ และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ผู้สื่อข่าวเอฟเอ็มทีวี เครือข่ายสันติอโศก ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเปรยซอร์ของกัมพูชา หลังถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 8 ปี และ 6 ปี ตามลำดับ ฐานลักลอบเข้าเมือง-ลักลอบเข้าพื้นที่ทางทหารของกัมพูชา และจารกรรมข้อมูลนั้น ล่าสุด(17 ก.พ.) นายณฐพร โตประยูร ทนายความจากสภาทนายความ และที่ปรึกษากฎหมายกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ เผยว่า จะระงับการยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดีของนายวีระ และ น.ส.ราตรี และเตรียมส่งเรื่องให้รัฐบาลยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ เพราะญาติของทั้งสองเป็นห่วงเรื่องความเป็นอยู่

ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา เมื่อทราบข่าวดังกล่าว รีบออกมาประกาศว่า จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับนายวีระ “ไม่ต้องมาโน้มน้าวผม หรือขอพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์นโรดม สีหมุณี เพราะเป็นไปไม่ได้ในเวลานี้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย คือ รับโทษจำคุกอย่างน้อย 2 ใน 3 เสียก่อน จึงจะได้รับการพิจารณาอภัยโทษ”

สำหรับความเคลื่อนไหวการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ที่เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลาออก เพื่อรับผิดชอบกรณีที่ล้มเหลวในการแก้ปัญหา ปล่อยให้กัมพูชารุกล้ำและยึดครองดินแดนไทย ทำให้สถานการณ์ตึงเครียด จนทหารทั้งสองฝ่ายปะทะกัน กระทั่งมีทหารและประชาชนเสียชีวิต ขณะที่รัฐบาลได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ครอบคลุมพื้นที่ 7 เขตรอบทำเนียบรัฐบาล จากนั้นศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) ได้ออกประกาศห้ามเข้า-ออกบริเวณพื้นที่ประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ เพื่อบีบให้พันธมิตรฯ ยุติการชุมนุม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อเปิดถนนให้ประชาชนสัญจรไปมา แต่แกนนำพันธมิตรฯ ยืนยันจะใช้สิทธิชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ หากถูกจับกุมหรือต้องสูญเสียอิสรภาพ ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ประเทศต้องเสียดินแดน ปรากฏว่า ล่าสุด(15 ก.พ.) พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่า เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียก 10 แกนนำพันธมิตรฯ ให้มารับทราบข้อกล่าวหาฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.มั่นคงฯ มาตรา 18 ห้ามเข้าหรือออกจากเขตที่กำหนด ในวันที่ 22 ก.พ.นี้ ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับผู้ที่ถูกออกหมายเรียก ประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ,นายสนธิ ลิ้มทองกุล ,นายประพันธ์ คูณมี ,นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ,นายรักษ์ รักษ์พงษ์ ,นายสุริยะใส กตะศิลา ,นายเทิดภูมิ ใจดี ,นายพิภพ ธงไชย ,นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ยุตม์ ศิรโยธินภักดี และนายทศพล แก้วทิมา

ด้านนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรฯ บอกว่า ตนได้รับหมายเรียกให้ไปรายงานตัวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 22 ก.พ.แล้ว และว่า หลังเข้ารายงานตัว แกนนำพันธมิตรฯ จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายบ้าง เพราะเชื่อมั่นว่า การประกาศ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ของรัฐบาลขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะมีเจตนาหยุดยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชน

2. คกก.ชุด “สมบัติ” เสนอให้พรรคที่ชนะปาร์ตี้ลิสต์ ได้จัดตั้ง รบ.-รั้งเก้าอี้นายกฯ ด้านพรรคเล็ก-พท. สวดยับ!

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ปธ.คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยกรรมการฯ เช่น นายเจษฎ์ โทณะวณิก ,นายบรรเจิด สิงคะเนติ ฯลฯ ได้เปิดแถลงผลการศึกษาแนวทางการปรับโครงสร้างการเมืองและกระบวนการยุติธรรมของไทย ที่เตรียมเสนอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในเดือน ก.พ.นี้ โดยบอกว่า สาระสำคัญในการปรับโครงสร้างการเมือง ได้แก่ ในแง่ฝ่ายบริหาร ให้หัวหน้าพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดจากระบบบัญชีรายชื่อ(ปาร์ตี้ลิสต์) มีสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลและดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นั่นหมายถึงที่มาของการจัดตั้งรัฐบาลจะไม่ได้มาจากการโหวตเสียงในสภาอีกต่อไป แต่มาจากเสียงประชาชนที่ลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้กับพรรคการเมือง หากพรรคที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์มากสุด กลัวว่าเสียงจะไม่มั่นคงพอ ก็สามารถนำเสียงพรรคร่วมรัฐบาลมาจัดตั้งรัฐบาลได้

ส่วนเรื่องความเป็นอิสระระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัตินั้น คณะกรรมการฯ เสนอว่า รัฐบาลไม่มีสิทธิยุบสภา เพื่อไม่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่มีสิทธิอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรี แต่สามารถตรวจสอบรัฐบาลด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติได้ ตั้งกระทู้ถามสดได้ ขณะเดียวกันให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจยับยั้งกฎหมายที่มีผลกระทบกับการบริหารของรัฐบาลที่เสนอโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้ด้วย ส่วนการสิ้นสภาพของรัฐบาลจะเกิดขึ้นเมื่อนายกฯ ถูกถอดถอน หรือลาออกเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นว่า ระบบนี้จะช่วยให้รัฐบาลอยู่ได้ครบวาระ ช่วยให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเข้มแข็ง ถ้าไม่สะดุดขาตัวเอง

ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ต้องไม่เป็น ส.ส. หากใครเป็น ส.ส.เขตต้องลาออก แล้วจัดเลือกตั้งซ่อมใหม่ หากเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็เลื่อนลำดับถัดไปขึ้นมา เพื่อแยกอำนาจฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติ ทำให้รัฐมนตรีได้ทำงานบริหารอย่างเต็มที่

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการฯ พูดถึงสาเหตุที่ห้ามฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลว่า เพราะการอภิปรายของไทยไม่มีประสิทธิภาพ เหลวไหล ไร้สาระ และฝ่ายค้านมีเสียงข้างน้อย จึงโหวตแพ้เสมอ ดังนั้นแนวทางใหม่ที่เสนอคือ ไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการตรวจสอบอย่างอิสระและมีประสิทธิภาพ หากมีการกระทำผิดทางการเมือง สามารถยื่นถอดถอนได้ หากผิดคดีอาญาก็มีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาไต่สวนและฟ้องต่อศาลได้เลย ถ้าผิดจริงก็เข้าคุกได้ทันที

เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการชุดนายสมบัติที่ให้พรรคที่มีคะแนนเสียงระบบปาร์ตี้ลิสต์มากสุดมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกฯ นั้น สอดคล้องกับคำพูดของนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดเป็นนัยก่อนหน้านี้(13 ก.พ.)นี้ว่า พรรคที่มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลนั้น แม้ไม่ได้มี ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 แต่ถ้าคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ชนะขาด ใครจะได้ฟอร์มรัฐบาลก่อน

อย่างไรก็ตาม แนวคิดของนายกอร์ปศักดิ์และข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ชุดนายสมบัติ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักการเมืองทั้งพรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยนายประจักษ์ แกล้วกล้าหาญ ประธาน ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ได้แสดงความไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการปิดกั้นหัวหน้าพรรคขนาดกลางและเล็ก ที่ไม่มีโอกาสได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์มากเป็นลำดับ 1 ไม่ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกฯ ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และว่า การล็อคให้เฉพาะหัวหน้าพรรคที่ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ลำดับ 1 เป็นนายกฯ ต้องคิดให้ดี เกิดหาเสียงอยู่แล้วหัวหน้าพรรคหัวใจวายไป จะเอาใครเป็นนายกฯ จะเกิดปัญหาขึ้นมาอีก

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย(พท.) และแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ชี้ว่า ข้อเสนอดังกล่าวฟังไม่ได้ และตรงกับที่นายกอร์ปศักดิ์ปูพื้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งชี้วัดได้ว่านักวิชาการบางพวกคิดแต่สอพลอผู้มีอำนาจ ใช้หลักคิดที่ว่า ถึงอย่างไร ส.ส.ระบบเขตก็สู้ไม่ได้ จึงคิดสูตร ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบนี้ เป็นข้อเสนอที่เฟอะฟะ “ส่วนข้อเสนอที่ห้ามไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ก็ยิ่งเป็นข้อเสนอที่เหลวไหล จะปล่อยให้มีเรื่องทุจริตอย่างไรก็ได้อย่างนั้นหรือ นี่จึงเป็นข้อเสนอที่ไม่มีประโยชน์และไม่มีหลักวิชาการ แต่เสนอกันแบบสอพลอ จึงควรทบทวนตัวเองได้แล้ว เพราะประชาชนรับไม่ได้”

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รีบออกมาชี้แจงว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ชุดนายสมบัติเป็นข้อเสนอในเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันพิจารณาในระยะยาว ไม่ใช่การชงให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้เปรียบในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เพราะเรื่องของรัฐธรรมนูญในรัฐบาลชุดนี้ถือว่าจบแล้ว โดยการแก้ไขเพิ่มเติม 2 มาตรา(ม.190 และ ม.93-98) ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว

ส่วนความเคลื่อนไหวของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) แบบสรรหา ที่มีกำหนดอยู่ครบวาระในวันที่ 18 ก.พ.ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ได้มี ส.ว.สรรหาขอลาออกก่อนหน้าจะถึงวันครบวาระ 1 วัน(17 ก.พ.) เนื่องจากเกรงว่าถ้าไม่ลาออกก่อน จะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติหากต้องการลงสมัครเข้ารับการสรรหาใหม่ โดยมีผู้ที่ขอลาออกแล้ว 67 คนจากจำนวน ส.ว.สรรหาทั้งหมด 74 คน จึงเหลือ ส.ว.สรรหาเพียง 7 คนที่ไม่ได้ลาออก ประกอบด้วย นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ,นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ,ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต ,นายวรินทร์ เทียมจรัส ,นางอุไร คุณานันทกุล ,พล.ร.อ.ณรงค์ ยุทธวงศ์ และ ร.ท.ภูมิศักดิ์ หงษ์หยก เป็นที่น่าสังเกตว่า หลัง 67 ส.ว.ขอลาออก ทำให้องค์ประชุมของวุฒิสภาในขณะนี้เหลือเพียง 83 คน โดยในบรรดา ส.ว.สรรหาที่ยังไม่ลาออก มีเพียงนายประสพสุขคนเดียวที่เคยประกาศว่าจะไม่เข้ารับการสรรหาใหม่

3. “สุเทพ” ท้า “พท.” เปิดชื่อนักการเมือง “ส” ได้ประโยชน์น้ำมันปาล์ม ด้าน “ดีเอสไอ” สั่งอายัดน้ำมันปาล์มมรกต 1.4 พันตัน หลังพบกักไว้ไม่ยอมขาย!
สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี
หลังเกิดปัญหาน้ำมันปาล์มราคาแพงและขาดตลาด กระทั่งรัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงพาณิชย์นำเข้าน้ำมันปาล์มจากต่างประเทศแล้ว 2 รอบ รอบแรก 30,000 ตัน รอบสอง 120,000 ตัน แต่กระทรวงพาณิชย์มีการชะลอนำเข้าน้ำมันปาล์มรอบสอง เพราะเกรงว่าอาจทำให้ผลปาล์มดิบในประเทศราคาตก ส่งผลให้น้ำมันปาล์มยังคงราคาแพงและขาดตลาดอยู่ ด้านนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ระบุว่า มีคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรีได้ประโยชน์จากปัญหาน้ำมันปาล์ม ขณะที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยก็สำทับว่า นักการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการกักตุนน้ำมันปาล์มมีอักษรย่อ “ส” และ “พ”นั้น

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาท้าให้ผู้ที่พูดเรื่องนี้ บอกมาให้ชัดๆ ว่าใครได้ประโยชน์จากปัญหาน้ำมันปาล์ม “บางคนก็เลอะเทอะ มีการพูดว่านักการเมือง “ส” หมายถึง “สุเทพ” หรือเปล่า จะได้ทราบ พูดมาให้ชัดๆ ว่าใครไปทำอะไรเสียหาย ผมยืนยันว่า เมื่อดูแลแก้ปัญหานี้ ได้ให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) สืบสวนดู หากพบว่ามีนักการเมืองอะไรก็แล้วแต่เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะดำเนินคดีกับทุกคน”

นายสุเทพ ยังพูดทำนองสุดทนกับกระทรวงพาณิชย์ที่ยังไม่นำเข้าน้ำมันปาล์มรอบสอง 120,000 ตันด้วยว่า “ผมได้บอกว่า ถ้ากระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถที่จะนำเข้ามาได้ ทั้งที่อนุญาตแล้วให้ดำเนินการแล้วเกินครึ่งเดือน ก็ยังไม่ทำ ผมก็จะให้เอกชนนำเข้าเอง แต่ว่าการตัดสินใจเรื่องนี้ผมตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ เพราะทำกันในรูปของกรรมการ ผมจึงได้นัดประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันในวันที่ 22 ก.พ.นี้ เพื่อหารือให้การขาดแคลนน้ำมันปาล์มยุติลงให้ได้”

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี พูดถึงปัญหาน้ำมันปาล์มว่า ดีเอสไอจะไปดูเรื่องการกักตุนและความไม่ชอบมาพากล เพราะการแก้ไขยังล่าช้า ทำให้ประชาชนเดือดร้อน ผู้สื่อข่าวถามว่า กระทรวงพาณิชย์อ้างว่าที่ยังไม่นำเข้าน้ำมันปาล์ม เพราะต้องประเมินตลาดก่อน นายอภิสิทธิ์ บอกว่า “ไม่มีเหตุผล เพราะนโยบายมันจบไปแล้ว ไม่เช่นนั้นเราคงไม่อนุมัติมากขนาดนี้ ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติให้นำเข้าก็กระทบกับชาวสวนปาล์ม ซึ่งต้องขอให้เกษตรกรยอมรับถึงกำไรที่ต้องลดลง”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เตรียมชี้แจงกรณีถูกโจมตีว่าไร้ฝีมือในการดูแลแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มราคาแพงและขาดตลาดในเร็วๆ นี้

ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ออกมาปูดอีกว่า ขณะนี้มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น คือ การเข้าคิวรอซื้อน้ำมันปาล์มของกระทรวงพาณิชย์ในราคาขวดละ 47 บาท แล้วนำมาแบ่งใส่ถุงขายในราคา 65-70 บาท โดยมีนักการเมืองรวมหัวกับพ่อค้า และว่า นักการเมือง “ส” และ “พ” ที่อยู่เบื้องหลังกักตุนน้ำมันปาล์มเพื่อเอาไปขายใต้ดินกว่า 3 ล้านขวดตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา ขณะนี้ได้กำไรไปแล้วเกือบพันล้านบาท

ด้านดีเอสไอได้ตั้งทีมร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ออกตรวจสอบการกักตุนน้ำมันปาล์ม โดยดีเดย์ลงพื้นที่ตรวจสอบวันนี้(19 ก.พ.) ที่บริษัท มรกต อินดัสทรี จำกัด ตั้งอยู่ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็น 1 ใน 10 บริษัทที่ได้รับการจัดสรรโควตาน้ำมันปาล์มนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย จำนวน 5,000 ตัน จากทั้งหมด 30,000 ตัน เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มในประเทศขาดแคลน ซึ่งพบว่า ทางบริษัทนำน้ำมันปาล์มไปผลิตบรรจุขวดเพียง 3,600 ตัน ส่วนอีก 1,400 ตันยังเก็บไว้ในสต๊อก ทั้งที่ตามสัญญาต้องนำโควตาทั้งหมดไปผลิตบรรจุขวดจำหน่ายในราคา 45-47 บาท ด้วยเหตุนี้ ดีเอสไอจึงได้สั่งอายัดน้ำมันปาล์ม 1,400 ตันดังกล่าวไว้ เพื่อตรวจสอบต่อไป

ด้านนายประเสริฐ ศิริเชาวนิชการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปาล์มออย เอ็นเนอร์ยี่ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตน้ำมันพืชแวว ได้ออกมาติงกรมการค้าภายในที่ให้ข่าวก่อนหน้านี้ว่า น้ำมันพืชแววเป็น 1 ใน 4 รายที่สร้างปัญหาให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม เพราะเป็นเรื่องไม่จริง โดยขณะนี้น้ำมันพืชแววได้รับโควตา นำเข้า 1,900 ตัน แต่ผลผลิตทั้งหมดต้องขายตามบัญชีรายชื่อที่กรมการค้าภายในให้มา ห้ามขายให้ห้างสรรพสินค้า เนื่องจากบางห้างนำออกไปขายหลังร้าน “บริษัทอยากจะทำความเข้าใจกับสาธารณชนว่า บริษัทเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ ไม่ใช่ผู้ทำให้เกิดปัญหา...” นายประเสริฐ ยังชี้ด้วยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำมันปาล์มราคาแพงและขาดตลาด เนื่องจากผลผลิตขาดแคลน ไม่พอป้อนตลาด เพราะน้ำมันปาล์มเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตไบโอดีเซลที่รัฐบาลให้การอุดหนุนอยู่

4. ตร. แพร่ รวบแก๊งเฮโรอีนรายใหญ่ ได้ผู้ต้องหา 12 ราย พร้อมของกลางเกือบ 200 กก. ด้าน “ชัยยะ” ปูด คนมีสี-นักการเมืองมีเอี่ยว!
พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5
เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 18 ก.พ. ตำรวจ สภ.เมือง จ.แพร่ ได้รับแจ้งจากนายชัยชาญ วันมหาใจ ผู้ใหญ่บ้านปากห้วย ต.วังธง ว่า พบกลุ่มคนมีพิรุธบริเวณป่าละเมาะใกล้กับคลองส่งน้ำสาย 11 ชลประทานบ้านวังธง จึงแจ้งให้กรรมการหมู่บ้านเข้าตรวจสอบ แต่กลุ่มคนดังกล่าววิ่งหนีไป โดยทิ้งกระสอบฟางบรรจุสิ่งของไว้ภายในซุกซ่อนไว้ที่ปากท่อส่งน้ำ จึงได้นำกำลังตำรวจกว่า 50 นายไปตรวจสอบ พบว่า มีกระสอบฟาง 11 ใบ และเป้ทหาร 1 ใบ บรรจุเฮโรอีนอัดแท่งอยู่เต็ม

ด้านนายชวน ศิรินันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เปิดแถลงหลังร่วมตรวจสอบเฮโรอีนดังกล่าวว่า เป็นเฮโรอีนบริสุทธิ์ 100% อัดแท่ง น้ำหนักรวม 195.2 กิโลกรัม ราคาซื้อขายตามชายแดนกิโลกรัมละ 7.5 แสนบาท รวมมูลค่าประมาณ 146.40 ล้านบาท ถือเป็นการจับกุมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาใน จ.แพร่ ซึ่งหากเฮโรอีนล็อตนี้เล็ดลอดไปได้จะมีราคาขายในตลาดสูงกว่า 1,000 ล้านบาท

ขณะที่ พล.ต.ต.พงษ์สักก์ เชื้อสมบูรณ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.แพร่ เผยว่า ก่อนหน้านี้ตำรวจภูธรภาค 5 สืบทราบว่าผู้ต้องหากลุ่มนี้เป็นขบวนการใหญ่จาก กทม.ใช้เส้นทางลำเลียงเฮโรอีนผ่าน จ.แพร่ และเคยถูกจับกุมมาแล้ว ทั้งนี้ ผู้ต้องหาใช้รถ 4 คันในการลำเลียง โดยมีรถนำ 1 คัน รถขน 2 คัน และรถปิดท้าย 1 คัน แต่ตำรวจจับกุมได้ 2 คัน หนีไปได้ 2 คัน ได้ผู้ต้องหา 7 คน โดย 6 คน มีภูมิลำเนาอยู่ ต.ตับเต่า จ.เชียงราย ได้แก่ นายอดิศร ท่อเจริญไชยกุล อายุ 22 ปี ,ด.ช.เอ(นามสมมติ) อายุ 14 ปี ,นายเน้ย แซ่ฟ้า อายุ 26 ปี ,นายสุวิท วงศ์บุญชัย อายุ 24 ปี ,นายเอกพล แซ่ลี อายุ 28 ปี ,นายอนุชา แซ่ท่อ อายุ 20 ปี ส่วนอีกคนมีภูมิลำเนาอยู่ จ.นครพนม คือ นายศักดิ์ดา อุ่นหล้า อายุ 34 ปี

ทั้งนี้ มีรายงานว่า คืนวันเดียวกัน(18 ก.พ.) ตำรวจภูธรภาค 5 สามารถจับกุมผู้ต้องสงสัยที่หลบหนีไป 2 คันได้แล้ว โดยได้ผู้ต้องหาอีก 5 ราย

ล่าสุดวันนี้(19 ก.พ.) พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำทีมเปิดแถลงข่าวผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ กับ พล.ต.ท.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ถึงการจับกุมขบวนการดังกล่าว โดยบอกว่า ผู้ต้องหาเป็นเครือข่ายชาวเขาเผ่าม้งที่ตำรวจภาค 5 ติดตามมานานจนจับกุมได้ในที่สุด

ขณะที่ พล.ต.ท.ชัยยะ บอกว่า ใช้เวลาติดตามเครือข่ายนี้มา 3 เดือนแล้ว ไม่สามารถบอกได้ว่าเฮโรอีนล็อตนี้จะนำมาส่งใครที่ กทม.ขอสงวนนาม แต่บอกได้ว่า จำนวนเฮโรอีนมากขนาดนี้คนที่เกี่ยวข้องต้องไม่ธรรมดา ต้องเป็นคนมีสีหรือนักการเมือง แต่ให้รายละเอียดมากกว่านี้ไม่ได้ เพื่อประโยชน์ในการสืบสวน และว่า ขบวนการนี้เคยถูกจับกุมมาหลายครั้ง ครั้งนี้นำเฮโรอีนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน และนำเข้ามา กทม.โดยบางส่วนกระจายต่อไปยังประเทศที่สาม ซึ่งผู้ต้องหาทั้งหมดให้การเป็นประโยชน์มาก เชื่อว่าอีกไม่นานจะขยายผลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น