xs
xsm
sm
md
lg

มึนตึบ!ราคาข้าวเปลือกดิ่งช่วงปลายฤดู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-พิลึก! ราคาข้าวเปลือกดิ่ง ทั้งๆ ที่เป็นช่วงปลายฤดูการเก็บเกี่ยว ผู้ส่งออกแจงเป็นเพราะมีการระบายสต็อกรัฐออกมา และเวียดนามลดค่าด่อง ทำไทยข้าวไทยราคาแพงขึ้น เลยต้องหันมากดราคารับซื้อจากชาวนา จนเป็นเหตุให้ออกมาประท้วง วงการค้าข้าวแฉกลับ ที่ประท้วงเพราะมีนักการเมืองท้องถิ่นหนุนหลัง ชาวนาไม่เดือดร้อนจริง เพราะรัฐชดเชยอยู่แล้ว ด้านหอการค้าระบุชาวนา โรงสี ไม่รู้จักเออีซี หวั่นทำไทยเสียท่าเวียดนามยึดตลาดข้าวอาเซียน
รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ แจ้งว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือกของไทยลดลงอย่างมาก โดยราคาล่าสุด จากการสำรวจของกรมการค้าภายใน ณ วันที่ 21 ก.พ.2554 ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิฤดูการผลิต 2553/54 อยู่ที่ตันละ 12,650-14,000 บาท ลดลงจากต้นฤดูกาลในเดือนพ.ย.2553 ที่ตันละ 13,400-15,500 บาท ข้าวเปลือกเจ้าปี 2553/54 ตันละ 8,400-8,500 บาท ลดลงจาก 8,800-9,300 บาท ข้าวเปลือกหอมปทุมธานีปี 2553/54 ตันละ 10,400-12,000 บาท ลดลงจากตันละ 12,000-14,000 บาท และข้าวเปลือกเหนียวเมล็ดยาวปี 2553/54 ตันละ 13,500-16,000 บาท ลดลงจากตันละ 14,000-16,350 บาท
นางสาวกอบสุข เอี่ยวสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคาข้าวส่งออกของไทยอ่อนตัวลง เพราะเวียดนามลดค่าเงินด่องลง ส่งผลให้ช่องว่างของราคาข้าวไทย และข้าวเวียดนามสูงขึ้นถึงตันละ 60-80 เหรียญสหรัฐ โดยปัจจุบัน ราคาข้าวสารขาว 5% ของไทยตันละประมาณ 520 เหรียญสหรัฐ แต่ของเวียดนามประมาณ 460 เหรียญสหรัฐ ทำให้ผู้ซื้อไม่สนใจซื้อข้าวไทย ที่ราคาสูงกว่า ประกอบกับ สต๊อกข้าวของรัฐบาลที่ระบายให้กับผู้ส่งออก จนถึงขณะนี้ก็ยังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงกดราคาข้าวในตลาด รวมถึงกรณีที่อินโดนีเซีย ลดการซื้อข้าวจากไทยลงเหลือประมาณ 300,000 ตัน จากก่อนหน้าที่จะซื้อจากไทยสูงถึง 800,000 ตัน เพราะไทยไม่สามารถส่งมอบข้าวให้ทันภายในเดือนมี.ค.นี้ และหันไปซื้อจากเวียดนาม ที่ราคาต่ำกว่าแทน ขณะเดียวกัน การขายข้าวนึ่งของไทยยังมีน้อย จึงทำให้ราคาในประเทศไม่ขยับมากนัก
“มองว่า ราคาข้าวในประเทศจะดีขึ้นในช่วงเดือนมี.ค.นี้ หลังจากความต้องการข้าวในตลาดโลกเริ่มมากขึ้น เพราะหลายประเทศหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยว และสต๊อกในประเทศเริ่มหมดแล้ว จึงหันมานำเข้าเพิ่มขึ้น” นางสาวกอบสุขกล่าว
นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล ประธานกลุ่มโรงสีจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า การที่ชาวนาที่จ.พระนครศรีอยุธยาประท้วง เพราะราคาข้าวในประเทศลดลงอย่างหนัก แต่ราคาพืชเกษตรอื่นปรับตัวขึ้น เพราะนโยบายข้าวของรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ ปล่อยให้ตลาดข้าวเป็นของผู้ซื้อ เมื่อราคาในตลาดโลกลดลง ก็ปล่อยให้ผู้ส่งออก และพ่อค้ามากดราคารับซื้อจากชาวนา จนขณะนี้ ราคาข้าวเปลือกเจ้าตกลงเหลือเพียงตันละ 7,800-8,000 บาท จากก่อนหน้าอยู่ที่ตันละเกือบ 10,000 บาท ทั้งที่เป็นปลายฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว ผลผลิตในนาจึงเหลือน้อย ราคาควรจะอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ราคาก็ยังตกต่ำ
อย่างไรก็ตาม วงการค้าข้าวได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่า ราคาข้าวในประเทศไม่ได้ตกลงมากนัก และชาวนาไม่ได้เสียประโยชน์ เพราะมีโครงการประกันรายได้ดูแลอยู่ ถึงราคาลง ก็ยังได้รับการชดเชยในส่วนที่ขาดหายไป โดยการประท้วงครั้งนี้ น่าจะมีนักการเมืองท้องถิ่นอยู่เบื้องหลัง ส่วนการเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มเงินประกันรายได้ข้าวเปลือกเจ้าจากตันละ 10,000 บาท เป็น 14,000 บาทนั้น ไม่มีเหตุผลเหมาะสม เพราะเป็นราคาที่สูงเกินจริง หากรัฐบาลเพิ่มราคาให้จริง จะทำให้ข้าวไทยแข่งขันได้ยากมากในตลาดโลก โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เวียดนามลดค่าเงินด่องซ้ำอีก
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงผลการศึกษา ผลกระทบของเออีซี ต่อเศรษฐกิจข้าวไทย ว่า การสำรวจการรับรู้และความเข้าใจของชาวนาไทย และโรงสี ต่อการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) พบชาวนาทั้ง 100% ยังไม่รู้จักและไม่เข้าใจรายละเอียดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงสีส่วนใหญ่ประมาณ 86.67% ตอบว่ารู้จักเออีซี และมีผู้เข้าใจรายละเอียดของเออีซีเพียง 10% เท่านั้น
ทั้งนี้ หากมองในแง่การส่งออกข้าวของไทยในตลาดอาเซียนที่มีเวียดนามเป็นคู่แข่งสำคัญ พบว่า เวียดนามจะได้ประโยชน์จากเออีซีมากว่าไทย เพราะเวียดนาม ครองตลาดข้าวในหลายประเทศ โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นผลมาจากการที่ชาวนาและโรงสีเกือบทั้งหมดไม่รู้จักและไม่เข้าใจเออีซี ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้การใช้ประโยชน์ของไทยเป็นไปไม่เต็มที่ ดังนั้น ไทยต้องเร่งปรับตัวรับมือเออีซี ผ่านการให้ความรู้แก่ชาวนาและผู้ที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจวิธีการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้า หากไม่เร่งดำเนินการอาจมีข้าวจากประเทศอาเซียนเข้ามาแข่งขันกับข้าวไทยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น