xs
xsm
sm
md
lg

“มนัส”พลิกยุทธศาสตร์ข้าวไทย ดันข้าวนึ่ง-หอมอินทรีย์เจาะตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปิดบัญชีกันไปแล้ว สำหรับการส่งออกข้าวไทยไปต่างประเทศในปี 2553 โดยมียอดส่งออกได้ปริมาณ9.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 5.29% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ส่งออกได้ 8.59 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 9-9.5 ล้านตัน และมีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 30% มากที่สุดในโลก มากกว่าคู่แข่งเวียดนามที่มีสัดส่วน 23% หรือส่งออกได้ 6.8 ล้านตัน
ส่วนมูลค่าการส่งออกทั้งปี 2553 มีรายได้เข้ามา 5,345 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.34% จากปี 2552 ที่มีรายได้ 5,027 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่าลดลง 1.80% หรือมีรายได้ 168,634 ล้านบาท ลดจากปี 2552 ที่มีรายได้ 171,719 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
จากปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดนี้ เมื่อแยกแยะลงไปพบว่า เป็นการส่งออกข้าวนึ่งปริมาณสูงมากถึง 3.17 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 2.88 ล้านตันในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้น 10.18% หรือมีสัดส่วนประมาณ 35% ของยอดส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนี้ ถือเป็นมิติใหม่ในการส่งออกข้าวไทยเลยก็ว่าได้ เพราะกำลังมีแนวโน้มใหม่เกิดขึ้น จากที่ผ่านมา ข้าวไทยที่ส่งออกไปขายส่วนใหญ่จะเป็นข้าวขาว แต่ขณะนี้ ข้าวนึ่งมีความสำคัญและกำลังชิงสัดส่วนการส่งออกข้าวไทยในภาพรวมได้อย่างน่าสนใจ
นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า จากแนวโน้มที่เกิดขึ้น กรมฯ จึงได้วางยุทธศาสตร์การส่งออกข้าวไทยในปี 2554 โดยจะเน้นการส่งออกข้าวที่มีมูลค่าเพิ่มให้มากขึ้น ซึ่งก็คือ ข้าวนึ่ง เพราะเป็นข้าวที่ในปัจจุบันตลาดมีความต้องการสูง ที่สำคัญ ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่สามารถผลิตข้าวนึ่งได้คุณภาพดีที่สุดในโลก ผู้ผลิตของไทยสามารถปรับคุณภาพข้าวได้ตามความต้องการของผู้ซื้อ
“ปีนี้เราตั้งเป้าจะผลักดันให้การส่งออกข้าวนึ่งมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 50% จากปริมาณการส่งออกทั้งหมด เพราะเรามั่นใจว่าเราทำได้ดีที่สุดในโลก และยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย ซึ่งนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ก็ได้เห็นชอบในแนวทางนี้แล้ว”นายมนัสกล่าว
สำหรับตลาดข้าวนึ่งสำคัญที่ไทยจะบุกเจาะในปี 2554 จะเน้นตลาดเดิมที่เป็นตลาดที่นำเข้าข้าวนึ่งจากไทยอยู่แล้ว คือ ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ เบนิน และเยเมน รวมถึงบังคลาเทศ ซาอุดิอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยจะมีแผนการบุกเจาะตลาดอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการส่งออก และกระตุ้นการรับรู้ของผู้บริโภคในตลาดเป้าหมาย
นายมนัสบอกอีกว่า นอกจากข้าวนึ่ง ไทยยังจะให้ความสำคัญกับการผลักดันการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ ที่ปัจจุบันไทยยังผลิตได้ไม่มาก แต่แนวโน้มดี เพราะตลาดมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น หลังทั่วโลกได้หันมาใส่ใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม และการรักษาสุขภาพ จึงเป็นโอกาสดีของไทย ซึ่งกรมฯ จะดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับระบบการผลิต การรับรองการตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อรองรับตลาดส่งออกที่ขยายตัวดีขึ้น
ปัจจุบันตลาดข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่สำคัญของไทยยังคงเป็นตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศเอเชียบางประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้สูง ห่วงใยสุขภาพ และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยสัดส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ 26% อิตาลี 25% ฝรั่งเศส 10% สวิตเซอร์แลนด์ 8% เดนมาร์ก 10% เนเธอร์แลนด์ 5% สิงคโปร์ 4% เยอรมนี 4% ออสเตรีย 3% ฮ่องกง 2% เบลเยี่ยม 1%และนิวซีแลนด์ 1%
ในปี 2553 ที่ผ่านมา ไทยมียอดการส่งออกข้าวหอมมะลิอินทรีย์ 4,827 ตัน มูลค่า 6.37 ล้านเหรียญสหรัฐ ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 1,319 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อน 19.81% และ 31.30% ตามลำดับ ส่วนราคาส่งออกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 9.64% 
นายมนัสทิ้งท้ายไว้ว่า ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเป็นยุทธศาสตร์ในการผลักดันการส่งออกข้าวไทยสำหรับปี 2554 ที่จะเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าวไทย เป็นการฉีกหนีคู่แข่งที่ตามจี้หลังไทยมาติดๆ ที่สำคัญ การเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ในการส่งออก ไม่เพียงแต่ช่วยให้ไทยส่งออกข้าวได้มากขึ้น ผู้ส่งออกมีรายได้มากขึ้น แต่ยังส่งผลดีไปถึงเกษตรกรของไทยที่จะมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จากราคาข้าวเปลือกที่ปรับตัวสูงขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น