xs
xsm
sm
md
lg

หอการค้าฯ เตือนส่งออกรับมือเออีซี แนะเจาะข้าวคุณภาพในตลาดบน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าฯ เผยผลการศึกษาผลกระทบ เออีซี คาด ไทยอาจสูญเสียตลาดข้าวในอาเซียนให้เวียดนาม หลังจัดตั้งเป็นประชาคม พร้อมเสนอส่งออกข้าวคุณภาพในตลาดบน เพื่อรักษาแชมป์ข้าวในตลาดโลก

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการศึกษาผลกระทบการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ต่อเศรษฐกิจข้าวไทย พบว่า หากมีการปรับลดอัตราภาษีเป็นศูนย์ ตามการรวมตัวกันเป็นตลาดเดียวของ AEC ภายในปี 2558 ประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นคู่แข่งอันดับหนึ่งของไทยในการส่งออกข้าว จะมีมูลค่าการส่งออกข้าวสารไปยังตลาดอาเซียนสูงกว่าไทย โดยเฉพาะในตลาดฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ซึ่งเป็นตลาดการส่งออกสำคัญของไทย

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า เวียดนามเป็นผู้ครองตลาดข้าวสารในอาเซียน เนื่องจากข้าวไทยและเวียดนาม มีคุณภาพที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ขณะที่ราคาข้าวของเวียดนามในขณะนี้ ต่ำกว่าไทยอยู่ประมาณ 125 ดอลลาร์ต่อตัน และจากการปรับลดค่าเงินด่องของเวียดนาม ยิ่งทำให้ราคาข้าวของเวียดนามถูกลง อาจทำให้ไทยเสียตลาดในแอฟริกา ที่เป็นตลาดข้าวระดับล่างของไทยในอนาคต

ดั้งนั้น ไทยจะต้องประชาสัมพันธ์ทางการตลาดข้าวและเจาะตลาดข้าวในระดับบนแทน โดยให้ผู้บริโภคเห็นความแตกต่างด้านคุณภาพ ระหว่างข้าวไทย และข้าวเวียดนาม อย่างไรก็ตาม ภายใน 3 ปี ก่อนเข้าสู่ AEC ไทยควรตั้งชุดศึกษาผลดีผลเสียต่อเศรษฐกิจข้าวไทย ในการเข้าร่วม AEC เพื่อรักษาการครองตลาดในภาพรวมระดับโลก

นายอัทธ์ ยังกล่าวถึงการตีตลาดข้าวในอาเซียนแข่งกับเวียดนาม ว่า ไทยควรเร่งกระจายความรู้ให้ชาวนา ผ่านเครือข่ายในระดับภูมิภาค มหาวิทยาลัย ชุมชนเกษตรกร เพราะหากชาวนาไทยมีความรู้จากการเปิด AEC น้อย จะทำให้รายได้ของชาวนาลดลง เนื่องจากไม่มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และไม่มีการวางแผนให้สอดคล้องกับความต้องการในตลาด

โดยจากการศึกษา พบว่า ชาวนาจะได้ประโยชน์จากการเปิด AEC เพียงร้อยละ 15 ขณะที่กลุ่มโรงสีและผู้ส่งออก จะได้รับประโยชน์ถึงร้อยละ 80 ส่วนภาคแรงงานภายหลังเปิด AEC แล้ว จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานได้อย่างเสรี โดยปัจจุบันมีการลงนามความตกลงไปบางส่วน อาทิ อาชีพแพทย์ สถาปนิก พยาบาล วิศวกร ซึ่งแรงงานในไทย จะต้องพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อรองรับการแข่งขันแรงงานฝีมือ ที่จะเข้ามาทำงานในไทยได้ง่ายขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น