"พรทิวา" สั่งรับมือผลกระทบส่งออกไทย หลังธนาคารกลางเวียดนามประกาศลดค่าเงินด่ง 9.3% กำชับทูตการค้าเร่งรักษาส่วนแบ่งตลาดที่แข่งกับเวียดนาม พร้อมเข็น 3 มาตรการเร่งด่วนรับมือ คาดส่งออกข้าวไทยกระทบหนัก ธปท. ยอมรับ กระทบส่งออกสินค้าเกษตร แต่ภาพรวมยังแข็งแกร่ง
นางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงแผนรับมือผลกระทบการส่งออกหลังจากเวียดนามลดค่าเงิน โดยระบุว่า ตนเองได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการส่งออกกำชับให้ทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก เพื่อกำหนดมาตรการรองรับผู้ส่งออกไทย โดยเน้นไปที่การรักษาตลาดที่เวียดนามเป็นคู่แข่งของไทย
"การปรับลดค่าเงินด่งของเวียดนามในครั้งนี้ มีผลกระทบต่อประเทศไทยแน่นอน เนื่องจากเวียดนามถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยบนตลาดโลกในสินค้าหลายประเภท ดังนั้น การลดค่าเงินด่องจะทำให้สินค้าเวียดนามมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในเชิงราคามากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าข้าว"
ทั้งนี้ พบว่าในปี 2553 เวียดนามได้ส่งออกข้าวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยสามารถส่งออกได้เกือบ 7 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 3,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับมาตรการเบื้องต้น ได้แก่ 1.รักษาส่วนแบ่งทางการตลาด โดยเฉพาะตลาดที่เวียดนามเป็นคู่แข่ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ซึ่งเวียดนามส่งออกเป็นอันดับ 1 หรือ 18% ของสินค้าที่ส่งออกทั้งหมด ได้แก่ สิ่งทอ อาหารทะเล และไม้แปรรูป ตลาดสหภาพยุโรป (อียู) เวียดนามส่งออก 14% โดยสินค้าส่งออกได้แก่ สิ่งทอและอาหารทะเล และตลาดอาเซียน ส่งออก 13% ได้แก่ อาหารและผ้าผืน
2.ดำเนินมาตรการส่งเสริมและพัฒนาผู้ส่งออกไทยในการลดต้นทุนโลจิสติกส์ พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาคุณภาพสินค้าพร้อมส่งเสริมการออกแบบ เพื่อการส่งออกอย่างยั่งยืน 3.ดำเนินการจัดกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกในตลาดหลัก เช่น การจัดโรดโชว์ ส่งเสริมการขายร่วมกับห้างดังต่างๆ และการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ
นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่เวียดนามลดค่าเงินด่ง คาดว่าจะทำให้การขายข้าวของไทยในตลาดโลก และการแข่งขันกับเวียดนามยากขึ้น ซึ่งหากค่าเงินของเวียดนาม อ่อนค่าลงไปอีก ก็คาดว่าเพียงอีกไม่ปีข้างหน้า การส่งออกข้าวของเวียดนาม อาจจะแซงหน้าไทย และไทยอาจจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 ของโลก
โดยวานนี้ (วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554) ธนาคารกลางเวียดนามได้ประกาศลดค่าเงินด่งลงอีก 9.3% จากระดับ 18,932 ด่งต่อดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 20,693 ด่งต่อดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อปรับอัตราแลกเปลี่ยนของทางการและอัตราแลกเปลี่ยนในตลาดมืดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง
นายทรงธรรม ปิ่นโต ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การปรับลดค่าเงินของเวียดนามอาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยในระดับจุลภาค (ไมโคร)บ้าง เนื่องจากการส่งออกสินค้าพื้นฐานของไทยที่มีการแข่งขันกับเวียดนามมีสัดส่วนประมาณ 10% นั้น เป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว รวมอยู่ด้วย แต่เชื่อว่า จะไม่มีผลกระทบในระดับมหภาค (แม็คโคร) ไม่มากนัก เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของการส่งออกสินค้าของไทยใน ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแล้ว
ด้านนายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธปท. เชื่อว่า การปรับลดค่าเงินด่งไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากในแง่การค้าขาย หรือการแข่งขันส่งสินค้าที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการเกษตร ระหว่างไทยกับเวียดนาม ปัจจุบันมีไม่มากเหมือนก่อนแล้ว พร้อมเชื่อว่าการปรับลดค่าเงินด่องครั้งนี้เป็นเพราะเวียดนามไม่ต้องการที่จะสูญเสียขีดความสามารถด้านการแข่งขัน