xs
xsm
sm
md
lg

คัดค้านบันทึกเจบีซี ความห็นส่วนตัวที่เสนอกรรมาธิการ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

อาจกล่าวได้ว่างานชิ้นท้ายสุดของผมในฐานะสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาชุดแรกคืองานปกป้องแผ่นดินที่ทำมาตั้งแต่ปี 2551 แต่ยังไม่สำเร็จ

วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 นี้น่าจะเป็นวันประชุมครั้งสุดท้ายของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชารวม 3 ฉบับ รัฐสภา ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 โดยชั้นแรกมีอายุการทำงาน 30 วัน ต่ออายุไปแล้วครั้งหนึ่ง 90 วัน จะครบกำหนดการทำงานในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2554 นี้

คณะกรรมาธิการมีความเห็นร่วมกันว่าจะจัดทำรายงานเสนอต่อประธานรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติว่าจะเสนอแนะให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบหรือไม่ ด้วยหลายเหตุผล โดยเหตุผลหนึ่งก็คือข้อมูลยังไม่พอ มีเอกสารหลายรายการที่กระทรวงการต่างประเทศยังไม่อาจจัดส่งให้ได้ เพราะเป็นเอกสารลับ

แต่จะให้กรรมาธิการทุกท่านเสนอความเห็นส่วนตัวมาเพื่อพิจารณาบันทึกไว้ในรายงานได้ โดยกำหนดเส้นตายไว้เป็นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ผมได้ขอต่อรองกับเจ้าหน้าที่ขอเลื่อนส่งออกไป 1 วัน คือส่งภายในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554

ผู้รับผิดชอบยกร่างรายงานคือดร.รัชดา ธนาดิเรก เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ

ก่อนผมพ้นวาระการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาประเภทสรรหาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2550 ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ส่งความเห็นส่วนตัวไปยังกองเลขานุการของคณะกรรมาธิการฯทางจดหมายอิเลคโทรนิคส์

ต่อไปนี้เป็นรายละเอียด

........

ความเห็นส่วนตัวของนายคำนูณ สิทธิสมาน

หลักการพื้นฐาน

ผมไม่เห็นด้วยกับบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ และเห็นว่าสมาชิกรัฐสภาไม่ควรลงมติให้ความเห็นชอบกับบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับ เพราะเจบีซีเป็นผลผลิตจากกรอบเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา 2 กรอบที่รัฐสภาอนุมัติไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ซึ่งผมเป็นหนึ่งใน 7 และ 8 เสียงที่ลงมติคัดค้านในครั้งนั้น

เหตุผลที่ไม่เห็นด้วยและคัดค้านเพราะ....

1. ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำหลักเขตแดนใหม่ (Demarcation) ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อันจะมีผลทำให้ต้องมีการจัดทำหลักเขตแดนขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณระยะทาง 195 กิโลเมตรจากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย ทั้ง ๆ ที่สยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันตั้งแต่เมื่อกว่า 100 ปีก่อนแล้วว่าสันปันน้ำตามธรรมชาติที่เป็นข้อตกลงหลักสำคัญในการปักปันเขตแดน (Delimitation) ระหว่างไทยกับกัมพูชา ตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ในช่วง 195 กิโลเมตรนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา หลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่จัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อนที่มี 73 หลักจึงเริ่มต้นจากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ลงมาจนถึงจังหวัดตราด

การตกลงจัดทำหลักเขตแดนใหม่ในบริเวณที่ไม่เคยมีหลักเขตแดนมาก่อนเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนในอนาคต เพราะเท่ากับยอมสละเส้นสุดขอบหน้าผาที่เป็นสันปันน้ำเดิมมาตลอดกว่า 100 ปีโดยปริยาย

2. ไม่เห็นด้วยกับการเจรจาภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจฯปี 2543 และ TOR ปี 2546 ที่ไปยอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดพิมพ์ขึ้นในปีค.ศ. 1908 ไว้ในข้อ 1 (ค) ให้ขึ้นมาอยู่บนโต๊ะเจรจาด้วย เพราะจะทำให้แผนที่ทั้ง 11 ระวาง รวมทั้งระวางดงรักที่ทำให้ไทยสูญเสียปราสาทพระวิหารจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเมื่อปี 2505 กลับมาอยู่บนโต๊ะเจรจาอีกครั้ง แม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศว่าข้อ 1 (ค) ไม่ได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรัก แต่กัมพูชาไม่ได้ยึดถือเช่นนี้แม้แต่น้อย

เมื่อประกอบกับเหตุผลในข้อ 1 ข้างต้น จะมีผลให้แผ่นดินไทยบริเวณปราสาทพระวิหารแปรสภาพจากแผ่นดินไทยกลายเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ หรือพื้นที่ทับซ้อน ทันทีที่มีบันทึกความเข้าใจฯ 2543

3. ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงชั่วคราวในการถอนทหาร หรือปรับกำลัง บริเวณรอบปราสาทพระวิหาร หรือบริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสะวารา เพราะเป็นแผ่นดินไทยที่กัมพูชารุกรานเข้ามาตั้งแต่อย่างน้อย ๆ ปี 2541 แม้จะเป็นการปรับกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่ายออก แต่ไม่ได้มีการพูดถึงชุมชนและวัดของกัมพูชาแม้แต่น้อย หากตกลงข้อนี้จะมีผลทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความสงบเข้าเงื่อนไขความเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ของปราสาทพระวิหารทันที และจะนำไปสู่การเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ของคณะกรรมการ ICC ที่มี 7 ชาติ โดยไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 7 ชาตินั้นเท่านั้น

4. ไม่เห็นด้วยกับบันทึกการประชุมที่มีรายงานการกล่าวคำปราศรัยของประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชาที่กล่าวหาว่าประเทศไทยรุกรานกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 และหลังจากนั้น โดยที่ประธานเจบีซีฝ่ายไทยไม่ได้ตอบโต้คัดค้านหรือชี้แจงความจริงแต่ประการใด

เหตุผลทั้ง 4 ประการประกอบกัน จะมีผลทำให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนในทางปฏิบัติต่อเนื่องจากอดีตในทันที

และอาจจะมีผลให้ไทยต้องเสียดินแดนตามกฎหมายในอนาคต


รายละเอียด

ผมขอสนับสนุนความเห็นของ อาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม และดร.สุวันชัย แสงสุขเอี่ยม ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ ที่จะได้ส่งความเห็นต่อคณะกรรมาธิการฯต่อไป

.........

ทีแรกตั้งท่าไว้เป็นข้อเขียนค่อนข้างยาว แต่มาคิดทบทวนดูขอเป็นความเห็นฟันธงโดยสรุปจะเหมาะสมกว่า เพราะในรายละเอียดทั้งหมดไม่น่าจะหลุดรอดไปจากข้อเขียนของอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 ท่านไปได้

ยังไม่แน่ครับว่าบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับจะกลับเข้ารัฐสภาอีกเมื่อไร ?

และผลจะเป็นอย่างไร ??

คุณูปการของการต่อสู้ทั้งในสภาและนอกสภา ทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นสาธารณะที่ใหญ่ขึ้นกว่าเมื่อปี 2551 มาก สมาชิกรัฐสภาหลายคนเริ่มเห็นปัญหา ผมเชื่อว่าเสียงคัดค้านและการงดออกเสียงจะมีมากขึ้นกว่าเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 แน่นอนที่กรอบการเจรจา 2 กรอบผ่านรัฐสภาไปด้วยเสียงเห็นชอบกว่า 400 เสียงคัดค้านมีแค่ 7 และ 8 เสียงเท่านั้น

ต้องช่วยกันรณรงค์ต่อไปครับ !

และไม่ว่าท่านจะเชื่อในการเมืองระบบรัฐสภาหรือไม่ แต่ในกรณีนี้การรณรงค์โดยตรงต่อสมาชิกรัฐสภายังเป็นสิ่งจำเป็นครับ !!

กำลังโหลดความคิดเห็น