xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาไทยกับเขมร : พิสูจน์ธาตุแท้ผู้นำพาล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คนพาล ประกอบด้วยลักษณะ 3 ประการคือ

1. ไม่เห็นโทษล่วงเกิน (ที่ตนทำ) เห็นโทษแล้วไม่ทำคืน (ขอโทษ) เมื่อผู้อื่นแสดงโทษล่วงเกินไม่ยอมรับ

2. ตั้งปัญหาโดยไม่แยบคาย ตอบปัญหาโดยไม่แยบคาย เมื่อผู้อื่นตอบปัญหาโดยแยบคายไม่อนุโมทนา (ไม่ยอมรับว่าถูกต้อง)

3. มีการกระทำทางกาย ทางวาจา และทางใจ อันเป็นอกุศล อันเป็นโทษ และอันเป็นการเบียดเบียน นี่คือส่วนหนึ่งของพุทธพจน์อันเกี่ยวเนื่องด้วยลักษณะของคนพาล ซึ่งปรากฏในพระไตรปิฎก ติกนิบาต ปัณณาสก์ พาลวรรค

จากพุทธพจน์ดังกล่าวข้างต้น อธิบายขยายความโดยยึดเนื้อหาและสาระเป็นภาษาง่ายๆ ได้ดังต่อไปนี้

ลักษณะประการที่หนึ่ง หมายถึงว่า คนพาลไม่เห็นโทษในความผิด ความเลวที่ตนเองทำ หรืออีกนัยหนึ่งทำผิดโดยไม่รู้ว่าเป็นความผิด แต่ครั้นรู้ในภายหลังว่าเป็นความผิดก็ไม่แก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้อง ในขณะเดียวกัน เมื่อคนอื่นทำความผิด และมีผลกระทบต่อตนเอง แล้วรู้สึกว่ากระทำผิดได้แสดงการขอโทษ ก็ไม่ให้อภัย

ลักษณะประการที่สอง หมายถึงว่า มีการตั้งปัญหาถามโดยไม่รอบคอบ รัดกุม ครอบคลุมในทุกเงื่อนไขที่ควรจะหยิบยกขึ้นถาม และในทำนองเดียวกัน เมื่อคนอื่นตั้งปัญหาตนก็ตอบโดยไม่รอบคอบ รัดกุม และครอบคลุมในทุกแง่มุมแห่งปัญหา แต่ครั้นคนอื่นตอบปัญหาของตนโดยรอบคอบ รัดกุม ถูกต้องในทุกประเด็น ก็ไม่ยอมรับว่าถูกต้อง

ลักษณะประการที่สาม หมายถึงว่า คนพาลจะมีพฤติกรรมอันเป็นทุจริต ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ทำชั่ว พูดชั่ว และคิดชั่ว นั่นเอง

ถึงแม้ว่ากาลเวลาได้ผ่านไปแล้วถึง 2,553 ปี และย่างเข้าปี 2554 คำสอนของพระพุทธเจ้าก็ยังคงเป็นอมตธรรม คือเป็นคำสอนที่ไม่ตาย และเกี่ยวกับลักษณะของความเป็นคนพาล 3 ประการที่ว่ามานี้ เห็นได้ชัดเจนจากการตอบโต้เกี่ยวกับชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างบุคลากรในภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศบางส่วนที่พูดเรื่องเดียวกันด้วยมุมมองที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ประเด็น คือ MOU 2543 และคนไทย 7 คนที่ถูกทหารเขมรจับกุมนำตัวไปขึ้นศาลเขมร

อะไรคือข้อแตกต่างระหว่างพันธมิตรฯ กับบุคลากรในภาครัฐ และข้อแตกต่างอันใดที่เข้าข่ายแห่งความเป็นพาล ตามนัยแห่งคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 ประการที่ยกมาข้างต้น

เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นประเด็นแห่งความแตกต่าง ซึ่งถือได้ว่าความเห็นต่างที่ว่านี้จัดอยู่ในประเภทของคนพาล ผู้เขียนใคร่ขอให้ย้อนไปดูจุดเริ่มต้นแห่งการมองเห็นต่าง และออกมาตอบโต้กัน

เริ่มด้วย MOU 2543 ทางพันธมิตรฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก ด้วยเหตุผลว่าจะเป็นเหตุให้เขมรนำไปอ้างในการเจรจาปักปันเขตแดน รวมไปถึงการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งประเทศไทยปฏิเสธไม่ยอมรับตลอด ก่อนหน้าที่ประเทศไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลประชาธิปัตย์ จะตกลงทำบันทึกความเข้าใจในปี พ.ศ. 2543

แต่ในประเด็นเดียวกันนี้ บุคลากรในภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ผู้นำฝ่ายบริหาร ได้มองว่า MOU 2543 มีประโยชน์ต่อประเทศไทยในการป้องกันมิให้เขมรยึดครองดินแดนของประเทศไทยได้ รวมไปถึงทำให้เขมรไม่สามารถขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวได้ด้วย ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงเขมรได้รุกล้ำแผ่นดินไทยในหลายๆ จุด แต่ที่เห็นชัดและเป็นรูปธรรมก็คือ บริเวณพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารที่เขมรได้จัดตั้งชุมชนและวัด รวมไปถึงการเชิญธงเขมรขึ้นเสาแสดงเขตการยึดครองได้อย่างชัดเจน และประเทศไทยได้แค่ยื่นหนังสือประท้วง ส่วนประท้วงแล้วเขมรจะยอมถอนหรือไม่ก็เป็นเรื่องหนึ่ง

และในเรื่องนี้ ผู้เขียนเชื่อเหมือนที่คนไทยหลายๆ คนเชื่อว่า เขมรไม่ทำตาม และที่เชื่อเช่นนี้ก็ด้วยที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประท้วงในลักษณะเช่นนี้มาแล้วนับสิบครั้ง แต่เขมรก็ยังคงดื้อแพ่งเหมือนเดิม

ประเด็นเกี่ยวกับคนไทย 7 คนถูกเขมรจับด้วยอ้างว่าทั้ง 7 คนรุกล้ำดินแดนเขมร แต่ทั้ง 7 คนที่ถูกจับกุมก็ยืนยันว่าถูกจับในเขตแดนของไทย และไม่ยอมรับข้อกล่าวหาของรัฐบาลเขมร แต่ในที่สุดก็ถูกนำตัวขึ้นศาลเขมรจนได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้ทางกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็ได้ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทำตามในเงื่อนไข 3 ข้อ คือ

1. ให้ยกเลิก MOU 2543 และจัดทำขึ้นใหม่โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่เสียเปรียบแก่กันในเรื่องการปักปันเขตแดน

2. ให้ประเทศไทยถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกประเทศภาคีมรดกโลก

3. ให้เขมรออกไปจากประเทศไทยในทุกจุดที่เขมรบุกรุก

อนึ่ง ในการชุมนุมได้มีการนำหลักฐานมาแสดงให้รัฐบาลเห็นว่าคนไทยทั้ง 7 คนถูกจับในเขตแดนไทย โดยผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน และแต่ละท่านน่าเชื่อถือ

แต่หลายคนจากภาครัฐได้บิดเบือนและพยายามจะบอกว่าคนไทยเดินล้ำเข้าไปในเขตแดนเขมรจึงถูกจับกุม พร้อมกับแสดงความอ่อนแอด้วยการขอร้องรัฐบาลเขมรให้รีบดำเนินการทางศาล และในขณะเดียวกันก็แสดงการเอื้ออำนวยช่วยเหลือในเรื่องแก้ต่างในทางคดีให้ ซึ่งทั้งหมดที่ทำคือการยอมรับอำนาจอธิปไตยของเขมรเหนือดินแดนไทย อย่างนี้เรียกได้ว่าเข้าข่ายคนพาล 3 ประการอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 และข้อ 2
กำลังโหลดความคิดเห็น