ศูนย์ข่าวนครราชสีมา- “มทภ.2” ยัน “วัดแก้วฯ” สร้างก่อน MOU 43 ทำได้แค่ประท้วงห้ามต่อเติมอีก รับหมดปัญญาปลดธงชาติกัมพูชาเหนือวัดแก้วฯ อ้างธงเป็นเรื่องสำคัญเขมรไม่ยอมและไม่ได้ปักลงพื้นดิน ชี้ทางออกขัดแย้งดินแดนเขาพระวิหารหนุนไทยเสนอ “สระตราว-ภาพสลักนูนต่ำ-สถูปคู่” เป็นมรดกโลกคู่เขมร ฝันหวังบริหารจัดการพื้นที่ 4.6 ตร.กม.ร่วมกัน สุดท้ายพื้นที่พิพาทตกเป็นของโลก โวกำลังพลทหารไทยตรึงชายแดนมากกว่าเขมร ถูกยิงก่อนตอบโต้ทันที ย้ำทหาร 2 ฝ่ายสัมพันธ์ดี โทษกระแสแรงเพราะคนบางกลุ่มไปอยู่ข้างถนน มีความคิดสุดโต่ง แถมซ้ำเติม 2 คนไทยเจอคุกหนัก เหตุ “วีระ” โวยวายในศาลเขมร
วันนี้ (3 ก.พ.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีวางพวงมาลา สดุดีวีรกรรมเชิดชูเกียรติทหารผ่านศึก เนื่องในวันทหารผ่านศึกประจำปี 2554 ถึงกรณีที่กระทรวงการต่างประเทศออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กัมพูชารื้อถอนวัดแก้วสิขาคีรีสวาระ บนเขาพระวิหาร และปลดธงกัมพูชาเหนือวัดแก้วสิขาคีรีสวาระออกว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ทำการประท้วงตามหลักการ MOU 43 (บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543) เมื่อมีการลงนามร่วมกันใน MOU 43 แล้ว ฝ่ายใดจะไปทำอะไรในพื้นที่ใกล้แนวชายแดนในระยะ 500 เมตร ทั้ง 2 ฝั่งจากหลักสมมติจะทำไม่ได้
ส่วนใหญ่ฝ่ายไทยเราจะไม่ทำเพราะส่วนใหญ่เป็นป่าและเขตอุทยานฯ หรือป่าสงวนแห่งชาติ แต่ฝั่งของกัมพูชา เมื่อจุดใดมีความเจริญก็พยายามก่อสร้างขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่ทำกินเขามีน้อยเขาก็เข้ามาจัดสรรที่ทำกินหรือแบ่งขายกันเองบ้าง ซึ่งเราได้ทำการประท้วงไปแล้ว แต่ทั้งนี้จะไม่ให้เกินเส้นที่เราสมมติไว้ คือ 1 ต่อ 50,000 ใน L 7107 ที่เรายึดถืออยู่
ในส่วนของวัดแก้วสิขาคีรีสวาระนั้น ได้มีการพูดคุยกันไปแล้วว่าไม่ให้ทำอะไรเพิ่มเติมอีก ซึ่งความจริงแล้ววัดแก้วฯ ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2541 ถ้าจำไม่ผิด คือจะเป็นของใครก็ต่อเมื่อ เจบีซี (คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา) ตกลงกันเรื่องการปักปันดินแดนเสร็จสิ้นแล้วจึงจะรู้ว่าเป็นของใคร ในตอนนี้ก็เป็นของทั้ง 2 ฝ่าย เพียงแต่ว่าเขมรเขาอาจคิดว่าเป็นของเขาเลย
อันนี้เป็นแนวความคิด เราไปห้ามเขาไม่ได้ในส่วนนี้ แต่จะเป็นของใครแน่นอนมี 2 วิธี คือ จากการปักปันเขตแดนโดยคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา แต่เรื่องนี้ความเป็นไปได้ โดยส่วนตัวเห็นว่ามันเริ่มนับ 1 ลำบาก เพราะว่ามันใช้แผนที่คนละฉบับ ส่วนไทยเรายึดหลักสันปันน้ำ แต่ฝ่ายเขายึดแผนที่ 1 ต่อ 200,000
ทั้งนี้ เรามีข้อเสนอ โดยทางกระทรวงการต่างประเทศ และกรมศิลปากร จะเริ่มดำเนินการ โดยฝ่ายเราจะขอขึ้นทะเบียนสระตราว ภาพสลักนูนต่ำ และสถูปคู่ เป็นมรดกโลกเช่นกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 ปี เพราะมีเป็น 100 ประเทศที่อยากขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่มีโอกาสดีหรือไม่ก็ต้องดูอีกที ซึ่งเท่าที่ทราบปัจจุบันเขารับหลักการคร่าวๆ ไปแล้ว แต่หากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปก็อาจทำให้เขาเปลี่ยนไปหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจ
เมื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลกแล้ว เราก็ทำแผนบริหารจัดการร่วมกัน มันจะทับในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) เหมือนกัน แต่เมื่อทับกันแล้วฝ่ายเขาก็มีปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ส่วนฝ่ายเราก็มีส่วนประกอบที่เป็นสระตราว ภาพสลักนูนต่ำ และ สถูปคู่เป็นมรดกโลก
“ฉะนั้นมันก็อยู่ใน 4.6 ตร.กม. ซึ่งไม่เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง ก็เป็นของโลกไป เป็นแผนบริหารจัดการร่วมกัน พัฒนาร่วมกัน จะทำอะไรก็แบ่งครึ่งทั้งคู่ น่าจะวิน-วินด้วยกัน” พล.ท.ธวัชชัยกล่าว
สำหรับการต่อเติมวัดแก้วฯ หลังลงนาม MOU 43 นั้น ฝ่ายกัมพูชาก็ไม่ได้สร้างอะไรมาก หลังคาวัดก็ยังเป็นสังกะสี เพียงแต่ปูพื้นกระเบื้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ขึ้นมาวัดเท่านั้นซึ่งเรื่องนี้เราได้ทำการทักท้วงไปแล้ว ส่วนเรื่องอื่นที่เป็นเรื่องเล็กน้อยเราก็ไม่อยากไปยุ่งมาก เช่นเดียวกับถนนที่สร้างขึ้นมาเขาพระวิหาร ที่เราเคยประท้วงไปเขาก็ไม่ได้ก่อสร้างเพิ่มเติม เพียงแต่ซ่อมแซมอันเก่าที่มีอยู่เท่านั้น
พล.ท.ธวัชชัยยังกล่าวถึงกรณีการปักธงกัมพูชาเหนือวัดแก้วสิขาคีรีสวาระว่า ถ้าเป็นธงของทั้ง 2 ฝ่ายใครจะไปปักธงใคร ก็ไม่เป็นไรในส่วนนี้ เพราะปัจจุบันเขาไม่ได้ปักธงหน้าประตูวัด แต่ติดไว้บนซุ้มประตูวัด ถ้าไปปักบนพื้นดินก็จะมีเรื่องลามปามไปมากกว่านี้ ซึ่ง เดิมทีมันก็เป็นธงเก่าๆ พอไทยเราพูดถึงเรื่องนี้มาก เขาเลยเปลี่ยนเป็นธงใหม่เลย เมื่อประสานเขา เขาก็เห็นว่าเรื่องธงเป็นเรื่องสำคัญของชาติ ฝ่ายไทยเราก็เลยไปปักบ้างบริเวณสถูปคู่ เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่บนวัดแก้วฯ เราไม่ได้ไปปัก เพราะไม่อยากไปปักให้มันมีปัญหา
“บางครั้งเราก็ต้องดูขีดจำกัดด้วย เมื่อเราไปขอร้องเขาได้อย่างหนึ่งแล้วจะเอาอย่างที่ 2 อีก ซึ่งความจริงแล้วเราเป็นเพื่อนบ้านกัน เขาไม่ได้เป็นลูกน้องเรา ก็อยากให้เข้าใจในส่วนนั้น ให้รอเวลาสักนิดหนึ่งหากมีแนวทางสันติได้มันก็เป็นสิ่งที่ดี เพราะถ้าเราไปบังคับเขามันคงมีปัญหา อย่างเราไปรบที่ไหนธงชัยเฉลิมพลต้องรักษาไว้ สมมติไปหนึ่งกองพัน คนสุดท้ายที่ยังไม่ตายต้องไปถือธงตรึงอยู่ คือเป็นศักดิ์ศรีของชาติในส่วนนี้ ก็อย่างที่ผมเคยเรียนไว้ว่าเราไม่สามารถเอาเขมรกับไทยแยกออกจากกันได้ และคนที่เดือดร้อนจริงๆ คือประชาชนตามแนวชายแดน 800 กว่ากิโลเมตร ส่วนพวกเราอยู่ในเมืองเราไม่เดือดร้อนอะไร เพราะไม่ได้ไปหากินในแนวตรงนั้น” พล.ท.ธวัชชัยกล่าว
ต่อข้อถามกรณีฝ่ายกัมพูชาระดมกำลังทหารพร้อมอาวุธหนักมาประชิดแนวชายแดนจำนวนมากนั้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร พล.ท.ธวัชชัยกล่าวว่า จะมากอย่างไรคงไม่มากเท่ากับกำลังของฝ่ายไทยเรา ซึ่งกำลังพลเรามีอยู่มาก แต่เราไม่ได้ไปเคลื่อนไหวอะไร ส่วนใหญ่เราทำในเรื่องลับๆ
สำหรับการขุดหลุมทำบังเกอร์นั้น เวลาฝึกเราก็ต้องขุดหลุมทำบังเกอร์ไว้ คือในส่วนของทหารนั้น แต่ละปีจะมีทหารเกณฑ์เข้ามาใหม่ รวมทั้งอาสาสมัครด้วย เราก็ฝึกทั้งวินัยและการปฏิบัติ เมื่อเข้าไปในสนามรบก็ต้องฝึกขุดหลุมบังเกอร์ซึ่งขุดกันทุกปี แต่ฝึกเสร็จก็ฝังกลบ ฉะนั้นในทุกปีมันก็จะมีการขุดแล้วกลบ ขุดแล้วกลบเช่นนี้ เพื่อกำลังพลจะได้รู้ว่าถ้าข้าศึกมาเราจะหลบอย่างไรต่างๆ เป็นการสอนพื้นฐานให้เขา
“ความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ยังดีอยู่ โดยเฉพาะผู้นำทหารได้มีการพูดคุยหารือกันตลอด แต่กระแสเราแรงเนื่องจากมีกลุ่มบางกลุ่มไปอยู่ข้างถนนแล้วก็พูดไปเรื่อย ก็ให้ไปคิดดูว่าถ้าอยู่บ้านเขาแล้วด่าเราทุกวันเราก็มีความโกรธเช่นกัน ทั้งที่เขารู้ว่ารัฐบาลเราไม่ได้เป็นคนทำ แต่ทำไมไม่ห้ามเขาก็ฝากถามมาเช่นกัน ซึ่งในส่วนของผมไม่สามารถไปตอบส่วนนั้นได้ แต่ยืนยันไปว่าพวกนั้นเขาอาจมีความคิดสุดโต่งในส่วนนี้” พล.ท.ธวัชชัยกล่าว
ส่วนกรณีที่ศาลกัมพูชาตัดสินลงโทษจำคุก 2 คนไทย คือ นายวีระ สมความคิด และ น.ส. ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ค่อนข้างรุนแรงนั้น ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชาให้ตึงเครียดมากกว่าเดิมหรือไม่ พล.ท.ธวัชชัยกล่าวว่า จริงๆ แล้วคนไทยติดคุกในกัมพูชามีเยอะมาก ไม่ใช่เฉพาะ 2 คนนี้ที่มีปัญหาเท่านั้น แล้วทำไมคนอื่นไม่มีปัญหาในส่วนนี้ จริงๆ แล้วถ้าเราดูพฤติกรรมของคุณวีระ เมื่อขึ้นไปอยู่บนศาลต้องให้เกียรติในส่วนนั้นด้วย คิดว่าถ้าศาลไทยก็คงตัดสินเหมือนกัน เพราะท่านไปโวยวาย เสียงดัง คือมารยาทในศาลเท่าที่ทราบคือต้องรับฟังอย่างเดียว ซึ่งอาจมีส่วนทำให้จำนวนปีเพิ่มขึ้นหรือไม่ตนไม่ทราบ บางครั้งเราต้องให้เกียรติเขา เพราะศาลเป็นสถาบันสูงสุดของแต่ละประเทศที่จะกำกับดูแลเรื่องกฎหมาย
ต่อข้อถามที่ว่าหลายฝ่ายเป็นห่วงว่าเมื่อสถานการณ์ตึงเครียดมาก อาจทำให้มีการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับกัมพูชานั้น พล.ท.ธวัชชัยกล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ไกล สรุปว่าถ้าเขายิงก่อนก็มีปะทะแน่ แต่ถ้าเขาไม่ยิงเราก็กำกับดูแลอยู่แล้ว คือเมื่อมีการยิงมาเราก็ต้องป้องกันตัวในส่วนนี้