xs
xsm
sm
md
lg

ยกเลิกMOU43อภิสิทธิ์จะยอมเสียหน้าหรือเสียแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธงกัมพูชาหน้าวัดแก้วฯ ที่ฝ่ายกัมพูชายืนยันไม่ยอมถอนเด็ดขาด
ผู้จัดการออนไลน์ - แถลงการณ์ตอบโต้ระหว่างกัมพูชากับไทย โดยเฉพาะกรณีกัมพูชาปฏิเสธปลดธงกัมพูชาออกจากหน้าวัดแก้วสิกขาคีรีศวร ทั้งยืนยันวัดแก้วฯตั้งอยู่บนดินแดนของกัมพูชา และย้ำว่าไทยยอมรับแผนที่ 1:200,000 เป็นการตบหน้าผู้นำรัฐบาล ผู้นำทหารและกระทรวงการต่างประเทศ ที่เชื่อมั่นว่า MOU 43 คือข้อตกลงอันศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อไทย ถึงเวลานานแล้วที่ “อภิสิทธิ์” ควรตัดสินใจเลิก MOU ฝ่ายเดียวตามอนุสัญญาเวียนนาฯ มาตรา 56

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ม.ค.54) รัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ยืนยันวัดแก้วฯอยู่ในดินแดนของกัมพูชา และปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงที่จะปลดธงชาติกัมพูชาลง มิหนำซ้ำยังอ้างว่า ตามมาตรา 1(C) ของ MOU 43 นั้น ไทยได้ยอมรับแผนที่ 1: 200,000 ดังกล่าวในการกำหนดเขตแดนแล้ว หลังจากนั้นอีก 3 วันถัดมา (31 ม.ค.54) กระทรวงการต่างประเทศของไทย จึงได้ออกแถลงการณ์ 4 ข้อ ให้กัมพูชารื้อถอนวัดแก้วสิกขาคีรีศวร ปลดธงชาติกัมพูชาลง และไม่ยอมรับข้ออ้างของฝ่ายกัมพูชาว่าแผนที่ 1:200,000 เป็นเอกสารกำหนดเขตแดนดังกล่าวอ้าง

ถ้อยแถลงล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศของไทย เป็นการยอมรับอย่างสิ้นสงสัยว่า MOU 43 ไร้ความหมายเพราะกัมพูชาได้ละเมิดและไม่สนใจเสียงประท้วงใดๆ จากฝ่ายไทย อีกทั้งยังได้ลบล้างความเชื่อของผู้นำรัฐบาลไทย ผู้นำทหาร และกระทรวงการต่างประเทศของไทยเอง ที่มักกล่าวอ้างเสมอว่า MOU 43 มีประโยชน์ต่อไทย เพราะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า MOU 43 นอกจากจะไม่ได้มีประโยชน์ต่อไทยแล้ว ยังทำให้ไทยเสียดินแดนให้กับกัมพูชาอีกด้วย

ทั้งนี้ ตามแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย ข้อ 3 ได้ระบุว่า “ประเทศไทยยืนยันว่า “วัดแก้วสิกขาคีรีศวร” ตั้งอยู่ในอาณาเขตไทย และเรียกร้องให้ประเทศกัมพูชารื้อถอนวัดแก้วฯ และปลดธงกัมพูชาที่ประดับเหนือวัดแก้วฯ ข้อเรียกร้องนี้เป็นการย้ำถึงการประท้วงหลายครั้งของไทยต่อกัมพูชาเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในวัดแก้วฯ และบริเวณโดยรอบ ซึ่งล้วนเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย”

นอกจากนั้น ยังตอกย้ำให้เห็นว่า MOU 43 ข้อ 5. ที่ระบุว่า “เพื่ออำนวยความสะดวกให้การสำรวจตลอดแนวเขตแดนทางบกร่วมกันเป็นไปอย่างมีประสิทธิผล หน่วยงานของรัฐบาลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานเหล่านั้นจะงดเว้นการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของพื้นที่ชายแดน เว้นแต่จะเป็นการดำเนินการของคณะอนุกรรมาธิการเทคนิคร่วมเพื่อประโยชน์ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน” นั้นเป็นแต่เพียงกระดาษเปื้อนหมึกที่กัมพูชาไม่ได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติเยี่ยงคู่สัญญาที่ดี

หากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐบาล รวมถึงบรรดานายทหาร กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะยอมเสียหน้าเพื่อรักษาแผ่นดินไทยโดยการยกเลิก MOU 43 มีข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่สามารถทำได้ทันที ตามอนุสัญญาเวียนนาฯ มาตรา 56

ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่า ตามอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969 ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับสนธิสัญญาเป็นการทั่วไป ได้กล่าวถึงการสิ้นสุดของสนธิสัญญาไว้ในมาตรา 56 ว่า สนธิสัญญาที่มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียว (Denunciation) หรือการถอนตัว (Withdrawal) ก็ไม่ตกอยู่ภายใต้การบอกเลิกฝ่ายเดียวหรือถอนตัวได้เว้นแต่รัฐภาคีจะได้มีเจตนาเช่นว่านั้น หรือสิทธิการบอกเลิกฝ่ายเดียวหรือการถอนตัวอาจจะถือได้จากลักษณะของสนธิสัญญานั่นเอง และการบอกเลิกฝ่ายเดียวนี้ รัฐภาคีจะต้องแจ้งไปยังอีกฝ่ายหนึ่งไม่น้อยกว่า 12 เดือน

“ฉะนั้น เมื่อ MOU มิได้มีข้อบทเกี่ยวกับการบอกเลิกฝ่ายเดียวไว้ การใช้สิทธิบอกเลิกฝ่ายเดียวก็ต้องเป็นไปตามมาตรา 56 แห่งอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญา ค.ศ. 1969”

เมื่อ MOU 43 มีข้อพิสูจน์ว่าไม่ได้มีประโยชน์ต่อไทย และไทยสามารถอ้างข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ยกเลิกบันทึกความเข้าใจฯ เจ้าปัญหานี้ฝ่ายเดียวได้โดยไม่ต้องรีรอว่ากัมพูชาจะเห็นด้วยหรือไม่ นับจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ อภิสิทธิ์ ว่าจะยอมเสียหน้าหรือยอมเสียแผ่นดิน ??

///////////////////////////

แถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชา

แถลงการณ์รัฐบาลกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2554 กระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ขอยืนยันถึงจุดยืนของกัมพูชา ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ว่า เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2447 ฝรั่งเศสและสยามได้ลงนามในอนุสัญญาจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อกำหนดขันธสีมาเขตแดนระหว่างอินโดจีนและสยาม ในช่วงเวลาระหว่างปี 2448-2451 คณะกรรมาธิการร่วมฝรั่งเศส-สยาม ได้จัดทำแผนที่รวม 11 แผ่น ทั้งนี้มีแผนที่กำหนดขันธสีมาเขตแดนในพื้นที่ 6 แห่ง ซึ่งมีพื้นที่ปราสาทพระวิหารรวมอยู่ด้วย

เมื่อปี 2497 ทหารไทยได้เข้ารุกรานดินแดนกัมพูชาและเข้าครอบครองปราสาทพระวิหาร วันที่ 6 ตุลาคม 2502 กัมพูชายื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก กรณีรุกรานดินแดนกัมพูชา โดยยึดตามแผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการฝรั่งเศส-สยาม เป็นสำคัญ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิพากษาเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ดังต่อไปนี้ “ปราสาทพระวิหารอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของกัมพูชา ประเทศไทยมีภารกิจถอนกำลังทหาร ตำรวจ กองกำลังรักษาชายแดน หรือผู้ดูแลอื่น ๆ ที่ทางการไทยได้ส่งมาประจำการในพื้นที่ปราสาทพระวิหาร หรือในพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ที่ตั้งอยู่ในดินแดนของกัมพูชา”

กระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศในนามรัฐบาลกัมพูชา ได้ยืนยันว่า มาตรา 1(C) ในบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับรัฐบาลไทยว่าด้วยการวัดและกำหนดเขตแดนทางบก ซึ่งลงนามเมื่อ 14 มิถุนายน 2543 ได้ยอมรับซึ่งแผนที่ตามที่ได้นำเรียนในข้างต้นว่า เป็นมูลฐานกฎหมายสำหรับภารกิจรังวัดและกำหนดเขตแดนระหว่างราชอาณาจักรกัมพูชากับราชอาณาจักรไทย
อ้างตามแผนที่ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการฝรั่งเศส-สยาม วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระที่ประชาชนกัมพูชาได้สร้างขึ้นเมื่อปี 2541 มีที่ตั้งอยู่ในดินแดนกัมพูชาอย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้การประดับธงชาติแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาภายในวัดนี้ ถือเป็นการชอบธรรมตามกฎหมาย

แถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของไทย

เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกแถลงการณ์ ตอบโต้กัมพูชา โดยระบุว่า

1.ตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 อนุสัญญาและสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ปี ค.ศ.1904 และ ค.ศ.1907 และเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้สัญญาทั้งสองฉบับ ถือเป็นเอกสารทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำหนดเขตแดน ดังนั้น ประเทศไทยจึงไม่ยอมรับข้ออ้างของกัมพูชาว่าแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เป็นเอกสารที่จะกำหนดเขตแดน

2.กัมพูชาได้ยอมรับในคำประกาศฉบับดังกล่าวว่า คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เมื่อปี 2505 (ค.ศ.1962) มิได้ตัดสินในเรื่องเส้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา

3.ประเทศไทยยืนยันว่า “วัดแก้วสิกขาคีรีศวร” ตั้งอยู่ในอาณาเขตไทย และเรียกร้องให้ประเทศกัมพูชารื้อถอนวัดแก้วฯ และปลดธงกัมพูชาที่ประดับเหนือวัดแก้วฯ ข้อเรียกร้องนี้เป็นการย้ำถึงการประท้วงหลายครั้งของไทยต่อกัมพูชาเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในวัดแก้วฯ และบริเวณโดยรอบ ซึ่งล้วนเป็นการละเมิดอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของราชอาณาจักรไทย

4.กระทรวงการต่างประเทศยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นของไทยที่จะแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา การกำหนดเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารยังคงเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจาภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น