xs
xsm
sm
md
lg

จับชีพจรหลังไทย-กัมพูชาปะทะเดือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุดคุ้มกันหมู่บ้านที่เฝ้าเวรยามด้วยสีหน้าเคร่งเครียด (แฟ้มภาพ)
***ชีวิตคนชายแดน

หลังสิ้นเสียงปืนใหญ่ที่สองฝ่ายระดมยิงใส่กันดุจห่าฝน ชีวิตชาวบ้านตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยทำมาหากินใช้ชีวิตอย่างปกติสุขก็ต้องกลายมาเป็น “ไทยอพยพ” หอบลูกจูงหลานหนีตายมาอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว ส่วนผู้อาสาเฝ้าหมู่บ้านก็คอยลุ้นระทึกว่าปืนใหญ่ที่สองฝ่ายยิงข้ามหัวชาวบ้านกันไปมานั้นจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ เนื่องจากมีกระแสข่าวให้เตรียมระวังอยู่ตลอดเวลา

แม้เหตุการณ์จะสงบลงและพวกเขาได้กลับบ้าน 2-3 วันแล้วหลังเหตุการณ์ระดมยิงปืนใหญ่เมื่อคืนวันที่ 6 ก.พ.ผ่านไป แต่ขวัญกำลังใจของชาวบ้านยังไม่ดีขึ้น พวกเขายังไม่มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุปะทะขึ้นมาอีก สภาพที่เห็นรถทหารวิ่งกันขวักไขว่ เสริมกำลัง เคลื่อนย้ายอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์สู้รบของฝ่ายทหาร ทำให้ชาวบ้านตามแนวชายแดนบางส่วนเลือกที่จะเข้ามาพักอยู่ที่บ้านญาติหรือศูนย์อพยพที่อำเภอซึ่งปิดไปแล้วในคืนวันที่ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น ส่วนกลางวันก็พากันกลับไปทำมาหาเลี้ยงชีพ ไปไร่ ไปนา ทำสวน ปลูกผัก แต่การ "ไปป่า" หรือไปไร่ของพวกเขาไม่ได้อยู่มืดค่ำเหมือนปกติ เพียงแค่บ่ายๆ พวกเขาก็กลับเข้าบ้านตามคำบอกของผู้ใหญ่บ้านที่ประกาศเสียงตามสายบอกลูกบ้านทุกเช้า
สภาพที่หลบภัยที่วางบนพื้นคลุมด้วยกระสอบทราย ซึ่งไม่ได้มาตรฐานต้านทานแรงลูกปืนใหญ่ไม่ได้ (ภาพจากมติชนออนไลน์)
“เฉพาะหน้าตอนนี้เราอยากให้สร้างหลุมหลบภัยให้ใหม่ เอาแบบขุดลึกลงไปแล้วใช้ท่อปูนวาง เทคอนกรีตทับข้างบนให้แข็งแรงได้มาตรฐาน เพราะที่มีอยู่แต่เดิมในทุกหมู่บ้านตลอดแนวตั้งแต่บ้านโศกขามป้อม ต.ภูผาหมอก จนถึงบ้านโดนเอาว์ จ.รุง เป็นที่หลบภับที่เอาท่อปูนตั้งบนดินแล้วเอากระสอบทราบวางทับ เมื่อดูวิถีกระสุนปืนใหญ่ และแรงระเบิดแล้วช่วยอะไรชาวบ้านไม่ได้หากลูกปืนใหญ่ตกลงใส่ก็ตายกันหมด ป้องกันอะไรไม่ได้” นายสายันต์ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) บ้านหนองอุดม ต.รุง อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ หนึ่งในหมู่บ้านที่ได้รับการประกาศเป็นเขตภัยพิบัติฉุกเฉินก่อนนี้ บอกถึงความต้องการของชาวบ้าน

นอกจากนั้น ชาวบ้านยังอยากให้มีการตั้งด่านตรวจหมู่บ้านตามแนวชายแดนทุกหมู่บ้าน โดยร่วมกันระหว่างทหาร อปพร. และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) เพื่อจะได้ตรวจตราบุคคลแปลกหน้าที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน ป้องกันการหาข่าวของฝ่ายตรงข้าม
ภาพแฟ้ม 23 ม.ค.2553 เด็กชายชาวกัมพูชาเดินผ่านบริเวณหนึ่งของปราสาทพระวิหาร แหล่งที่เกิดการปะทะครั้งล่าสุดในค่ำวันอาทิตย์ 6 ก.พ.2554 กัมพูชาออกแถลงในวันเดียวกันระบุว่า ปราสาทพระวิหารพังไป ปีกหนึ่ง จากการสู้รบ.-- AFP PHOTO/Tang Chhin Sothy.
***ปราสาทพระวิหาร มรดกโลก

ไม่ว่าเสียงปืนนัดแรกจะดังจากฝ่ายไหนก็ตาม สภาพการสู้รบที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมรดกโลกแห่งนี้กำลังจะกลายเป็นมรดกเลือดเหมือนที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าบนเขาพระวิหาร การสู้รบทำให้มรดกโลกแห่งนี้กลายเป็น “เขตอันตราย” ไม่มีความปลอดภัยใดๆ และหากสภาพเช่นนี้ยังคงอยู่โอกาสที่ปราสาทพระวิหารจะถูกถอดออกจากมรดกโลกก็มีความเป็นไปได้สูง หลังเหตุการณ์ปะทะยูเนสโกเตรียมส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหาย

ก่อนนี้ ฝ่ายไทยได้แจ้งเตือนยูเนสโกมาก่อนแล้วว่าการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร จะจุดชนวนความขัดแย้งของสองชาติ แต่สุดท้ายยูเนสโกก็รับรองให้ปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกตามคำขอของกัมพูชา เมื่อปี 2551เหลือแต่เพียงแผนการบริหารจัดการพื้นที่โดยรอบปราสาทที่ยังค้างอยู่เพราะฝ่ายไทยคัดค้าน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ 4.6 ตร.กม. และไทยเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อเรื่องเขตแดน เพราะกัมพูชาได้ยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารต่อยูเนสโกโดยใช้แผนที่ 1: 200,000 ซึ่งไทยไม่ยอมรับว่าเป็นเอกสารกำหนดเส้นเขตแดน

*** MOU เส้นเขตแดน และแผนที่

หลังเสียงปืนแตก สถานะของบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกปี 2543 หรือ MOU 43 และเส้นเขตแดนกับแผนที่ จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างใดหรือไม่

นาทีนี้ยังชัดเจนว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์ ไม่มีทีท่าว่าจะยอมเลิก MOU ตามเสียงเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรฯ แต่อย่างใด เพราะเชื่อว่ากลไกการแก้ไขปัญหาเขตแดนกับกัมพูชาภายใต้กรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือเจบีซี ที่ตั้งขึ้นภายใต้ MOU 43 จะสามารถเจรจาหาข้อตกลงร่วมกันในการกำหนดเส้นเขตแดนบริเวณปราสาทพระวิหารได้

แต่ความเชื่อของผู้นำไทยไม่รู้ว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าใด เพราะเอกสารหลักฐานที่สองฝ่ายยึดถือนั้นไม่ตรงกัน ฝ่ายไทยต้องการให้ยึดการแบ่งเส้นเขตแดนตามสนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1904 และ ค.ศ.1907 ที่ยึดสันปันน้ำ เป็นเส้นเขตแดน ส่วนกัมพูชายึดสนธิสัญญาดังกล่าวข้างต้นและแผนที่ที่คณะกรรมาธิการร่วมฝรั่งเศส-สยามได้จัดทำขึ้น 11 ระวาง หรือแผนที่ 1:200,000 ซึ่งไทยไม่ยอมรับนั่นเอง

ถึงวันนี้ ชาวบ้านริมชายแดนรอด้วยใจจดจ่อว่าการเจรจาของระดับนำทั้งสองฝ่าย และการเข้ามามีบทบาทขององค์กรระหว่างประเทศ จะนำความสงบสุขมาสู่ชาวบ้านอย่างยั่งยืนหรือไม่ หรือว่านับจากนี้ไปจะต้องอยู่กันอย่างอกสั่นขวัญแขวน
กำลังโหลดความคิดเห็น