xs
xsm
sm
md
lg

บันทึกการประชุมเจบีซี!

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ไม่ทราบเหมือนกันว่ารัฐบาลจะเร่งรัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อนำบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม-ไทยกัมพูชา หรือ JBC รวม 3 ฉบับเข้ามารวบรัดขอมติเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาในเร็ววันนี้หรือไม่ ข้ออ้างของรัฐบาลคือเพื่อให้การประชุม JBC ไทย-กัมพูชาครั้งต่อไปที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนมีนาคม 2554 นี้จะได้เดินหน้าแก้ปัญหาไปโดยสันติวิธี

หวังว่าจนถึงวันนี้สมาชิกรัฐสภาจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจมากขึ้น

ในหลักการสำคัญๆ ของปัญหานี้ ผมได้เขียนได้พูดไปมากแล้ว โดยเฉพาะในข้อเขียนชิ้นท้ายสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่จนถึงป่านนี้ก็ไม่เห็นนายกรัฐมนตรีตอบคำถามผมออกมาแต่ประการใดๆ

กลับมาว่าถึงบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม-ไทยกัมพูชา หรือ JBC รวม 3 ฉบับดีกว่าว่าถ้ารัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบไปอะไรจะเกิดขึ้น

1. การจัดทำหลักเขตแดนใหม่ (Demarcation) ตลอดแนวชายแดนไทย-กัมพูชาจะเดินหน้าต่อไป อันจะมีผลเสียหายใหญ่หลวงทำให้ต้องมีการจัดทำหลักเขตแดนขึ้นเป็นครั้งแรกในบริเวณระยะทาง 195 กิโลเมตรจากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ถึงช่องบก จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีบริเวณที่ตั้งปราสาทพระวิหารอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่สยามกับฝรั่งเศสได้ตกลงกันตั้งแต่เมื่อกว่า 100 ปีก่อนแล้วว่าสันปันน้ำตามธรรมชาติที่เป็นข้อตกลงหลักสำคัญในการปักปันเขตแดน (Delimitation) ระหว่างไทยกับกัมพูชา ตามอนุสัญญา ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 ในช่วง 195 กิโลเมตรนี้มีความชัดเจนอยู่แล้ว ไม่มีปัญหา หลักเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่จัดทำขึ้นเมื่อกว่า 100 ปีก่อนที่มี 73 หลักจึงเริ่มต้นจากช่องสะงำ จังหวัดศรีสะเกษ ลงมาจนถึงจังหวัดตราด

2. การเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2543 และ TOR 2546 ที่ไปยอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดพิมพ์ขึ้นในปี ค.ศ. 1908 ไว้ในข้อ 1 (ค) จะเดินหน้าต่อไป แม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศว่าข้อ 1 (ค) ไม่ได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรัก แต่กัมพูชาไม่ได้ยึดถือเช่นนี้แม้แต่น้อย

3. ร่างข้อตกลงชั่วคราวในการถอนทหาร หรือปรับกำลังบริเวณรอบปราสาทพระวิหาร หรือบริเวณวัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ จะเดินหน้าต่อไป ทั้งๆ ที่เป็นแผ่นดินไทยที่กัมพูชารุกรานเข้ามาตั้งแต่อย่างน้อยๆ ปี 2541 แม้จะเป็นการปรับกำลังทหารทั้ง 2 ฝ่ายออก แต่ไม่ได้มีการพูดถึงชุมชนและวัดของกัมพูชาแม้แต่น้อย หากตกลงข้อนี้จะมีผลทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีความสงบเข้าเงื่อนไขความเป็นมรดกโลกโดยสมบูรณ์ของปราสาทพระวิหารทันที และจะนำไปสู่การเข้ามาบริหารจัดการพื้นที่ของคณะกรรมการ ICC ที่มี 7 ชาติ โดยไทยจะเป็นเพียง 1 ใน 7 ชาตินั้นเท่านั้น

4. เท่ากับสมาชิกรัฐสภาไทยไปยอมรับบันทึกการประชุมที่มีรายงานการกล่าวคำปราศรัยของนายวาร์คิมฮง ประธานเจบีซีฝ่ายกัมพูชาที่กล่าวหาว่าประเทศไทยรุกรานกัมพูชาเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 และหลังจากนั้น โดยที่ประธานเจบีซีฝ่ายไทยไม่ได้ตอบโต้คัดค้านหรือชี้แจงความจริงแต่ประการใด ก็เท่ากับยอมรับโดยปริยายนั่นเอง แถมยังเป็นการยอมรับโดยรัฐสภาไทยตามรัฐธรรมนูญไทยเสียด้วย

รายละเอียดการแถลงของนายวาร์คิมฮงว่าประเทศไทยได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาและละเมิด MOU 2543 มีดังนี้

4.1 ในการประชุมสมัยวิสามัญ ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2551 มีข้อความบางตอนดังนี้

“ในช่วงที่ผ่านมาเร็วๆ นี้ รวมถึงปัจจุบัน เพื่อนชาวไทยได้ส่งกำลังทหารเข้ามาในพื้นที่ชายแดนและในบางโอกาสกำลังทหารเหล่านี้ได้รุกล้ำเข้ามาในดินแดนกัมพูชา อย่างไรก็ตาม กัมพูชายึดมั่นที่จะใช้ความอดกลั้นอย่างสูงสุดเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างสันติและฉันมิตร”

4.2 ในการประชุมสมัยสามัญ ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2552 มีข้อความบางตอนดังนี้

“ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2551 การละเมิดมาตรา 5 ของบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนไทย-กัมพูชา (MOU) พ.ศ. 2543 โดยทหารไทย ในพื้นที่ดงรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณปราสาทพระวิหาร ปราสาทตาเมือน ปราสาทตากราเบ็ย ฯลฯ ได้ก่อให้เกิดสถานการณ์ใหม่ที่ประเด็นยังคงค้างอยู่ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชายังยึดมั่นที่จะอดกลั้นที่สุดเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธีและฉันมิตร”

4.3 ในการประชุมสมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ระหว่างวันที่ 6-7 เมษายน 2552 มีข้อความบางตอนดังนี้


“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ปราสาทพระวิหารเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ยืนยันถึงสาระสำคัญของภารกิจที่คณะกรรมาธิการของเราทั้งสองจะต้องปฏิบัติให้ลุล่วงอย่างเร่งด่วนเท่าที่จะสามารถทำได้ในการแก้ไขปัญหาเขตแดนระหว่างประเทศทั้งสองซึ่งเป็นประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดความน่าเสียดายนี้ได้ก้าวไปถึงขั้นสูญเสียชีวิต สูญเสียทรัพย์ของประชาชนผู้บริสุทธิ์ และกระทบกระเทือนต่อบันไดทางขึ้นปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นมรดกโลกด้วยเช่นกัน เป็นการแสดงให้เห็นว่าข้อ 5 ในบันทึกความเข้าใจร่วม ปี 2000 ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้องแต่ประการใด และยังได้สร้างความตึงเครียดต่อปัญหาที่ทั้งสองฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขด้วย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกัมพูชายังคงรักษาความอดทนของตนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเขตแดนด้วยสันติวิธีและมิตรภาพ”

สมาชิกรัฐสภาไทยจะรับรองคำพูดเหล่าหนี้หรือ?

เหตุผลทั้ง 4 ข้อนี้สรุปง่ายๆ สั้นๆ ได้ว่าหากสมาชิกรัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบบันทึกการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ฉบับไปจะมีผลใหญ่หลวง

ท่านจะต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาให้รอบคอบ

การตกลงจัดทำหลักเขตแดนใหม่ในบริเวณที่ไม่เคยมีหลักเขตแดนมาก่อนเป็นการเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียดินแดนในอนาคต เพราะเท่ากับยอมสละเส้นสุดขอบหน้าผาที่เป็นสันปันน้ำเดิมมาตลอดกว่า 100 ปีโดยปริยาย

จะมีผลให้แผ่นดินไทยบริเวณรายรอบปราสาทพระวิหารแปรสภาพจากแผ่นดินไทยกลายเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ หรือพื้นที่ทับซ้อน โดยสมบูรณ์แบบ ที่จะต้องตกลงกันบนโต๊ะเจรจาโดยมีแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ขึ้นมาร่วมพิจารณาทันที

จะมีผลทำให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนในทางปฏิบัติต่อเนื่องจากอดีตในทันที ไทยจะถูกล็อกให้อยู่บนโต๊ะเจรจา ขณะที่กัมพูชาถูกล็อกให้อยู่บนแผ่นดินไทยส่วนที่รัฐไทยไม่กล้าเรียกว่าแผ่นดินไทย

โดยในท้ายที่สุดอาจจะมีผลให้ไทยต้องสูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนตามกฎหมายในอนาคต

กำลังโหลดความคิดเห็น