xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบันทึกประชุมสยาม-ฝรั่งเศส 103 ปีที่แล้ว : “สันปันน้ำอยู่ที่หน้าผา”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านเจ้าพระยา
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กัมพูชาซึ่งเป็นประเทศที่เล็กมากกว่าไทย มีแสนยานุภาพทางการทหารด้อยกว่าไทยอย่างเทียบกับไม่ได้ แต่กัมพูชากลับมีชั้นเชิงและเล่ห์เหลี่ยมแพรวพราวเหนือกว่าไทย จนทำให้ศักยภาพทางการทหารของไทยไม่สามารถนำมาใช้ผลักดันกัมพูชาได้ และไม่สามารถนำความแกร่งกล้าสามารถของทหารไทยมาใช้อำนาจต่อรองกับกัมพูชาได้อีกเลย เพราะฝีมือทางการทูตของกัมพูชาโดยแท้

เพราะถ้าประเทศไทยยืนยันในเส้นเขตแดนของตัวเอง ว่าอยู่ขอบหน้าผาซึ่งเป็นสันปันน้ำซึ่งได้ตกลงยืนยันไปแล้วในระหว่างการสำรวจและปักปันกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 สถานการณ์จะไม่เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

เส้นเขตแดนไทยกัมพูชานั้นได้จัดทำเสร็จสิ้นไปเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยกำหนดให้เส้นเขตแดนบริเวณทิวเขาดงรัก จากช่องสะงำ จ. ศรีสะเกษ จนถึง ช่องบก จ.อุบลราชธานี ความยาว 195 กิโลเมตร (รวมเขาพระวิหาร) นั้นให้ใช้ขอบหน้าผาเป็นสันปันน้ำและเส้นเขตแดนตามธรรมชาติ และสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงไม่ต้องทำหลักเขตแดนใดๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่างหลักฐาน “ผลงาน” การเดินสำรวจและปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศสได้แก่ เอกสารบันทึกการปาฐกถาของพันโท แบร์นาร์ด ประธานฝ่ายฝรั่งเศสของคณะกรรมการปักปันผสมสยามกับฝรั่งเศสชุดแรก ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญา ค.ศ.1904 ซึ่งได้แสดงที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2450 อ ความตอนหนึ่งว่า:


“ทางเหนือยอดภูเขาดงรัก เป็นเส้นเขตแดนที่เห็นได้อย่างถนัดชัดแจ้ง”


ปกติแล้วเส้นสันปันน้ำหากไม่ใช้ขอบหน้าผาแล้วจะมองเห็นด้วยตาเปล่าไม่ง่ายนักจึงย่อมต้องทำหลักเขตแดนเป็นสัญลักษณ์เอาไว้ แต่การที่ประธานสำรวจและปักปันฝ่ายฝรั่งเศส มองเห็นได้อย่างถนัดชัดแจ้งย่อมแสดงว่าต้องเป็นขอบหน้าผาเท่านั้นจึงจะสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้


หลักฐานอีกชิ้นหนึ่งก็คือบันทึกรายงานของ พันเอก มองกิเอร์ ประธานกรรมการฝ่ายฝรั่งเศสในคณะกรรมการปักปันผสมสยามกับฝรั่งเศส ชุดที่ 2 ซึ่งจัดตั้งขึ้นมาตามสนธิสัญญา ค.ศ. 1907 (พ.ศ. 2450) ได้ยืนยันตามผลงานการสำรวจและปักปันของคณะกรรมการชุดแรกว่าขอบหน้าผาคือสันปันน้ำอย่างชัดเจนว่า:


“เส้นเขตแดนเดินไปตามเส้นสันปันน้ำ ซึ่งอยู่ที่หน้าผาเห็นได้จากตีนภูเขาดงรัก”

นี่คือเหตุผลหลักในการตอบคำถามว่าทำไมคณะกรรมการปักปันสยาม-ฝรั่งเศส ชุดที่ 2 จึงเริ่มทำหลักเขตแดนทางบก “หมายเลข 1” ที่ ช่องสะงำ จ.ศรีสะเกษ ไปทางทิศตะวันตก จรดไปจนถึงจังหวัดตราดและตัวหลักเขตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไปทางทิศตะวันตก โดยปล่อยทิ้งด้านทิศตะวันออกจนถึงช่องบก จ.อุบลราชธานี ความยาวถึง 195 กิโลเมตรว่าไม่ต้องทำหลักเขตแดน เพราะสามารถเห็นหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากตีนภูเขาดงรัก

บันทึกผลประชุมระหว่างสยามกับฝรั่งเศส และรายงานเอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้นนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า “ผลงานของคณะกรรมการปักปัน” ที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่กลับไปไม่มีการกล่าวถึงว่าให้เป็นเงื่อนไขในการสำรวจเขตแดนใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 หรือ MOU 2543 แต่ประการใด


การไม่อ้างอิงถึง ผลบันทึกการประชุมระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเมื่อ 103 ปีที่แล้ว คือความผิดพลาดอันสำคัญในการทำ MOU 2543 แต่ MOU 2543 กลับไปยอมให้ แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ระบุว่าไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่จะต้องกล่าวถึงในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา ให้กลับมาอยู่ในเงื่อนไขของ MOU 2543 ว่าให้สำรวจและจัดทำหลักเขตแดนตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ได้ด้วย ทำให้ปัญหาบานปลายมาจนถึงทุกวันนี้


จากที่ไม่เคยต้องทำหลักเขตแดนทางบกบริเวณเขาพระวิหารเพราะมีหน้าผาเป็นเส้นเขตแดนตามธรรมชาติสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่ามาเป็นร้อยปีแล้ว ก็ต้องมากลับมาสำรวจเพื่อทำหลักเขตแดนกันใหม่!


จากที่เส้นเขตแดนตกลงกันระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเสร็จสิ้นมาเป็นร้อยปีแล้ว ก็ต้องมาและตกลงกันใหม่ระหว่างไทย-กัมพูชา!


เวลากัมพูชาไปออกแถลงการณ์ หรือ ร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการมรดกโลก องค์การยูเนสโก คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และ อาเซียนนั้น กัมพูชาอาศัย MOU 2543 เป็นฐานในการยืนยันอย่างชัดเจนว่า เส้นเขตแดนย่อมหมายถึงแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 แต่เพียงอย่างเดียว โดยอาศัยการบรรยายกฎหมายปิดปากเป็นใหญ่เหนือเหตุผลอื่นในคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในคดีปราสาทพระวิหารถึงเหตุผลที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ตัดสินให้ตัวปราสาทอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชานั้น เพราะสยามนิ่งเฉยและไม่ปฏิเสธแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ดังนั้นเมื่อปรากฏข้อความแผนที่ฉบับนี้ให้กลับมาผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาใน MOU 2543 แล้ว ไทย-กัมพูชาจึงย่อมต้องใช้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แต่เพียงอย่างเดียว

MOU 2543 จึงเสมือนขยายผลกฎหมายปิดปากในเรื่องแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ในคดีปราสาทพระวิหาร ซึ่งจากเดิมเป็นเพียงแค่การบรรยายเนื้อความที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบและไม่ใช่บทปฏิบัติการในคำพิพากษา ให้กลายเป็นข้อผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นครั้งแรก

ด้วยเหตุผลนี้ทำให้กัมพูชายืนยันมาโดยตลอดภายใต้ MOU 2543 ว่าหมายถึง “แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 และไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชาตามแผนที่ดังกล่าว” อีกทั้งพยายามดึงนานาชาติมาเป็นสักขีพยานให้มาเข้าข้างกัมพูชาตาม MOU 2543 โดยใช้เหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น

ส่วนฝ่ายไทยในเวทีนานาชาติต่อสู้ในเรื่อง MOU 2543 ว่า “การจัดทำหลักเขตแดนไม่แล้วเสร็จ” โดยฝ่ายไทยไม่ได้ยืนยันเส้นเขตแดนของตัวเองว่าอยู่ที่ใด

ที่ฝ่ายไทยไม่กล้ายืนยันว่าเส้นเขตแดนไทยอยู่ที่ใด อาจมีหลายเหตุผล เหตุผลแรกอาจเป็นเพราะไม่รู้เรื่องประสีประสาอะไร เหตุผลที่สองคือ ฝ่ายไทยไม่สามารถเถียงความหมายใน MOU 2543 สู้กัมพูชาได้จึงยอมจำนนแล้วใช้วิธีถ่วงเวลาแทน หรือเหตุผลที่สามคือมีการสมรู้ร่วมคิดเพื่อให้กัมพูชายึดครองดินแดนไทยได้โดยไม่ต้องมีกำหนดระยะเวลาและไม่ต้องผลักดันจึงไม่ต่อสู้ยืนยันเรื่องเส้นเขตแดนของตัวเอง

ลองคิดดูว่านานาชาติเมื่อเห็นเหตุผลในการใช้ MOU 2543 ของฝ่ายกัมพูชาและไทยรวมกันเช่นนี้ ย่อมทำให้นานาชาติหลงเข้าใจผิดว่า เส้นเขตแดนไทย-กัมพูชานั้นหมายถึง“แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 เพียงแต่ปัจจุบันยังทำหลักเขตแดนกันยังไม่เสร็จตามแผนที่ดังกล่าว”


ผลลัพธ์ก็เป็นอย่างที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้คือ ทหารอินโดนีเซีย ในนามตัวแทนอาเซียนกำลังจะลงมาเป็นสักขีพยานและผู้สังเกตการณ์ที่จะไม่ให้มีการปะทะกันระหว่างไทย-กัมพูชาอีก โดยไม่มีใครได้เห็นปัญหาว่า กัมพูชานั้นเป็นฝ่ายรุกรานและยึดครองดินแดนไทยอยู่

สิ่งที่คนไทยควรจะต้องตระหนักอย่างยิ่งก็คือ สภาพที่เป็นอยู่นี้ก็เสมือนว่าประเทศไทยได้สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนในทางปฏิบัติไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งวัดแก้วสิขะคีรีสะวารา, ภูมะเขือ และทางขึ้นตัวปราสาทพระวิหาร ฯลฯ โดยอาเซียนได้ส่งทหารอินโดนีเซียเข้ามาแทรกแซงเสมือนเป็นพยานในการห้ามใช้กำลังทหารไทยในการผลักดันกัมพูชาออกไป หากกัมพูชาไม่ได้ผลการเจรจาเรื่องเส้นเขตแดนตามที่กัมพูชาต้องการ กัมพูชาก็จะใช้สิทธิในการครอบรองดินแดนไทยไปชั่วนิรันดร์

ในทางตรงกันข้ามหากไม่มี MOU 2543 ประเทศไทยย่อมมิสิทธิ์อ้างข้อผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชา ตามรายงานผลบันทึกการประชุมสยาม-ฝรั่งเศส ที่ยืนยันเส้นเขตแดนของประเทศไทย และอาศัยกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 2 วรรค 7 และ กฎบัตรอาเซียน ข้อ 2 (F) ว่า สหประชาชาติ และอาเซียน ไม่มีอำนาจเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในอำนาจของรัฐไทยได้

แต่ที่ประเทศไทยทุกวันนี้ไม่ใช้กำลังผลักดัน ไม่ใช้กฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 2 วรรค 7 และ กฎบัตรอาเซียน ก็เพราะ MOU 2543 ที่ทำให้ไม่กล้ายืนยันว่า แผ่นดินไทยอยู่ที่ใด ใช่หรือไม่ !!!?
กำลังโหลดความคิดเห็น