ผ่าประเด็นร้อน
เสร็จสิ้นกันไปแล้วสำหรับการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อค่ำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย ผลก็คือ ที่ประชุมให้ทั้งสองฝ่ายคือ ไทย กับกัมพูชา หาทางเจรจาเพื่อลงนามหยุดยิงถาวร และให้แก้ปัญหาแบบทวิภาคี โดยใช้เวทีอาเซียน หมายความว่าให้อาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลาง ถ้าให้ชัดขึ้นไปอีกก็คือ เป็นการเจรจาที่มีอาเซียนเข้ามาเกี่ยวข้อง แทนที่จะเป็นสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
อย่างไรก็ดี เมื่อผลออกมาแบบนี้ก่อนที่จะว่ากันในรายละเอียด ก็ต้องสรุปในเบื้องต้นก่อนว่าเป็นเกมที่ฝ่ายไทยเสียเปรียบ และเสียดินแดนให้กับกัมพูชาอย่างถาวรโดยมีสหประชาชาติเป็นผู้รับรอง ขณะเดียวกัน ยังส่งผลให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร โดยผนวกเอาพื้นที่โดยรอบในเรื่อง “พื้นที่บริหารจัดการ” ตามเงื่อนไขของยูเนสโกได้อย่างสมบูรณ์
การเจรจาหยุดยิงอย่างถาวรของทั้งสองฝ่าย หากดูผิวเผินถือว่าเป็นเรื่องดีที่ทำให้เกิดสันติภาพตามแนวชายแดน ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องได้รับความเดือดร้อน ไม่ต้องอพยพหนีภัย แต่อีกด้านหนึ่งมันก็เป็น “กลลวง” ตบตา เพราะนั่นหมายความว่าจะมีการเจรจาหยุดยิงในขณะที่ฝ่ายกัมพูชายังยึดพื้นที่ของไทยอยู่ ที่เห็นเป็นรูปธรรมก็คือพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่อยู่โดยรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งรวมถึง “ภูมะเขือ” และ “วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ” ที่มีการก่อสร้างรุกเข้ามายึดครองและมีการปักธงประกาศอธิปไตยเหนือดินแดนไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมทั้งพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย
หากจะกล่าวให้เห็นภาพก็คือ จะมีการเจรจา “บนพื้นที่ของไทย” เพื่อ “แบ่งพื้นที่ของไทย” นั่นแหละ ฝ่ายกัมพูชาก็มีแต่ได้กับได้ แม้ว่าจะไม่ได้เต็มร้อยแต่เมื่อผลออกมาแบบนี้ถือว่าไม่ขาดทุน เมื่อเปรียบเทียบกับไทย
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทางฝ่ายกัมพูชายังยืนยันใช้แผ่นที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 โดยอ้างอิงจากบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบกระหว่างไทย-กัมพูชาปี 2543 (เอ็มโอยู43) ก็ย่อมทำให้ต้องเสียพื้นที่ในส่วนอื่นๆ ตามมาอีกนับล้านไร่ และที่ผ่านมาฝ่ายไทยก็ไม่เคยโต้แย้งในกรณีดังกล่าวหลังจากที่กัมพูชาออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์และต่อมาในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา “ฮอร์ นัมฮง” ยังได้ย้ำอีกครั้งที่ยูเอ็นว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ดังกล่าวอีกครั้ง โดยไทยไม่ได้ปฏิเสธ เพราะในคำแถลงของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ ยกเอาประเด็นเขมรเป็นฝ่ายยิงก่อน และใช้ปราสาทพระวิหารเป็นฐานทางทหารยิงถล่มเข้าใส่ไทย เท่านั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อผลการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ออกมาแบบนี้ มันก็เปิดช่องให้รัฐบาลโดยเฉพาะ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำไปขยายผลว่านี่คือผลสำเร็จของเอ็มโอยู 43 ที่บังคับใช้อีกฝ่ายกลับเข้ามาสู่โต๊ะเจรจา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วต้องพิจารณาด้วยว่าเนื้อหาในการเจรจาอยู่ในกรอบแบบไหนต่างหาก ซึ่งในกรณีที่เกิดขึ้นเป็นการบีบให้ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาหยุดยิงถาวร แต่เป็นการหยุดยิงบพื้นที่ของไทยแต่เพียงฝ่ายเดียว และมีแนวโน้มว่าการเจรจาปักปันเขตแดนโดยใช้แผนที่ 1 ต่อ 200,000 ที่ลงนามอยู่ในเอ็มโอยู 43 ยิ่งทำให้ไทยเสียเปรียบ
ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเจรจาหยุดยิงถาวร พื้นที่บริเวณนั้นซึ่งครอบคลุม “พื้นที่โดยรอบ” ปราสาทพระวิหารก็จะกลายเป็นพื้นที่ “สันติภาพ” ทำให้ฝ่ายกัมพูชาสามารถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกได้โดยสมบูรณ์ ซึ่งกระบวนการทั้งหมดดังกล่าวยังได้รับการรับรองจากนานาชาติ นั่นเอง
นั่นเป็นความเสียเปรียบของฝ่ายไทยในการเสียดินแดนอย่างถาวร เพราะเวลานี้กัมพูชาได้ปักหลักยึดพื้นที่ของไทยเอาไว้อย่างเหนียวแน่น พร้อมกับการอ้างสิทธิ์ยืนยันมาโดยตลอด ขณะที่ไทยก็ไม่ยอมโต้แย้ง
เพราะถ้าหากให้วิเคราะห์ท่าทีของรัฐบาลที่นำโดยนายกฯ อภิสิทธิ์ กำลังต้องการยืนยันเพียงแค่ว่านี่คือความสำเร็จของเอ็มโอยู 43 ต้องการอธิบายว่าเป็นเพราะเอ็มโอยูทำให้กัมพูชาหันกลับมาสู่โต๊ะเจรจาแบบทวิภาคี แม้ว่าภายใต้การเจรจาดังกล่าวฝ่ายไทยจะเสียเปรียบอย่างไรก็ตามก็ไม่สนใจ ทั้งที่เป็นแค่ภาพลวงตา เป็นกลลวงเท่านั้น
อย่างที่ได้ระบุไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า ตราบใดที่ยังไม่มีกำหนดเงื่อนไขก่อนเจรจาว่าต้องผลักดัน หรือฝ่ายกัมพูชาต้องถอนกำลังหรือถอนชุมชนพ้นพื้นที่ของไทยทั้งหมดออกไปเสียก่อน มันก็ไร้ประโยชน์ ขณะเดียวกันฝ่ายไทยก็ต้องโต้แย้งแผนที่อัตราส่วน 1 ต่อ 200,000 อย่างเป็นทางการโดยเร็ว เพราะหากยังนิ่งเฉยก็เท่ากับว่าเป็นการยอมรับ
ที่น่าสังเกตก็คือ เขายืนยันอยู่เสมอว่า ในเอ็มโอยู 2543 มีการยอมรับแผนที่ดังกล่าว มันก็ยิ่งเห็นแนวโน้มว่าในอนาคตผลจะออกมาเช่นไร
การเจรจาหยุดยิงถาวรในสภาพแบบนี้ ในสภาพที่ฝ่ายกัมพูชายังปักหลักอยู่ในดินแดนไทย โดยที่ฝ่ายไทยไม่ยอมผลักดันออกไปก่อน มันก็ย่อมหมายความว่าในอนาคตไทยจะต้องสูญเสียดินแดนในบริเวณดังกล่าวอย่างถาวร โดยได้รับการรับรองจากนานาชาตินั่นเอง
ดังนั้น ถ้าให้สรุปนาทีนี้ ผลการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ให้สองฝ่ายเจรจาหยุดยิงถาวร โดยมีอาเซียนเป็นเจ้าภาพ ในภาพรวมถือว่าเป็นความสำเร็จของกัมพูชา เพราะสามารถดึงให้นานาชาติเข้ามาไกล่เกลี่ย แม้ว่าจะเป็นระดับภูมิภาคคืออาเซียน ไม่ใช่ยูเอ็นก็ตาม แต่ก็ถือว่ามีกำไร ขณะที่ไทยไม่ได้อะไรเลย มีเพียงนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเท่านั้นที่อาจนำไปอ้างว่านี่คือผลสำเร็จของเอ็มโอยู 43 ที่ตัวเองกอดเอาไว้มานาน แต่ในความเป็นจริงนี่คือภาพฉาบฉวยที่กลบเกลื่อนความผิดพลาดแบบเฉพาะหน้าของตัวเองและพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น!!