xs
xsm
sm
md
lg

แผนโลกล้อมไทย ที่ล้มเหลวของ ฮุนเซน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การเจรจาต่อรองในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ปัจจัยเรื่องสถานภาพ บารมี ภาพลักษณ์ของคู่เจรจา ชั้นเชิงเล่ห์เหลี่ยม การต่อรอง หว่านล้อม แลกเปลี่ยนผลประโยชน์ มีความสำคัญยิ่งต่อ ผลแพ้ชนะ ความได้เปรียบเสียเปรียบ ของคู่เจรจา

แต่ทั้งหมดนี้ ต้องอยู่บนพื้นฐานของ ความมีเหตุผล และข้อเท็จจริง ที่เป็นสาระสำคัญของหัวข้อในการเจรจา

ความมีเหตุผล ข้อเท็จจริงนี้เอง ที่ทำให้การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ เพื่อรับฟังปัญหา การปะทะกันที่ชายแดนไทย-กัมพูชา ระหว่างวันที่ 4- 7 กุมภาพันธ์ ซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีผลออกมาในทิศทางที่ไม่ใช่ความปรารถนาของนายฮุน เซ็น ผู้นำเขมร และยังความผิดหวังให้คนไทยด้วยกันเองบางส่วน ที่อยากเห็นความล้มเหลว ความอับอายขายหน้าของ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย บนเวทีการฑูตระหว่างประเทศ อยากเห็นไทยแพ้เขมรในยุคที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี

การประชุมของคณะมนตรีความมั่นคง ที่ถูกแปลความหมายว่า เป็นชัยชนะของฝ่ายเขมร ที่สามารถยกระดับปัญหาความขัดแย้งที่พรมแดนไทย- เขมร เข้าสู่เวทีพหุภาคี ตามความต้องการของฮุนเซ็นได้นั้น แท้จริงแล้ว เป็นเพียง การรับฟัง หรือ hearing ข้อมูล ของทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเท่านั้น

เป็นการประชุมที่ไม่มีการลงมติของสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแต่อย่างใด มีเพียงแต่การแถลงข่าว ผลของการรับฟังและหารือ ซึ่งมีการเผยแพร่ออกมา เมื่อเช้าวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่ ก่อนที่การประชุมจะเสร็จสิ้นลงเสียด้วยซ้ำ

ผลของการหารือที่ไล่ให้ไทยกับกัมพูชาไปคุยกันเอง แบบทวิภาคี ภายใต้การประสานงานของอาเซียนนั้น แม้มิอาจเรียกได้ว่า เป็นชัยชนะของประเทศไทย เพราะยังต้องนำเรื่องนี้กลับมาหารือในที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของอาเซียน ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ว่า อาเซียนต้องการให้ทั้งสองฝ่ายทำอย่างไร แต่มิอาจปฏิเสธได้ว่า เป็นความล้มเหลวของนายฮุนเซ็น ผู้นำกัมพูชา ซึ่งในประเทศไทย เชื่อกันว่า เก่งกาจหาตัวจับยาก ในเวทีการฑูตระหว่างประเทศ

เพราะคณะมนตรีความมั่นคงเมินเฉยต่อความต้องการของกัมพูชา ที่ต้องการให้คณะมนตรีความมั่นคงเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย และส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ เข้าไปในพื้นที่พิพาทรอบๆปราสาทพระวิหาร แต่กลับเห็นดีเห็นงามกับการเจรจาในกรอบทวิภาคี ซึ่งฝ่ายไทยยืนยันมาโดยตลอด

การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อาเซียนที่อินโดนีเซียในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ ผลจะเป็นเช่นไร อาจประเมินได้จากท่าทีของนายมาร์ตี นากาเลกาวา รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ซึ่งเดินทางมารับฟังข้อมูลจากไทยและกัมพูชา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นายมาร์ตีแถลงว่า

1. ไทยและกัมพูชาต่างประกาศและแสดงความมุ่งมั่นในหลายโอกาสที่จะแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และโดยผ่านการเจรจา ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี 2.ทั้งไทยและกัมพูชาต่างให้ความสำคัญกับการหยุดยิง และ 3.เห็นว่าการแก้ไขปัญหาสำคัญสุดต้องอาศัยการเจรจาในระดับทวิภาคี ซึ่งทั้งไทยและกัมพูชาควรสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว เพราะจะเป็นการหาข้อยุติได้อย่างยั่งยืน โดยอาเซียนจะเข้าไปให้การสนับสนุน และสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเจรจาในกรอบทวิภาคี

กลุ่มอาเซียนนั้น มีประเพณีที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายในของแต่ประเทศสมาชิก แม้ว่า จะมีกลไกที่สร้างขึ้นมาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ขัดแย้ง ของประเทศสมาชิก แต่จะต้องให้ประเทศคู่พิพาทยินยอมพร้อมใจในการหอาเซียนเข้ามาเป็นคนกลางด้วย

การจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน จึงเป็นเพียงแบบพิธีทางการฑูตเท่านั้น เช่นเดียวกับ การประชุมคณะมนตรีความมั่นคง ที่จัดการรับฟังความเห็นขึ้น เพราะกัมพูชา ร้องขอ และคณะมนตรีความมั่นคงอยากรู้ว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไร หาได้มีนัยสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของความขัดแย้งอย่างไรไม่

สถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา นับจากนี้ต่อไปจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับฮุนเซ็นว่า จะดำเนินกลยุทธ์ยั่วยุไทยอย่างไร เขมรยิงมา ฝ่ายไทยก็ยิงกลับไป คงจะเป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกระยะหนึ่ง

ยังจำได้ไหม หลังกลุ่มเสื้อแดงพ่ายแพ้ในศึกเผาบ้านเผาเมือง เมื่อเดนอพฤษภาคมปีที่แล้ว ฮุนเซ็น ก็เปลี่ยนท่าที ปลด นช. ทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งที่ปรึกษา หันมาญาติดีกับนายอภิสิทธิ์ ตบไหล่ ลูบหลังชื่นชมว่า เป็นนายกรับมนตรีคนหนุ่มที่มีอนาคตไกล

อีกไม่นานเกินรอ เราจะได้เห็น ฮุนเซ็นกลับไปชื่นมื่นกับนายอภิสิทธิ์เช่นนั้นอีก ถ้าหากว่า ถึงวันนั้น เขายังสามารถรักษาอำนาจอยูไว้ได้ เพราะความพ่ายแพ้ในการศึกที่ชายแดนพระวิหาร และการฑูตที่ยูเอ็นครั้งนี้ ทำให้ฮุนเซ็น มีโจทย์ใหญ่ที่ต้องตอบกองทัพกัมพูชาให้ได้ว่า ทำไม สามปีแล้ว จึงขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกอย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้เสียที แถมยังปล่อยให้ลูกชายอวดเก่งชักศึกเข้าบ้านอย่างไม่เข้าท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น