ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน นายหม่าจ้าวซู (Ma Zhaoxu) กล่าวในวันเสาร์ที่ผ่านมา ระบุว่า จีนสนับสนุนความพยายามของกลุ่มอาเซียนในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชายแดนระหว่างไทย และกัมพูชา ซึ่งต่างก็เป็นมิตรที่ใกล้ชิดกับจีน
“จีนขอสนับสนุนความพยายามไกล่เกลี่ยของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เพื่อลดความตึงเครียดกัมพูชา-ไทย และประสงค์จะร่วมกับอาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศ ในการเข้าไปมีบทบาทเชิงสร้างสรรค์ในการแก้ไขความขัดแย้ง” สำนักข่าวซินหัว รายงานในวันอาทิตย์ 13 ก.พ.นี้ อ้างคำกล่าวของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
การให้สัมภาษณ์ของโฆษกจีน ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีของจีน มีขึ้นในขณะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กำลังจะเปิดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ในวันจันทร์ ในนครนิวยอร์ก โดยเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศไทย และกัมพูชา กับรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งปีนี้ทำหน้าที่ประธานของกลุ่ม เข้าร่วมด้วย
จีนเป็นหนึ่งใน 5 สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UN Security Council) ที่มีอำนาจยับยั้งข้อมติใดๆ ของ UNSC เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส และรัสเซีย
กัมพูชาได้ส่งหนังสือถึงประธานที่ประชุม UNSC ประจำเดือนนี้ โดยกล่าวหาว่า ทหารไทยได้รุกรานกัมพูชา และที่ผ่านมาไม่ใช่ “การปะทะ” ที่ชายแดน หากเป็น “สงคราม” ระหว่างสองประเทศ และขอให้สหประชาชาติดำเนินการเร่งด่วนเพื่อส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้าจัดตั้งเขตกันชนขึ้น
นายกรัฐมนตรีไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ในวันเสาร์ ว่า ไทยจะคัดค้านการเข้ายุ่งเกี่ยวของสหประชาชาติ และจะให้มีการแก้ไขปัญหาชายแดนด้วยการเจรจาระหว่างคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่าย
เรื่องนี้ยังพัฒนาไปอีกขั้น เมื่ออาเซียนกำลังจะจัดการประชุมพิจารณาปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ในปลายเดือนนี้ ซึ่งสื่อในอินโดนีเซีย รายงานว่า นายฮอร์นัมฮอง รมว.ต่างประเทศของฝ่ายกัมพูชา ได้รับปากจะเข้าร่วมด้วย
การปะทะระหว่างกัมพูชากับไทย จากวันที่ 4-7 ก.พ.2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน อีก 67 คน ได้รับบาดเจ็บ ราษฎรนับหมื่นๆ คนต้องอพยพจากพื้นที่ จีนให้ความสนใจต่อ “การปะทะ” นี้มาก นายหม่า กล่าว
โฆษกจีน กล่าวเน้นว่า ทั้งกัมพูชาและไทยต่างเป็นเพื่อนบ้านที่เป็นมิตรกับจีน และ จีนได้ติดต่อกับทั้งสองประเทศตลอดมา นับตั้งแต่การปะทะเกิดขึ้น
นายหม่า ยังเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศให้อยู่ในความสงบและใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด หยุดการเผชิญหน้าทางทหาร ป้องกันมิให้สถานการณ์บานปลายออกไปและแก้ไขปัญหาโดยผ่านการปรึกษาหารือ
ชายแดนไทย-กัมพูชา ยังไม่เคยมีการปักปันเขตแดนอย่างสมบูรณ์ แม้ว่าศาลระหว่างประเทศจะพิพากษาในปี 2505 ให้ปราสาทสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 แห่งหนึ่งตกเป็นของกัมพูชา ความขัดแย้งในพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบๆ ยังไม่เคยได้รับการแก้ไข สำนักข่าวทางการจีน กล่าว