xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-เขมร พลาดจริงหรือฮั้วกัน !?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

กรณีปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มักจะพูดอยู่เสมอว่ารัฐบาลนั้นมีเป้าหมายตรงกันกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่วิธีการนั้นไม่เหมือนกัน 

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2554 ทำให้ผมเองได้จับข้อสังเกตที่น่าสนใจทั้งในทางการทูตระหว่างประเทศและในทางการทหารแล้ว ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นว่าไม่ใช่เพราะพันธมิตรฯและนายกรัฐมนตรีความเชื่อหรือความเห็นไม่ตรงกันวิธีการเท่านั้น แต่แท้ที่จริงแล้วเป้าหมายสุดท้ายอาจไม่ตรงกันด้วย

ในทางการทหารฝ่ายไทยได้เพียงแค่การปะทะในระดับ “ทัดเทียมกัน” คือไม่ดำเนินการผลักดันทหารกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่ยุทธภูมิ “สูงข่ม” ทั้ง “ยอดเขาพระวิหาร” และ “ยอดภูมะเขือ”

ผลลัพธ์ก็คือทหารกัมพูชายังอยู่ในดินแดนไทย และใช้เป็นฐานทัพเอาไว้ยิงใส่ทหารหรือราษฎรไทยได้ตลอดเวลาเมื่อกัมพูชาต้องการ ทั้งๆที่เดิมทีทหารกัมพูชาไม่สามารถทำร้ายราษฎรไทยได้ในบริเวณเขาพระวิหาร เพราะมี “หน้าผา”กั้นเอาไว้ หน้าผาบริเวณนั้นมีความสูงประมาณ 600-800 เมตรทำให้ทหารกัมพูชาอยู่แค่ตีนหน้าผาฝั่งกัมพูชาเท่านั้น แต่วันนี้หลังการใช้ MOU 2543 ทหารและชุมชนกัมพูชาได้สร้างถนนและย้ายขึ้นมาบนยอดหน้าผาฝั่งไทย ทั้งยอดภูมะเขือ และเขาพระวิหาร

เงื่อนไขใน MOU 2543 ข้อ 8 ที่กำหนดว่าไม่ว่าจะมีข้อพิพาทใดๆ จะต้องในวิธีการปรึกษาหารือโดยสันติวิธี ทำให้ทหารไทยบางคนปล่อยปละละเลยหรืออาจทำมาหากินสมรู้ร่วมคิด จึงปล่อยให้มีการสร้างถนน และสร้างกระเช้าลอยฟ้า จากฝั่งกัมพูชาเข้ามาในดินแดนไทยแล้วยึดยอดเขาในฝั่งไทย และเมื่อยึดได้แล้วกัมพูชาจึงมีความสามารถที่จะยิงต่อสู้กับทหารไทย และยิงทำร้ายราษฎรไทยได้ ทั้งนี้เพื่อยั่วยุสร้างสถานการณ์ให้ไทยตอบโต้ เพื่อให้ไปสู่ในเวทีนานาชาติได้ และกัมพูชาได้วางแผนที่มานานแล้วบน “ความเขลา”และ “ความโลภ”ของคนไทยด้วยกันเอง

MOU 2543 ทหารที่ยิงตอบโต้ก็ต้องถูกโยกย้ายและผลักดันกัมพูชาไม่ได้ ส่วนทหารที่ทำมาหากินและมีผลประโยชน์ตามแนวชายแดนก็ยิ่งพอใจเพราะสามารถอ้างได้ว่าติดเงื่อนไขใน MOU 2543 ทำให้ทำอะไรไปมากกว่านี้ไม่ได้

เวลาภาคประชาชนได้เสนอให้รัฐบาลไทยประณามที่กัมพูชารุกรานประเทศไทยก็ดี หรือใช้อาวุธสงครามซ่องสุมอยู่ในวัดแก้วสิขะคีรีสะวาราก็ดี หรือใช้อาวุธสงครามยิงทำร้ายใส่ราษฎรไทยก็ดี รัฐบาลก็ไม่ตอบสนองแต่ประการใด

เวลาผู้ชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดินเสนอให้ยุติภัยคุกคามต่อราษฎรไทย ด้วยการให้ผลักดันทหารกัมพูชาให้ออกจากดินแดนไทยในยุทธภูมิสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอให้ไทยหยุดส่งยุทธปัจจัยโดยเฉพาะน้ำมันเข้าสู่กัมพูชา ทำลายถนนที่สร้างเข้ามาในดินแดนไทยเพื่อขึ้นเขาพระวิหารและภูมะเขือซึ่งใช้เป็นเส้นทางลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ ตลอดจนใช้กองทัพอากาศกดดันให้ทหารกัมพูชาให้ออกจากยอดหน้าผาแล้วกลับไปอยู่ตีนหน้าผาเหมือนเดิม ข้อเสนอเหล่านี้ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ ทั้งสิ้น

ในช่วงนั้นรัฐบาลอาจจะอ้างว่าทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ มิเช่นนั้นแล้วกัมพูชาจะขยายผลไปในเวทีองค์การสหประชาชาติเพื่อให้มีกองกำลังสหประชาชาติเข้ามาช่วยเหลือกัมพูชา เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยจะอยู่ในสถานะที่ยากลำบากมากขึ้น

ตรรกะที่กล่าวมาข้างต้น เป็นคำพูดที่ราวกับว่ากัมพูชาเท่านั้นที่มีสิทธิ์รุกรานไทย แต่ประเทศไทยไม่มีสิทธิ์ที่จะทวงคืนดินแดนและอธิปไตยของไทยเอง !!?

หันมาดูสมรภูมิทางการทูตนั้นปรากฏว่าเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้ออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรกเพื่อยืนยันว่าตาม MOU 2543 แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 นั้นไม่รวมระวางดงรักซึ่งรวมถึงเขาพระวิหาร และ วัดแก้วสิขะคีรีสะวารานั้นอยู่ในดินแดนไทยและให้กัมพูชาต้องรื้อถอนวัดดังกล่าวออกจากดินแดนไทย

ในที่สุดตรรกะที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดกับประชาชนชาวไทย ก็ถูกสวนกลับด้วยแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า แผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ใน MOU 2543 เท่ากับว่าไทย-กัมพูชาได้ยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ในทุกระวาง รวมระวางดงรัก (ซึ่งมีสภาพบังคับและผลผูกพันให้ไทย-กัมพูชาต้องพิจารณาแผนที่ดังกล่าว) ทำให้กัมพูชามีสิทธิ์อ้างการอธิบายในคำพิพากษาศาลโลกที่ไทยเสียเปรียบในบริเวณเขาพระวิหาร ให้กลายเป็นฐานทางกฎหมายสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกครั้งนี้

หลังแถลงการณ์ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ปรากฏว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยไม่ได้ตอบโต้กลับ จึงย่อมทำให้นานาชาติเข้าใจได้ว่าไทยตอบโต้กลับไม่ได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือยอมจำนนต่อเหตุผลของกัมพูชาที่ไทยไปลงนามใน MOU 2543 ทำให้แผนที่มาตราส่วน 1:200,000 มีผลผูกพันไทย-กัมพูชาไปแล้วใช่หรือไม่ !!!?

นั่นเป็นสาเหตุใช่หรือไม่ว่า ในขณะที่นายฮอร์ นัม ฮง ได้ยื่นคำถ้อยแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ยืนยันว่า “ไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชา” โดยอ้างแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ในMOU 2543 ซึ่งผูกพันไทย-กัมพูชาผนวกการบรรยายของคำพิพากษาศาลโลกถึงมูลเหตุที่ตัดสินให้ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชา ซึ่งก็มาจากกฎหมายปิดปากที่ฝ่ายไทยไม่คัดค้านแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งรุกล้ำดินแดนไทย ดังนั้นเส้นเขตแดนที่จะต้องปักปันใน MOU 2543 จึงต้องหมายถึงแผนที่มาตราส่วน 1:200,000 แต่เพียงอย่างเดียว

ส่วนนายกษิต ภิรมย์ ไม่ได้หยิบยกในประเด็นที่ว่าแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 ว่าไม่รวมระวางดงรัก และพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ของไทยและกัมพูชารุกรานอยู่ ในการยื่นถ้อยแถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 เพราะกระทรวงการต่างประเทศไทยเถียงเขาไม่ได้ตั้งแต่แถลงการณ์ของกัมพูชาในการอธิบายความหมายของ MOU 2543 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 ใช่หรือไม่?

ที่สำคัญที่สุดถ้ารัฐบาลไทยเชื่อใน MOU 2543 จริงอย่างที่พูด เหตุใดกระทรวงการต่างประเทศไทยจึงไม่ออกถ้อยแถลงในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ว่า กัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิด MOU 2543 มาโดยตลอด
ทั้งสร้างถนน และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมไปเป็นจำนวนมาก เพื่อให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออกข้อเรียกร้องให้กัมพูชาถอยออกไปไปตามเงื่อนไขของ MOU 2543 !!!?

ผลลัพธ์ก็คือคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ออกข้อเรียกร้องให้ไทยและกัมพูชาทำข้อตกลงหยุดยิงถาวร โดยไม่กล่าวถึงการรุกรานของกัมพูชา หรือการละเมิด MOU 2543 ข้อตกลงดังกล่าวจึงย่อมทำให้ดินแดนไทยที่กัมพูชายึดครองอยู่นั้นต้องตกเป็นของกัมพูชาเป็นการถาวร

พยายามจะหาเหตุผลว่าทำไมถ้ารัฐบาลเชื่อมั่นใน MOU 2543 จริง ถึงไม่ใช่ประโยชน์ว่ากัมพูชาเป็นฝ่ายละเมิด MOU 2543 มาโดยตลอด เพื่อให้สหประชาชาติได้ออกข้อเรียกร้องให้กัมพูชาถอยออกไปจากดินแดนที่มีข้อตกลงห้ามเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมใน MOU 2543 ด้วย ซึ่งน่าจะมีคำตอบอยู่ใน 3 ประเด็นข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งข้อดังนี้

1. คือผู้ที่ไปเจรจานั้นหลงลืม หรือไม่รู้เท่าทันจึงลืมที่จะพูดในเรื่องการที่กัมพูชารุกรานหรือละเมิด MOU 2543

2. ยอมรับสภาพแล้วว่า MOU 2543 นั้นเมื่อผนวกเข้ากับคำพิพากษาศาลโลก จึงหมายถึงไทยต้องปฏิบัติตามแผนที่มาตราส่วน 1: 200,000 อย่างเดียว จึงทำได้แค่ถ่วงเวลาด้วยการอ้างว่าการจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จ

3. สมรู้ร่วมคิดกับกัมพูชาไม่ต่อสู้ในประเด็นสำคัญเพื่อทำให้ดินแดนที่กัมพูชายึดครองอยู่นั้นตกเป็นของกัมพูชาเป็นการถาวร เพราะมีผลประโยชน์แอบแฝงบางอย่างอยู่

จะไม่ขอตัดสินแต่ให้ผู้อ่านลองดูว่า ทั้ง “การทหารและการทูต”ของประเทศไทยพลาดหรือตั้งใจฮั้วเพราะมีผลประโยชน์แอบแฝง หรือมีเหตุผลอื่นซ่อนเร้นที่คนไทยยังไม่รู้หรือไม่?

กำลังโหลดความคิดเห็น