xs
xsm
sm
md
lg

Article 60

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติไม่ได้มีมติตามที่กัมพูชาร้องไปให้ความขัดแย้งกับไทยเข้าสู่การแก้ไขปัญหาระดับพหุภาคีเต็มรูปแบบ โดยยังคงสนับสนุนให้แก้ไขปัญหากันในระดับทวิภาคีเหมือนเดิม เพียงแต่เพิ่มเติมให้อาเซียนเข้ามาช่วยดูแลให้เท่านั้น ถ้าจะพูดว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายไทยก็พอพูดได้เบา ๆ เพราะผมเชื่อว่ามาถึงวันนี้กัมพูชาไม่หยุดเดินหน้าหรอก

จากนิวยอร์ค ผมไม่แน่ใจว่าฮุนเซนจะกลับมากทม.เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) ตามที่นายกฯมาร์คต้องการหรือไม่ ?

ผมเกรงว่าอาจจะไม่ !

เพราะคิดไปคิดมาแล้ว โดยเฉพาะหลังจากอ่านคำให้สัมภาษณ์ของนายฮอร์นัมฮง มีความเป็นไปได้ที่ฮุนเซนจะเดินไปหน้าต่อไปยังกรุงเฮก เนเธอร์แลนด์!

ไปยื่นเรื่องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) เพื่อขอให้ตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารเมื่อปีค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) .ที่มีมุมมองแตกต่างกันระหว่างคู่ความคือไทยและกัมพูชาให้มีความชัดเจน

โดยอาศัยธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ มาตรา 60 (Article 60) !


ซึ่งเท่าที่ผมทราบและเคยเขียนผ่านช่องทางนี้แล้ว เป็นประเด็นที่กระทรวงการต่างประเทศไทยกังวลหรืออาจถึงขั้นกลัวมาโดยตลอด ในระดับที่กัมพูชามักจะขู่ไทยเสมอว่าหากตกลงกันไม่ได้เขาจะนำเรื่องกลับสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่าศาลโลก อีกครั้ง คำขู่ของกัมพูชาได้ผลในปี 2543 กระทรวงการต่างประเทศไทยยอมบรรจุข้อความเจ้าปัญหาไว้ในข้อ 1 (c) หรือ 1 (ค) ของบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการจัดทำหลักเขตแดนทางบก หรือ MOU 2543 ยอมรับแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ไว้ให้ขึ้นมาเป็นเอกสารบนโต๊ะเจรจาด้วย

ควรเข้าใจนะครับว่ามาตรา 60 นี้ไม่ใช่การฟ้องคดีใหม่ที่ไทยอาจจะปฏิเสธได้เพราะไม่ได้ต่ออายุการยอมรับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมานานแล้วหลังเจ็บปวดเพราะคำพิพากษาประหลาด แต่เป็นการใช้สิทธิของคู่ความขอให้ศาลตีความคำพิพากษาในคดีเดิม

มาตรา 60 นี้ในภาษาอังกฤษเขาเขียนไว้ว่า...

"In the event of dispute as to the meaning or scope of the judgment, the Court shall construe it upon the request of any party."

คำแปลภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการอาจจะเป็นดังนี้...

“(การตัดสินเป็นที่สุดและไม่มีการอุทธรณ์) ในกรณีที่มีข้อพิพาทกับความหมายหรือขอบเขตของคำพิพากษาให้ตีความได้ตามความต้องการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างศาลประเทศนั้นไม่ได้พิพากษายอมรับแผนที่ 1 : 200,000 ระวางดงรักที่เป็นภาคผนวก 1 ท้ายฟ้อง ไม่ได้พิพากษาให้เส้นในแผนที่เป็นเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา โดยกำหนดให้ไทยคืนเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารให้กัมพูชา แต่ในมุมมองของกัมพูชาที่นำมาโพนทนาต่อชาวโลกในช่วงหลายปีหลัง โดยเฉพาะในแอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลก พยายามตัดต่อเฉพาะข้อความให้เข้าใจว่าไทยต้องคืนปราสาทพระวิหารทั้งอาณาบริเวณ และคำพิพากษาศาลยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 คนไทยบางคนบางคณะก็ดูจะมีความเห็นเช่นนั้น

ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศแม้ไม่ได้มีความเห็นเหมือนกัมพูชา แต่ดูเหมือนพวกท่าน ๆ จะมีความเห็นคล้อยไปในทางว่าคำพิพากษารวมของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเสมือนยอมรับแผนที่ภาคผนวก 1 เพียงแต่ไม่ได้พิพากษา เพราะกัมพูชายื่นเพิ่มเติมฟ้องเข้ามาภายหลัง พวกท่าน ๆ จึงเห็นว่าการที่ไทยเสียไปเพียงตัวปราสาทนับว่าโชคดีมากแล้ว หากเรื่องนี้ต้องกลับขึ้นสู่ศาลอีกครั้ง เราจะสูญเสียมากกว่าเก่า

ซึ่งก็เป็นมุมมองที่แตกต่างกับอดีตข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศอย่างท่านอาจารย์ดร.สมปอง สุจริตกุลที่เห็นว่าคำพิพากษาเป็นคุณกับไทย หากรู้จักใช้ และรู้จักพิจารณาโดยองค์รวมทั้งคำพิพากษาแย้งของแต่ละท่าน และต้องไม่ลืมว่าไทยได้สงวนสิทธิไม่เห็นด้วยเอาไว้ โดยไม่ใช่การสงวนสิทธิที่จะรื้อฟื้นคดีหากมีหลักฐานใหม่ซึ่งมีกำหนดระยะเวลาภายใน 10 ปี แต่เป็นการสงวนสิทธิในลักษณะไม่กำหนดระยะเวลา

นี่เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมาโดยจตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา

ความกังวลของกระทรวงการต่างประเทศ และนักวิชาการกฎหมายชั้นนำ โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมาทำให้มีการเตรียมการรับมือกับมาตรา 60 นี้ในระดับสำคัญ ถึงขนาดส่งมือกฎหมายระดับนำของกระทรวงการต่างประเทศอย่างคุณวีระชัย พลาศรัย อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายในช่วงปี 2551 ไปเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเฮก เนเธอแลนด์ ที่ตั้งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

นัยว่าเพื่อเตรียมการต่าง ๆ ที่จำเป็นเอาไว้ล่วงหน้าทั้งด้านงานแสวงหาแนวร่วมและงานข้อกฎหมาย

นายกษิต ภิรมย์บอกว่าไทยพร้อมรับมือทุกรูปแบบ แม้กระทั่งการต่อสู้อีกครั้งในศาลโลก

อีกไม่นานเราคงได้เห็นกัน !

ผมเคยเขียนไว้ ณ ที่นี้เมื่อปี 2552 ว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงการต่างประเทศกลัวผีแล้วจึงปลุกผีขึ้นมาเสียเอง

รู้อยู่ว่าไอ้เจ้าแผนที่ระวางดงรัก หรือภาคผนวก 1 มันทำให้คนไทยทั้งประเทศน้ำตาตกบนศาลโลกมาแล้วเมื่อปี 2505 แล้วไฉนเมื่อกลัวจะต้องขึ้นศาลโลกอีกครั้ง จึงไปเขียนยอมรับสิ่งที่ทำให้คนไทยน้ำตาตกมาแล้วนั้นไว้อีก ทั้ง ๆ ที่มันจบไปแล้วตั้งแต่ปี 2505

นายกฯมาร์คอาจจะบอกว่ารัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลแรกที่ประกาศอย่างเป็นทางการว่า MOU 2543 ข้อ 1 (ค) ไม่ได้หมายถึงแผนที่ระวางดงรัก แต่นั่นก็เป็นเพียงการประกาศฝ่ายเดียวของไทย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนครั้งแรกในแถลงการณ์กระทรวงการต่างประเทศฉบับวันที่ 31 มกราคม 2554 ในข้อ 3 กัมพูชาหายอมรับเช่นนี้ไม่ เขายืนยันตอบโต้ออกมาอย่างเต็มรูปทุกข้อทุกเม็ดทั้งในแถลงการณ์ฉบับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 และในแถลงการณ์ของนายฮอร์นัมฮงต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 ขณะที่ไทยไม่ได้ตอบโต้กลับในประเด็นสำคัญนี้เลย ทั้งแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศไทยที่ควรจะยืนยันแถลงการณ์ฉบับ 31 มกราคม 2554 ของตัวเองและตอบโต้แถลงการณ์กัมพูชา 1 กุมภาพันธ์ 2554 และในแถลงการณ์ของนายกษิต ภิรมย์ต่อคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ 14 กุมภาพันธ์ 2554

กัมพูชาเขาบอกว่า 4.6 ตารางกิโลเมตรเป็นของเขา โดยอ้างหลักฐานเป็นฉาก ๆ ขณะที่ไทยไม่ได้พูดเต็มปากเต็มคำต่อเนื่องว่าเป็นแผ่นดินไทย

แค่พูดยังไม่พูด อย่าถามถึงเรื่องการผลักดันทหารต่างชาติโดยวิธีอื่นเลย

โดยไทย “ถอย” กลับมายึดหลักว่าเขตแดนระหว่างสองประเทศยังไม่แน่นอน เพราะยังไม่บรรลุข้อตกลงในการจัดทำหลักเขตแดนใหม่ตามกรอบ JBC ที่ยึดหลักการ MOU 2543

แล้วก็เอาแต่เรียกร้องกัมพูชาให้กลับมาอยู่ในกรอบ JBC ด้วยกัน

การปลุกผีแผนที่ระวางดงรักขึ้นมาใน MOU 2543 ของกระทรวงการต่างประเทศจะมีผลอย่างไรหากกัมพูชาเดินหน้าสู่ ICJ อีกครั้งผ่านช่อง Article 60 ?

ทำไมกัมพูชาปฏิเสธ JBC แต่ฟังให้ดี ๆ เขาไม่ปฏิเสธ MOU 2543 ??

กำลังโหลดความคิดเห็น