xs
xsm
sm
md
lg

เบื้องหลัง-เบื้องหน้าสงคราม...

เผยแพร่:   โดย: สำราญ รอดเพชร

"ชนะในสนามรบ ชนะบนโต๊ะเจรจา" หลักการทำสงครามว่าไว้อย่างนั้น..

หันมาดูการสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา 4-5 วันที่ผ่านมา ซึ่งทางกองทัพ-รัฐบาลไทยขอร้องไม่ให้เรียกว่า “สงคราม” แต่ให้เรียกว่า “การปะทะ” นั้น มีรายงานข่าวจากการประชุม ครม.นัดเมื่อวานซืน (8 ก.พ.) ว่าพี่เอื้อยของ “พยัคฆ์บูรพา” คือพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม ได้ชี้แจงต่อครม.ว่า

         “ขณะนี้เป็นแค่การปะทะกัน ยังไม่ใช่สงครามเต็มรูปแบบ ถ้าจะรบกันจริงๆศักยภาพไทยเหนือกว่า กัมพูชาไม่สามารถสู้ได้ โดยเฉพาะถ้าเราใช้เครื่องบินรบไปยิงเขาก็สู้ไม่ได้  เพราะกัมพูชาไม่มีกองทัพอากาศ ไม่มีเครื่องบินรบ...”

สิ่งที่น่าสนใจจากปากพล.อ.ประวิตร (ซึ่งได้นำตัว พล.ต.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เจ้ากรมยุทธการทหารบก ไปช่วยสรุปสถานการณ์ด้วย) ก็คือ การบอกกล่าวต่อที่ประชุม ครม.ในอีก 3 ประเด็น 1) กรณีการสร้างถนนซึ่งฝ่ายไทยทำถนนในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหารแต่กัมพูชาแจ้งให้ยุติฝ่ายไทยไม่ยอม กัมพูชาจึงเปิดฉากยิงก่อน จุดยิงมาจากบนเขาพระวิหาร 2) ฝ่ายกัมพูชาก็เร่งสร้างถนนอย่างต่อเนื่อง บริษัทที่รับงานคือบริษัทของลูกสาวสมเด็จฮุนเซน 3) ผู้นำสูงสุดของไทยต้องคุยกับฮุนเซนโดยตรงปัญหาจึงจะจบ...

        ผมเชื่อมั่นว่าสำหรับคนไทยแล้ว ไม่ว่าจะสังกัดกลุ่มไหน สีเสื้อไหนก็ตาม ไม่ได้รู้สึกว่าทหารหรือประชาชนชาวกัมพูชาเป็นศัตรูที่จะต้องเปิดศึกเข่นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กันให้สิ้น หากแต่ความรู้สึกของคนไทยจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่กำลังชุมนุมอยู่ในกรุงเทพฯ และหน้าจอ ASTV ซึ่งติดตามเรื่องปราสาทพระวิหาร ปัญหาอธิปไตยแนวชายแดนรับไม่ได้กับพฤติการณ์-นโยบายอันถ่อยเถื่อนและตอแหลของผู้นำกัมพูชาอย่างฮุนเซน และโดยเฉพาะผู้นำของรัฐบาลไทยที่ยังยืนยันว่า บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา พ.ศ. 2543 (เอ็มโอยู 2543) คือเครื่องมือแก้ปัญหายุติความขัดแย้ง..

         ทั้งๆ ที่การศึกรอบนี้มันน่าจะเพียงพอแล้วที่จะ ซตพ.ว่า เอ็มโอยู 2543 นั้นกลายเป็นเศษกระดาษสำหรับรัฐบาลกัมพูชาไปแล้ว เพราะเขาจะอ้างเอ่ยหรือยอมรับก็เพียงประเด็นเดียวคือ แผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 เท่านั้น นอกจากนั้นไม่สนใจไม่นำพา ในขณะที่ประเทศไทยยึดมั่นอย่างเคร่งครัด..

         กลายเป็นเครื่องมือพันธนาการกองทัพ ทหารหาญ ยากที่จะทำการหรือสำแดงศักยภาพการปกป้องอธิปไตยตามที่ควรจะเป็น...

        คนไทยไม่ได้คลั่งชาติหรือหิวกระหายสงครามให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรฮุนเซนอะไรที่ไหนหรอก เพียงแต่รู้สึกว่าหนนี้หากรัฐบาล-กองทัพสามารถฉกฉวยสถานการณ์เผด็จศึกยึดพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตรซึ่งเป็นดินแดนของไทยให้ได้ เราน่าจะมีแต้มต่อในการเจรจาหรือเดินหน้ารักษาอธิปไตยได้อย่างสง่างาม แทนที่จะปล่อยให้ยืดเยื้อคาราคาซัง และหากยังยึดแนวทางเดิมเรามีโอกาสถูกตลบหลังอีกต่างหาก...

        ที่ผ่านมา ประชาชนผู้ชุมนุมทั้งที่เป็นพันธมิตรฯ และไม่ได้เป็นพันธมิตรฯ แต่เป็นห่วงเรื่องอธิปไตย-ดินแดนกำลังถูกทำสงครามการเมืองด้านลึกจากฝ่ายรัฐ ผสมด้วยสื่อมวลชนทั้งที่บริสุทธิ์ใจและมีอคติกับพันธมิตรฯ กล่าวหาว่า...เพราะพันธมิตรฯเพราะผู้ชุมนุมทำให้เกิดสงครามเกิดการปะทะ...

         แต่ถ้าย้อนไปดูสิ่งที่พล.อ.ประวิตรแจกแจงต่อที่ประชุม ครม.ก็จะพบว่าเป็นคนละเรื่องเดียวกัน...

         ต่อให้ไม่มีความเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ การปะทะหรือสงครามเล็กๆ จะต้องเกิดขึ้นอยู่ดีตราบใดที่กองทัพทำหน้าที่ปกป้องอธิปไตย-ดินแดนรอบปราสาทพระวิหารอย่างเข้มแข็งตรงไปตรงมา...

          ดังนั้นมองให้ลึกแท้จริงแล้วสงครามเกิดขึ้นเพราะการละเลยปัญหา สะสมปัญหาของรัฐบาลชุดแล้วชุดเล่า รวมทั้งรัฐบาลชุดนี้ที่ติดกับดัก เอ็มโอยู 2543 !!

        จริงๆ นะครับ ผมได้แต่เสียดายที่นายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปล่อยให้การชุมนุมของพันธมิตรฯ ยืดเยื้ออยู่ถึง 12 วันจนต้องยกระดับการชุมนุมเป็น “ขับไล่รัฐบาล”

         ที่ว่าเสียดาย คือ นายกฯ-รัฐบาลไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างถึงที่สุดเพื่อพูดคุยเจรจากับพันธมิตรฯ และองค์กรเครือข่าย รัฐบาลไม่สามารถจัดการกับเส้นผมบังภูเขาได้ ตรงข้ามแทนที่จะยึดหลักว่าต้องอดทนรับฟังและร่วมมือกับภาคประชาชนที่รักชาติหวงแหนอธิปไตยกลับวิวาทะผลักไส จิตสำนึกและวิธีคิดมุ่งแต่เรื่อง “กำไร-ขาดทุน” ทางการเมืองมากเกินไป...

         สุดท้ายผมก็ได้แต่บอกว่า...มันเป็นเช่นนั้นเอง...

         ถามว่าแล้วจะเป็นอย่างไรกันต่อไป….ก็ต้องบอกต้องมองกันตรงๆ ว่า วันนี้รัฐบาลก็คงต้อง “ดื้อตาใส” ไม่เล่นด้วยกับ 3 ข้อเสนอของพันธมิตรฯ และองค์กรเครือข่าย (ซึ่งวันนี้ได้แปรสภาพมาเป็น “คณะกรรมการรวมพลังปกป้องแผ่นดิน”) โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2543 และข้อ 2 ให้ถอนตัวจากภาคีมรดกโลก ส่วนข้อ 3 เรื่องให้ผลักดันกองกำลัง-ชุมชนชาวกัมพูชารอบปราสาทพระวิหาร นั้นรัฐบาลก็คงทำบ้างเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความจำเป็นเพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกกัมพูชาหยามน้ำหน้ามากเกินไป...

        ถึงบรรทัดนี้ต้องบันทึกเอาไว้ว่า ณ วันที่ 10 ก.พ. 2554 ขณะที่พันธมิตรฯ ได้ยกระดับการชุมนุมเป็นการขับไล่รัฐบาล ก่อนหน้าหนึ่งวันคือเมื่อวันที่ 9 ก.พ. รัฐบาลเองก็ได้ยกระดับการใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 ขอพื้นที่ที่พันธมิตรฯ ชุมนุม (รอบทำเนียบ 2 ด้าน) คืน...ขณะที่ในระยะต่อไปรัฐบาลเล็งเป้าไปที่การยุบสภาหลังผ่านงบประมาณกลางปี 2554 จำนวน 1.1 แสนล้านบาท...

        แต่แกนนำการชุมนุมคนสำคัญคือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ประกาศบนเวทีไปแล้วว่า ต่อให้ยุบสภาหนีก็จะชุมนุมต่อจนกว่าจะบรรลุ 3 ข้อเรียกร้อง...หรือจะพูดว่าพล.ต.จำลองและประชาชนกลุ่มนี้เขาพร้อมทำสงครามยืดเยื้อ ว่างั้นเถอะ....

         ถ้าทิศทางการเมืองเลื่อนไหลไปสู่การยุบสภา การเลือกตั้งในขณะที่ยังมีการชุมนุมหรือไม่มีการชุมนุมก็ตาม มีความเป็นไปได้ว่ากรณีเอ็มโอยู 2543 กรณีปัญหาอธิปไตยชายแดนไทย-กัมพูชาจะกลายเป็นประเด็นการพูดจาปราศรัยบนเวทีหาเสียงเลือกตั้งอย่างแน่นอน...ซึ่งไม่น่าจะเป็นภาพที่ดีนักสำหรับประเทศ

ดังนั้นโจทย์มีอยู่ว่า มีช่องทางไหนและมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะถอดสลักระเบิดเอ็มโอยู 2543 ให้ได้ก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่...

       มีพี่น้องคนไทยหลายคนที่มาชุมนุม ตั้งตรรกะคำถามกับผมว่า...ใช่หรือไม่ว่า...ถ้าเอ็มโอยู 2543 จัดทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณหรือรัฐบาลอื่นที่ไม่ใช่รัฐบาลประชาธิปัตย์ บางทีรัฐบาลอภิสิทธิ์อาจจะยอมอ่อนข้อหรือตอบสนองข้อเรียกร้องของพันธมิตรฯ ไปแล้วก็ได้....

        ผมได้แต่บอกพี่น้องเหล่านั้นว่า...คิดตรงกับผมเป๊ะเลย!!

               samr_rod@hotmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น