ที่ประชุมพรรค ปชป มีมติเอกฉันท์หนุนสูตร 375+125 “มั่นใจแก้ รธน.วันเดียวเสร็จ” อุ้ม “พนิช” มีสิทธิ์โหวต รธน.ได้ ป้องเอ็มโอยูอัปยศ ช่วยไทยไม่เสียดินแดน ซัด “แม้ว” อยู่เบื้องหลัง “อัมสเตอร์ดัม” วิ่งฟ้อง “ศาลอาญาโลก”
วันนี้ (24 ม.ค.) ในการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ โดยมี ส.ส.เข้าประชุมอย่างคับคั่ง แต่ขาดเพียงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าพรรคที่ติดภารกิจจึงไม่ได้เข้าร่วมการประชุม ซึ่งใช้เวลาในการประชุม กว่า 2 ชั่วโมง จากนั้น นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการพิจารณากรณีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2550 หลังจากที่คณะกรรมาธิการมีมติเอกฉันท์เห็นชอบเสียงข้างมากทั้งมาตรา 190 และมาตรา 93-98 ทั้งนี้ ที่ประชุมยืนยันว่า ใช้สูตร 375+125 ซึ่งถือว่าเป็นสูตรที่เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งนี้ ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีผู้ที่ขอสงวนคำแปรญัตติ 3 คน ซึ่งทั้ง 3 คน ก็ยืนยันว่า ไม่ติดใจ แต่ขออภิปรายในส่วนที่แปรญัตติก่อน และจะโหวตให้กับร่างของรัฐบาล ส่วนการหารือกับพรรรคร่วมรัฐบาล และ ส.ว.นั้นจะยึดหลักการณ์และเหตุผลของคณะกรรมการอิสระเป็นสำคัญ
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ในช่วงปิดสมัยประชุมที่ผ่านมา มีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.5 คน โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 123 ได้ระบุว่า ก่อนเข้ารับหน้าที่ต้องปฏิญาณตนต่อสภา ที่ตนเองเป็นสมาชิก แต่เนื่องจากในวันที่ 25 ม.ค.เป็นการเปิดประชุมรัฐสภา ทำให้ ส.ส.ใหม่ทั้ง 5 คน ไม่ได้ปฏิญาณตนต่อสภาผู้แทนราษฎร จึงยังไม่นับเป็นองค์ประชุม ในการประชุมรัฐสภาวันที่ 25 ม.ค.จะมี ส.ส.470 คน ส.ว.150 รวม 610 เสียง ทำให้องค์ประชุมในการประชุมรัฐสภา คือ 310 เสียง แต่ถ้าในวาระที่ 2 ก็คือ วันที่ 26 ม.ค.ซึ่ง ส.ส.ทั้ง 5 คน ปฏิญาณตนแล้ว การลงมติในวาระที่ 3 องค์ประชุมจะเพิ่มขึ้น 5 คน เป็น ส.ส.475 คน ส.ว.150 คน ดังนั้น องค์ประชุม คือ 313 คน ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงเห็นชอบว่า เมื่อ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับความเห็นชอบจาก กกต.และรายงานตัวต่อสภา ควรจะเข้าไปร่วมรับฟังในวาระที่ 2 แต่ไม่มีสิทธิ์อภิปราย ส่วนการลงมติจะให้มีการลงคะแนนที่เดียวทั้ง 13 ฉบับ โดยนำมาว่างเรียงรายฉบับเพื่อให้สมาชิกได้ลงคะแนนว่าจะเลือกฉบับไหน หรือจะใช้การหาเสียงสูตรไหนตามใจชอบ ส่วนวิธีการลงคะแนนเป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาจะเป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ตาม คาดว่า จะใช้เวลาพิจารณาเพียง 1 วันก็เสร็จ เพราะผู้ที่มีสิทธิ์อภิปรายจะต้องเป็นผู้เสนอคำแปรญัตติเท่านั้น ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 20 คน
นพ.วรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงประเด็นที่ นายพนิช จะสามารถลงมติประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และเห็นว่า นายพนิช มีสิทธิ์ที่จะโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ได้หารือถึงการชุมนุมของกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 25 ม.ค.นี้ ว่า พรรคได้รับทราบถึงข้อเรียกร้องใน 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 43 ซึ่งพรรคเห็นว่า รัฐบาลได้ใช้เอ็มโอยู 43 เป็นแนวทางสำคัญในการต่อสู้ข้อพิพาท และเป็นสาเหตุให้ทางกัมพูชายอมรับในการเข้าร่วมการเจรจา ดังนั้น เสียงส่วนใหญ่ของพรรคจึงเห็นด้วยที่จะให้คงเอ็มโอยู 43 ไว้ 2.การไม่ยอมรับแผนที่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก รัฐบาลไทยมีเวทีของคณะกรรมาธิการอยู่ การยกเลิกจะทำให้ไทยเสียเปรียบได้ 3.การผลักดันชาวกัมพูชาออกจากพื้นที่ พรรคไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่า ประชาชนตามชายแนวแดนเป็นเครือญาติที่จะต้องไปมาหาสู่กัน หากมีการผลักดันจะทำให้เกิดปัญหาได้ และอาจเกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น ทางพรรคจึงอยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมเข้ามาหารือกันกับรัฐบาล เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจกระทบต่อการช่วยเหลือคนไทยที่เหลืออีก 2 คนที่ยังอยู่ในประเทศกัมพูชาได้
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช.ที่เตรียมยื่นฟ้องรัฐบาลไทย นายกฯ และรองนายกฯ ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ว่า เป็นการจงใจดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามายุ่งเกี่ยวการเมืองในประเทศ และชัดเจนว่าผู้ที่ดำเนินการ คือ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จึงเป็นการยืนยันว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ให้การสนับสนุนอยู่ และขอบเขตของศาลอาญาระหว่างประเทศนั้น จะว่าความได้เฉพาะคดี การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงครามกลางเมือง การกระทำผิดต่อมนุษยชาติ และการรุกรานยของประเทสเพื่อนบ้าน โดยที่ศาลในประเทศนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ จะเห็นได้ว่า เป็นการกระทำเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศไทย