xs
xsm
sm
md
lg

เขมรอ้างจนได้ ปาก “กษิต-ผจว.สระแก้ว” มัดตัว 7 คนไทย ล้ำดินแดน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษา “ฮุนเซน” เผยแพร่บทความผ่านกระบอกเสียงรัฐบาล ลั่นคนไทย 7 คน ถูกจับในแผ่นดินเขมร ยกวาทะ “สองมาตรฐาน” ตอกกลับ “มาร์ค” ไม่ควรแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมของกัมพูชา อ้างคำพูด “กษิต” และผวจ.สระแก้ว ยอมรับ 7 คนไทยรุกล้ำเขตแดน ขู่ไทยหากขวาง “แผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร” จะจุดปะทุความตึงเครียด

เว็บไซต์ฟิฟทีนมูฟ รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา นายสม สุธา ที่ปรึกษาฮุนเซน เขียนบทความ “การจับกุมผู้บุกรุก 7 คนไทย - เป็นปัญหาทางกฎหมายหรือพิพาทเขตแดน?” ตีพิมพ์ในเว็บไซต์สำนักข่าวกัมพูชาในสังกัดกระทรวงข่าวสาร และถูกเผยแพร่ซ้ำในเว็บไซต์สำนักนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยทั้งสองแหล่งระบุว่าเป็นความเห็นของผู้เขียนไม่จำเป็นต้องเป็นการสะท้อนความเห็นของรัฐบาลกัมพูชา แต่ก็ตีพิมพ์เผยแพร่โดยส่วนราชการหลักของกัมพูชาอย่างน้อยสองกระทรวง และแพร่หลายในเว็บไซต์ต่างๆ ในลำดับถัดมา ฟิฟทีนมูฟแปลเรียบเรียง ดังต่อไปนี้

การจับกุมผู้บุกรุก 7 คนไทย - เป็นปัญหาทางกฎหมายหรือพิพาทเขตแดน? โดย สม สุธา

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 คนไทย 7 คน ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่กัมพูชาเนื่องจากเข้ากัมพูชาโดยผิดกฎหมาย คนไทยทั้ง 7 เหล่านั้นถูกส่งไปยังเรือนจำกัมพูชาในพนมเปญเพื่อควบคุมตัวชั่วคราว ศาลนครพนมเปญ (ศาลชั้นต้น) ได้ตั้งข้อหา 1) เข้ากัมพูชาโดยผิดกฎหมาย 2) เข้าที่ตั้งทหารโดยผิดกฎหมายด้วยความมุ่งร้าย ซึ่งพวกเขาถูกพิจารณาคดีครั้งแรกในศาลเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 6 มกราคม 2554

คนไทยทั้ง 7 นี้รวมถึงสมาชิกรัฐสภาไทย นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ นายวีระ สมความคิด ผู้นำร่วมของกลุ่มการเมืองไทยที่เรียกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (PAD) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสื้อเหลือง” ก่อนหน้านี้ นายวีระเคยถูกจับกุมหลายครั้งโดยเจ้าหน้าที่กัมพูชา ครั้งสุดท้ายเมื่อสิงหาคม 2553 และอีกครั้งถูกดำเนินคดีในความผิดเดิม-ข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย

นับแต่การจับกุมได้ทำให้เกิดการโต้เถียงการเมืองและกฎหมายที่กรุงเทพฯ คนไทยบางกลุ่มได้เรียกร้องรัฐบาลให้เจรจาอย่างจริงจังกับนายกรัฐมนตรีฮุนเซน หมายความโดยตรงและตีความว่าทั้ง 7 ควรถูกปล่อยตัวโดยปราศจากเงื่อนไข และในกระบวนการนั้นอ้างเหตุผลอย่างผิดเพี้ยนว่าทั้ง 7 ถูกจับกุมในดินแดนไทย

นายกรัฐมนตรีไทย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวเมื่อวันศุกร์ ที่ 7 มกราคม (ตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์) ว่าพรรคของตนพิจารณาว่าการดำเนินคดีต่อ 7 คนไทยเป็นเหตุเฉพาะต่อบุคคล และการดำเนินคดีไม่สามารถใช้สนับสนุนการอ้างสิทธิ์ใดของกัมพูชาต่อการจัดทำหลักเขต หรือทำให้กัมพูชาได้ทุกอย่างที่ต้องการในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกที่บาร์เรนในเดือนมิถุนายนปีนี้

คนเหล่านี้ต่างอยู่ในขั้นสับสน คนเหล่านี้ต่างอยู่ในขั้นหลอนและเข้าใจผิด

ประการแรก กระบวนวิชากฎหมายของรัฐบาลของใครบางคนอยู่ในความเสี่ยง ระบบยุติธรรมของโลกอยู่ในความเสี่ยง การล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถานหรือที่ดินของคนอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นผิดกฎหมาย การล่วงล้ำเข้าไปยังพรมแดนของประเทศอธิปไตยหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเอกสารการเดินทางที่ถูกต้อง ด้วยความจงใจหรือไม่จงใจเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ต้องถูกจับกุมและดำเนินคดีภายใต้กระบวนการยุติธรรมของประเทศผู้ถูกกระทบ

มีหลายประเทศในโลกซึ่งจับกุมคนข้ามแดน ควบคุมตัวและดำเนินคดี ดังนั้น จงปล่อยให้ศาลกัมพูชาได้ทำหน้าที่โดยไม่ถูกรบกวนและกีดขวาง ความยุติธรรมในทุกรัฐอธิปไตยจะต้องนำใช้ผ่านกระบวนการยุติธรรมของตนเอง ซึ่งสอดคล้องโดยเต็มเปี่ยมกับหลักนิติรัฐของประเทศนั้นโดยปราศจากข้อยกเว้น หรือ “สองมาตรฐาน” ต่อให้มีการนำสิ่งซึ่งเรียกว่าพื้นที่พิพาทขึ้นมาพิจารณามันก็ไม่มีความหมายอะไร การจับกุม 7 คนไทย เกิดขึ้นในดินแดนกัมพูชา หลังกลับจากเยือนกัมพูชา นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้แถลงว่าได้ตรวจพบว่าทั้ง 7 อยู่ในดินแดนกัมพูชาระหว่างถูกจับกุม เขากล่าวว่าการลงพื้นที่สำรวจโดยเจ้าหน้าที่กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และกรมแผนที่ทหาร พบว่าทั้ง 7 อยู่ในกัมพูชา คำแถลงนี้เป็นหลักฐานชัดเจนที่จะผูกมัดและตัดสินโทษทั้ง 7!

เจ็ดคนไทยโดยตัวพวกเขาเองได้ยินยอมที่จะบุกรุกแผ่นดินกัมพูชาเมื่อแสดงตำแหน่งจริงบนแผนที่และวิดีโอซึ่งบันทึกการปรากฏตัวของพวกเขา ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว ศานิตย์ นาคสุขศรี กล่าวว่า ทั้ง 7 รู้ว่าเขาได้เข้ามายังดินแดนกัมพูชา ยิ่งกว่านั้น นายศานิตย์กล่าวว่า รัฐบาลไม่สามารถแก้ตัวได้ว่า 7 คนไทยซึ่งนำโดย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ พนิช วิกิตเศรษฐ์ และนักเคลื่อนไหวเสื้อเหลือง วีระ สมความคิด พลัดหลงและเข้ามายังกัมพูชาโดยไม่ตั้งใจ

ในคำแถลงการณ์ภายหลัง เสื้อเหลือง (ตีพิมพ์ในบางกอกโพสต์ เมื่อ 12 มกราคม) ได้ยอมรับว่าคนไทยล่วงล้ำในเขตอธิปไตยของกัมพูชา ด้วยความหวังว่าจะได้รับการอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชา

ดังนั้น จงปล่อยให้ศาลได้ทำหน้าที่!

ประการที่สอง กลุ่มที่กล่าวถึงข้างต้นควรได้รับการเตือนสติเกี่ยวกับหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ “ไม่มีพื้นที่พิพาท”! กัมพูชาได้ใช้แผนที่ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนานาชาติในทุกการเจรจา แผนที่ดังกล่าวถูกใช้โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) กรุงเฮก เมื่อ 15 มิถุนายน 2505 เพื่อนำมาซึ่งคำตัดสิน ศาลตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยในระหว่างปี ค.ศ. 1908-1909 (พ.ศ. 2451-2452) ได้ยอมรับแผนที่ผนวก 1 (Annex I) ในฐานะเป็นผลของงานปักปันเขตแดน และด้วยเหตุนี้ได้ยอมรับเส้นบนแผนที่เป็นเส้นเขตแดน ศาลได้สรุปต่อไปว่า “การยอมรับแผนที่ผนวก 1 โดยคู่ภาคีเป็นผลให้แผนที่เข้ามาอยู่ในข้อยุติสนธิสัญญา และกลายเป็นส่วนควบของสนธิสัญญา” และด้วยเหตุนี้มีผลให้แผนที่เป็น “คุณลักษณะอันมีผลผูกพันกัน”

ต่อข้อยุตินี้ ในสามประเด็นที่ศาลตัดสิน มีว่า 1) “เห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนแผ่นดินภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา” และ 2) “ประเทศไทยมีภาระผูกพันที่จะต้องถอนทหาร ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยซึ่งประจำการที่ปราสาทพระวิหาร หรือในบริเวณใกล้เคียงบนแผ่นดินกัมพูชา”

กัมพูชาไม่เคยใช้แผนที่ซึ่งจัดทำขึ้นฝ่ายเดียวหรือไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ!

กลุ่มหัวรุนแรงเหล่านั้นได้ทรยศประวัติศาสตร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า และหลักแห่ง “กฎหมายระหว่างประเทศ” : ปราสาทพระวิหารเป็นทรัพย์สินของกัมพูชา ด้วยเหตุนี้ การเสนอแผนบริหารจัดการไปยังคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อทำนุรักษาปราสาทเป็นเป้าหมายสูงสุดของกัมพูชา

การกระทำใดๆ ที่ขาดซึ่งวุฒิภาวะและทรยศต่อหลักการข้างต้นจะจุดปะทุความตึงเครียด และแน่นอนว่าจะทำให้ไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบในการเจรจาใดๆ ในอนาคต

นายสม สุธา (Sam Sotha) เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในยุคเขมรแดง ลี้ภัยที่สหรัฐอเมริกา ทำงานช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและเขียนหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ “In The Shade of A Quiet Killing Place” ภายหลังเดินทางกลับกัมพูชาเพื่อมีส่วนในการรวมชาติ รับตำแหน่งเลขาธิการใหญ่องค์การปฏิบัติการเก็บกู้กับระเบิดกัมพูชา (Cambodian Mine Action Authority) เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฮุนเซน และเป็นหนึ่งในผู้เขียนบทวิเคราะห์ของสำนักข่าวกัมพูชา (Agence Kampuchea Presse) ในสังกัดกระทรวงข่าวสาร
กำลังโหลดความคิดเห็น