30 ธันวาคม 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ให้สัมภาษณ์กล่าวถึงคนไทยทั้ง 7 ที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมดังนี้
“โดยหลักการพื้นที่ดังกล่าวจะมีหลักเขตแดน หมุดที่ฝ่ายไทยปักเอาไว้หลักที่ 46-48 และมีประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อยุติมีการโต้แย้งเรื่องหลักเขตแดนว่าควรจะอยู่ตรงไหนจากฝ่ายกัมพูชา ซึ่งความแตกต่างสองส่วนระยะทางเป็น 10 เมตร วันนี้ได้สอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงแนวปฏิบัติว่าพื้นที่ที่อยู่ในเขตแดนของไทยตามหลักเขตของเราจะไม่มีกำลังของต่างชาติเข้ามาอยู่ เราไม่อนุญาตเด็ดขาดเพราะถือว่าเป็นพื้นที่ของเรา ส่วนพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องชุมชนชาวกัมพูชา ที่อยู่ตั้งแต่สมัยสู้รบ ตั้งแต่ 2520 เป็นประเด็นที่มีการกำหนดแนวเขตชัดเจนและไม่ให้มีการขยายหรือเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น การจับกุมที่เกิดขึ้นถ้าจับกุมในเขตแดนของเราเป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้แน่นอนเด็ดขาด แต่การจับกุมครั้งนี้ฝ่ายกัมพูชาอ้างว่าเป็นการ จับกุมเลยหลักเขตแดนของไทยไปแล้ว แต่ไม่ใช่หลักของฝ่ายกัมพูชากำลังมีการตรวจสอบโดยกระทรวงการต่างประเทศส่งคนลงไปในพื้นที่พร้อมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อไปดูจุดต่าง ๆ
แต่ไม่ว่ากรณีจับกุมจะเกิดขึ้นที่ฝั่งใดก็ตาม เราเห็นว่าบุคคลทั้ง 7 คน ควรจะได้รับการปล่อยตัวทันที ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางฝ่ายนโยบายทั้งสองฝ่ายได้เคยคุยกันว่ากรณีที่เกิดปัญหาในชายแดนลักษณะนี้โดยเฉพาะไม่มีอะไรบ่งบอกว่าคนทั้ง 7 คน มีอาวุธ ไม่ควรที่จะมีการจับกุม และเข้าสู่กระบวนการของศาล เพราะว่าจะทำให้ปัญหามีความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากกรณีที่เกิดกับนายวีระ สมความคิด มาแล้วครั้งหนึ่ง ในบริเวณนี้ ก็ใช้วิธีการประสานงานและมีการส่งตัวนายวีระกลับมา อันนี้คือแนวทางที่เราดำเนินการอยู่”
ที่ต้องมาทบทวนคำสัมภาษณ์ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อยืนยันวิธีคิดเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ว่ามีข้อมูลไม่แตกต่างจากสิ่งที่ภาคประชาชนกำลังเคลื่อนไหวให้ปล่อยตัว 7 คนไทยโดยไม่มีเงื่อนไข ด้วยเหตุผลดังนี้
1.หลักเขตที่ 46, 47, 48 คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ยังตกลงกันไม่ได้ว่าหลักเขตเดิมควรอยู่ตำแหน่งใด แปลว่าเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชายังไม่ชัดเจนพอที่จะระบุได้ว่า 7 คนไทยล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นเขตแดนฝ่ายไทยจะมีความชัดเจนก็ต่อเมื่อต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 190
2.นายอภิสิทธิ์ ทราบว่ามีปัญหาเรื่องชุมชนชาวกัมพูชา ที่อยู่ตั้งแต่สมัยสู้รบ ตั้งแต่ 2520 ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ แสดงว่าย่อมรู้อยู่แล้วว่ามีชุมชนชาวกัมพูชาที่มาอยู่อาศัยในประเทศไทย ไม่ใช่ตรรกะที่นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลพยายามพูดอยู่ในเวลาตอนนี้ว่าศูนย์เขมรอพยพบ้านหนองจานอยู่ในฝั่งกัมพูชา
3.พยานชาวบ้านเมื่อได้เห็นวีดีโอเหตุการณ์ ได้ชี้แจงจุดที่ 7 คนไทย ถูกจับในที่ดินของคนไทยที่มีทั้งเอกสารสิทธิ์ทำกิน และระบุว่าสระน้ำที่ องค์การสหประชาชาติเพื่อช่วยเหลือเขมรอพยพนั้นเคยเป็นที่ดินที่คนไทยทำมาหากินมาก่อนที่เขมรจะอพยพเข้ามา
4.ไทยและกัมพูชา ได้มีข้อตกลงไม่กี่วันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์จับกุม 7 คนไทยว่า ประชาชนทั้งสองฝ่ายเมื่อพลัดหลงข้ามไปมาจะต้องไม่ถูกนำตัวขึ้นสู่การพิจารณาในกระบวนการยุติธรรมของทั้งสองประเทศ
แทนที่จะใช้เงื่อนไขทั้ง 4 ข้อในการต่อสู้เพื่อให้กัมพูชาได้ปล่อยตัว 7 คนไทย แต่รัฐบาลไทยนอกจากไร้มาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อกดดันให้ปล่อยตัว 7 คนไทยให้กลับมาประเทศไทยโดยไม่มีเงื่อนไขแล้ว ยังประกาศยอมรับการพิจารณาของศาลกัมพูชาอีกด้วย
และในระหว่างการรอการพิจารณาของศาลกัมพูชา ทุกส่วนงานทั้งข้าราชการไทยและนักการเมืองต่างออกมาเร่งสรุปว่า 7 คนไทยได้รุกล้ำเข้าไปในเขตแดนกัมพูชาแล้ว ทั้งๆที่ในความเป็นจริงเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชาในบริเวณดังกล่าวยังตกลงกันไม่ได้ด้วยซ้ำไป
เวลากัมพูชาได้รุกล้ำ ยึดครองดินแดนประเทศไทยบริเวณเขาพระวิหาร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นอกจากจะไม่ดำเนินการผลักดันแล้ว กลับบอกว่าประเทศไทยยังไม่เสียดินแดนเพราะ การจัดทำหลักเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จและยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงบริเวณรอบๆปราสาทพระวิหารประเทศไทยได้สูญเสียอธิปไตยเหนือดินแดนในทางปฏิบัติไปแล้ว
แต่เวลาที่ 7 คนไทยเข้าไปเดินสำรวจชั่วครั้งชั่วคราว เพื่อหาหลักเขตแดน และพิสูจน์การรุกล้ำยึดครองดินแดนไทยของกัมพูชาในบริเวณ “หลักเขตยังตกลงกันไม่ได้” ระหว่างไทย-กัมพูชา รัฐบาลกัมพูชากลับนำตัวขึ้นสู่ศาลกัมพูชา ส่วนรัฐบาลไทยและข้าราชการกลับบอกว่า 7 คนไทยรุกล้ำเข้าไปในกัมพูชาแล้ว และคำสัมภาษณ์ของคนในรัฐบาลเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานที่กัมพูชาใช้อ้างอิงเพื่อที่จะลงโทษ 7 คนไทยอยู่ในขณะนี้
นี่คือตรรกะที่ล้มเหลว และล้มละลายอย่างสิ้นเชิงในการใช้ เอ็มโอยู 2543 ของรัฐบาล!!!
การยอมรับอำนาจศาลกัมพูชา โดยที่กัมพูชาไม่สนใจข้อตกลงกันก่อนหน้านี้ว่าจะไม่นำคนทั้งสองประเทศที่ข้ามแดนไปมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมนั้น มันใช้ได้กับฝ่ายไทยฝ่ายเดียวเท่านั้น แต่ไม่เคยใช้อะไรได้กับฝ่ายกัมพูชา
เรื่องนี้ความจริงเป็นที่รู้กันว่านายฮุน เซน มีความอาฆาตแค้นกับ นายวีระ สมความคิดเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลไทยยอมรับอำนาจศาลกัมพูชาเมื่อใด และยอมรับว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชาเมื่อใด เราก็คงได้ยินข้อหาแปลกๆและร้ายแรงที่พร้อมจะยัดเยียดให้กับ นายวีระ สมความคิด เพิ่มเติมอย่างแน่นอน
เพราะการยอมรับและประกาศบ่อยๆว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชานั้น เกิดประโยชน์หลายสถานต่อนักแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน และเห็นแก่ตัวที่แฝงมาในรูปทั้งนักการเมืองและข้าราชการ
1.นักการเมืองที่ต้องการรักษาภาพลักษณ์ว่าเป็นนักสันติวิธี ก็ไม่ต้องรับผิดชอบหรือใช้มาตรการตอบโต้ว่ามีการใช้อำนาจศาลแสดงอธิปไตยเหนือดินแดนไทย
2.ข้าราชการที่ดูแลในพื้นที่ก็อยู่สบายต่อไปเพราะไม่ต้องรับผิดชอบ ในการผลักดันชาวกัมพูชาให้ออกจากพื้นที่
3.ข้าราชการ นักการเมืองท้องถิ่น ก็ยังแสวงหาผลประโยชน์ชายแดนพื้นที่คลุมเครือต่อไปได้ ทั้งของหนีภาษีที่นำเข้าจากสิงคโปร์ผ่านด่านกัมพูชา, การส่งของลักขโมยข้ามไปยังกัมพูชา, การลักลอบตัดไม้พะยูง, การส่งส่วยของบ่อนคาสิโน ฯลฯ
4.นักการเมืองระดับชาติก็จะสามารถเจรจาเรื่องผลประโยชน์ในอ่าวไทย เพื่อนำไปสู่ผลประโยชน์ของนายทุนและนักการเมืองเพียงไม่กี่คน
การเดินเกมว่า 7 คนไทยรุกล้ำเข้าไปในกัมพูชานั้น น่าจะมีความคาดหวังให้ศาลกัมพูชาตัดสินลงโทษเร็วที่สุด เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษจากกษัตริย์กัมพูชาให้ออกมาเร็วที่สุด เพื่อช่วยให้คนไทยบางคน โดยเฉพาะนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ และผู้ติดตาม ที่รับสารภาพแต่โดยดีว่าตัวเองรุกเข้าไปในเขตแดนกัมพูชา เพราะอย่างน้อยนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ก็มีสถานภาพการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ว่ารัฐบาลได้เคยอ้างเรื่องเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในประเทศไทยเพื่อช่วยนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ให้รอดออกมาคนเดียวก่อน
ถ้ารัฐบาลไทยสู้เพื่อให้ 7 คนไทยแพ้คดีความแล้วหวังว่าจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีหลักประกันใดๆทั้งสิ้นเลยว่าจะได้รับการพระราชทานอภัยโทษจริง โดยเฉพาะการเดินเกมยอมรับอำนาจศาลกัมพูชาและตอกย้ำว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชาแล้ว ก็ไม่แน่ว่า 7 คนไทยจะรอดกลับมาได้ทั้งหมด
และผลต่อเนื่องจากรัฐบาลไทยยอมรับอำนาจศาลกัมพูชาและรีบสรุปว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชา ทำให้กัมพูชาสามารถเพิ่มข้อหาให้ นายวีระ สมความคิด และน.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ ให้หนักเพิ่มขึ้นคือ พยายามประมวลข่าวสาร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อการป้องกันประเทศ ตามมาตรา 27 และ มาตรา 446 ของกฎหมายกัมพูชา ซึ่งมีโทษจำคุกได้ถึง 10 ปี
กลยุทธ์ของรัฐบาลกับภาคประชาชนจึงต่างกันในจุดสำคัญ
รัฐบาลไทยสู้แบบยอมรับอำนาจศาลกัมพูชา และรีบสรุปว่า 7 คนไทยรุกเข้าไปในกัมพูชา พยายามช่วยกันหาหลักฐานว่า 7 คนไทยกระทำความผิด เจรจาให้ศาลกัมพูชาพิจารณาคดีและพิพากษาลงโทษให้เร็วแล้วจะเร่งขอพระราชทานอภัยโทษ โดยมีเป้าหมายช่วยให้คนไทย “บางคน” รอดกลับมาให้เร็วที่สุด
แต่นักวิชาการและภาคประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเรื่องนี้ ต่างมีจุดยืนเดียวกันกับวาทกรรมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2553 คือต้องกดดันไม่ให้ยอมรับอำนาจศาลกัมพูชา พยายามหาหลักฐานว่า 7 คนไทยไม่ได้รุกเข้าไปในกัมพูชา และมีหลักฐานมากมายที่ต้องไม่นำ 7 คนไทยขึ้นสู่ศาลกัมพูชา พร้อมหวังว่ารัฐบาลไทยจะทำหน้าที่กดดันรัฐบาลกัมพูชาให้ปล่อย 7 คนไทยทั้งหมดให้กลับมาประเทศไทยทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข
ความแตกต่างในกลยุทธ์คือ รัฐบาลไทยสู้เพื่อให้บางคนรอดโดยเร็วที่สุด ในขณะที่กลยุทธ์ของนักวิชาการและภาคประชาชนสู้เพื่อให้ “7 คนไทยรอดทั้งหมดทุกคน” !!!