xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ 3 ข้อเสนอพันธมิตรฯในการแก้ปัญหาไทย-เขมรแบบบูรณาการเป็นเรื่องดี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุทธิ อัชฌาศัย  ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก
ศูนย์ข่าวศรีราชา - “สุทธิ” วิเคราะห์ 3 ข้อพันธมิตรฯ กับแนวทางแก้ไขปัญหาชายแดนไทย-เขมร แบบบูรณาการ ชี้เป็นการเพื่อบอกไปยังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้คิดเป็นทำเป็น..เลือกทำในสิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรเลือกทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อว่ารัฐบาลจะเกิดอริยมรรคหาทางออกให้เกิดความเป็นชาติไทยได้เสียที

นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่าข้อเสนอของพันธมิตรที่ส่งไปถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็น 3 ข้อเสนอที่เกี่ยวข้องเรื่องดินแดนไทย เขมร เห็นว่าเป็นข้อเสนอแห่งความก้าวหน้า แห่งความท้าทายและก้าวหน้าสู่การจัดการปัญหาข้อพิพาทชายแดนไทย - เขมร แบบบูรณาการ

ตนในฐานะคนทำงานในภาคประชาชน และยึดมั่นในหลักสิทธิประชาชนและสิทธิมนุษยชน ขอวิเคราะห์แนวทางออก จากข้อเสนอพันธมิตรเพื่อบอกไปยังรัฐบาลอภิสิทธิ์ ให้คิดเป็นทำเป็น..เลือกทำในสิ่งที่ควรทำ และ ไม่ควรเลือกทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพื่อว่ารัฐบาลจะเกิดอริยมรรคหาทางออกให้เกิดความเป็นชาติไทยได้เสียที

ข้อเสนอข้อที่ 1 ให้ยกเลิก MOU 43 คือข้อตกลงที่ว่าด้วยการเจรจาข้อพิพาทในที่ดินบริเวณชายแดนไทยเขมร ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังมีปัญหาอยู่ ประเทศไทยจึงเรียกว่าดินแดนพิพาท กำลังถกเถียงกันเรื่องสันปันน้ำ อัตราส่วน 1:50000 หรือ 1:200000 ในทางเทคนิค ต้องคิดเครื่องมือในการคำนวณอีกมากมาย จึงหาข้อยุติได้ ซึ่ง ไม่รู้ว่าจะจบได้เมื่อไหร่ ถ้ามองโดยบริบทแล้ว MOU 43 เป็นข้อตกลงที่เกิดจากความคิดของฝ่ายรัฐทำต่อรัฐ

ทั้งที่ รัฐสภาซึ่งเป็นหนึ่งในอำนาจในสามอำนาจหลักของประเทศไทย ยังไม่ได้ใช้สัตยาบัน เสียด้วยซ้ำ เกิดจากรัฐตกลงกับรัฐเพื่อผลประโยชน์ของคนที่เป็นรัฐอยู่ในขณะนั้นทั้งสองประเทศ ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสองประเทศ ไร้ฉันทามติจากคนทั้งชาติ

ที่สำคัญประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณเขตแดนรอยต่อ ข้อพิพาทในเรื่องดินแดน พวกเขาไม่ได้มีส่วนแสดงความเห็นใดๆเลย..ทั้งที่พวกเขาต้องเผชิญกับอาวุธและสงครามทุกครั้งไป เมื่อเกิดสงครามกัน จากผลประโยชน์ของรัฐต่อรัฐไม่ลงตัว ทำให้เห็นว่า MOU 43 ขาดความชอบธรรม และไม่ถือเป็นคำตอบที่จะใช้ ถือปฏิบัติต่อไป เพราะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบัน

ทางออกใหม่จากข้อเสนอพันธมิตรฯ ยกเลิก MOU 43 ร่าง MOU ฉบับใหม่ ซึ่งขอเรียกว่า MOU 54 รัฐบาลควรแสดงความกล้าหาญของการเป็นรัฐบาลแห่งชาติไทย ด้วยการดำเนินการที่สมควรทำ ดังนี้ คือ ยกเลิก MOU 43 ทันที จัดทำ MOU ฉบับใหม่ ภายใต้การวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนของ MOU 43 อย่างเป็นระบบ เปิดการมีส่วนร่วมจากทั้งนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ ผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประประชาสังคม และภาคประชาชนทั้งประเทศ เพื่อเห็นถึงความบกพร่องของการทำ MOU 43 ทั้งหมด

ทำความเห็นทั้งหมดของความเป็นชาติไทยจากการวิเคราะห์ ซึ่งมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแล้ว สู่เวทีประชาคมโลก และต่อประเทศเขมร หรืออาจจะเรียกว่า MOU 54 โดยการคำนึงหลักการ ดังนี้ 1. หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งสองประเทศ ในการทำข้อตกลง 2. ถือ หลักสิทธิมนุษยชน โดยต้องเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยบริเวณตะเข็บชายแดน ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องข้อพิพาทบริเวณชายแดนด้วย เพราะถือว่าเขามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
3. ถือหลักวัฒนธรรมของประเทศ เพื่อนบ้านในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน มากกว่าหลักผลประโยชน์ต่างตอบแทนของรัฐต่อรัฐ

4. ถือหลักประชาธิปไตย ควรผ่านกระบวนการของรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งสองประเทศก่อน และอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม 5. บันทึก MOU ฉบับใหม่ ท่ามกลางการเปิดเผยและโปร่งใส 6. ทำ MOU ฉบับใหม่ที่ลงนามด้วยกันที่ถูกต้องและชอบธรรม เสนอสู่เวทีประชาคมโลก อย่างมีเหตุผล สะท้อนถึงการหาทางออกภายใต้วัฒนธรรมของชาวเอเชียอาคเนย์

ข้อเสนอข้อที่ 2 คือ ถอนตัวออกจากคณะกรรมการมรดกโลก ข้อนี้ ต้องตรวจสอบการดำเนินการของคณะกรรมการมรดกโลกว่า มีภูมิความรู้ในเชิงประวัติศาสตร์และความเป็นวัฒนธรรม มากน้อยขนาดไหน ถ้าพบว่า คณะกรรมการมรดกโลก มิได้ทำหน้าที่เพื่อรักษาความเป็นมรดกโลกอย่างแท้จริง และในทางกลับกัน กลับใช้ความเป็นมรดกโลกที่เป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุ สถานที่สำคัญของประวัติศาสตร์สถานที่สำคัญทางทรัพยากรธรรมชาติ หรือสถานที่สำคัญทางการท่องเที่ยว มาเป็นเครื่องมือในการต่อรองในผลประโยชน์มากกว่าในการพิทักษ์สมบัติของชาวโลก

ประเทศไทยก็สมควรถอนตัวออกจากกรรมการชุดดังกล่าว และสมควรเป็นการนำในการชักจูงกลุ่มประเทศที่มีความคิดร่วมกันปกป้องสมบัติของชาวโลก จัดตั้งคณะกรรมการมรดกโลก เพื่อชาวโลกชุดใหม่ สำหรับพิทักษ์คุ้มครองมรดกโลกอย่างแท้จริง ถือสัตยาบัน ร่วมกัน รักษามรดกโลกเพื่อชาวโลก และอนุชนรุ่นหลัง ไม่ใช่เพื่อใช้เวทีมรดกโลกเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการค้าระหว่าประเทศ

ข้อเสนอข้อที่ 3 ผลักดันเขมรออกจากพื้นที่ ซึ่งข้อนี้ต้องวิเคราะห์ อย่างระมัดระวัง กลัวจะกระทบหลักสิทธิมนุษยชน แต่ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความเป็นไปได้ในการผลักดันเขมรออกไปจากประเทศไทย ด้วยเหตุผล ที่ว่า เขมรไม่เคารพต่อหลักสิทธิมนุษยชนสากล ด้วยการล่วงละเมิดประชาชนชาวไทยก่อน เหตุผลเชิงประจักษ์ คือ การจับกุมคนไทย 7 คน ศาลพิพากษา 2 คนไทยด้วยข้อหาฉกรรจ์ แม้เหตุผลในกระบวนการยุติธรรมผิดพลาดในการสืบข้อเท็จจริง จงใจกลั่นแกล้งคนไทยด้วยการใช้อำนาจศาล คือ เป็นการผิดหลักปฏิญญาสากล ว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน โดยหลักตุลาการ มักจะมีคำคติพจน์ ประจำตัวตุลาการไว้ว่า “ ปล่อยคนกระทำผิดให้ลอยนวลไป 10 คน..ดีกว่าสั่งจำคุกคนไม่ผิดแค่เพียง 1 คน “

นี่คือคติพจน์ที่ตุลาการมักท่องจำกันทุกคน กรณีที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของขบวนการตุลาการของประเทศเขมร สิ่งที่ตุลาการเขมรควรทำหน้าที่ แต่ไม่เคยทำให้สังคมโลกได้เห็น คือ การตัดสินโทษกับผู้ที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เขมรแดง เป็นล้านศพ ศาลเขมรกลับไม่เคยตัดสินเลยสักครั้งเดียว เป็นความบกพร่องอย่างเห็นได้ชัดของกระบวนการยุติธรรมในประเทศเขมร เราจึงไม่ควรรับกับระบบศาลของเขมร และสมควรเร่งขยายผลคำตัดสินของศาลเขมร สู่การหารือของประชาคมโลก เพื่อความถูกต้อง ต่อไปโดยเร็ว

ทั้งนี้ควรให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชนสากลเป็นประการสำคัญ ดังนั้น การขับไล่เขมรออกจากประเทศไทยอาจจะเกิดขึ้นได้ ถ้าคนไทยยังถูกกลั่นแกล้งกระทบกระทั้งทางสิทธิมนุษยชนอยู่ โดยรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเตรียมการ และหาแรงงานจากประเทศอื่นมาทดแทนแรงงานชาวเขมร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งนี้ รัฐบาลควรเตรียมการ และดำเนินการผลักดันเขมรออกประเทศ ด้วยหลักสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นเดียวดัน

ในทัศนะของตน ข้อเสนอข้อที่ 3 ของพันธมิตรฯ อาจไม่ต้องปฏิบัติก็ได้ ถ้าข้อเสนอข้อที่ 1 และ ข้อที่ 2 ของพันธมิตรฯถูกดำเนินการไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นจริง ข้อเสนอข้อที่ 3 นี้ ก็ถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และขอแสดงความเห็นด้วยกับการผลักดันให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอ ด้วยความท้าทายแบบบูรณาการ เพื่อหาข้อยุติ สู่ความเป็นชาติไทยที่ยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น