กมธ.สิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ทำหนังสือเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี จี้ เปิดประชุมสภาความมั่นคง เพื่อช่วยคนไทย 7 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ทำหนังสือเปิดผนึกแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีกัมพูชาจับคนไทยในพื้นที่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนของหลักเขตแดน ถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เนื่องจากคณะกรรมาธิการสิทธิฯได้มีมติให้เสนอความเห็นมายังนายกรัฐมนตรี ดำเนินการที่เกี่ยวข้อง 5 ประการคือ
1.ใช้ที่ประชุมสภาความมั่นคง (สมช.) เพื่อแก้ปัญหา และยกระดับความสำคัญของปัญหา เนื่องจากการให้ความเห็น และแนวทางการปฏิบัติของส่วนราชการต่างๆ ไม่ประสานสอดคล้องกัน จนอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในเรื่องบูรณภาพแห่งเขตอำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 บัญญัติ และเกิดกรณีส่อว่ามีการละเมิดสิทธิฯในกระบวนการยุติธรรมต่อประชาชนไทย จึงเห็นให้มีการเปิดประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะคณะรัฐมนตรี ในเรื่องนโยบายภายใน นโยบายต่างประเทศ และนโยบายการทหารกับเศรษฐกิจ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติให้สอดคล้องกัน
2.นายกรัฐมนตรีควรพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ทำหนังสือประท้วงกัมพูชาต่อสหประชาชาติ ผ่านองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย หรือออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนในเรื่องพื้นที่พิพาทดังกล่าวไว้ก่อน เนื่องจากใช้ท่าทีตั้งรับแบบที่เป็นอยู่เป็นท่าทีไม่อาจปกป้องดินแดนไทยในพื้นที่พิพาทในหลายพื้นที่ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลควรพิจารณาให้สหประชาชาติเป็นคนกลางแก้ปัญหาข้อพิพาทไทยกัมพูชา
3.การปฏิเสธการใช้อำนาจศาลกัมพูชาตัดสินคดีที่เกิดในเขตดินแดนพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐ เนื่องจากกัมพูชาไม่มีอำนาจ สิทธิ ในการพิจารณาคดี เพราะโดยหลักสากลคดีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนที่รัฐไทย และรัฐกัมพูชา ต่างอ้างเป็นดินแดนของตน ซึ่งเป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐต่อรัฐ ไม่ใช่เรื่องคนหลบหนีเข้าเมืองตามปกติ ดังนั้น รัฐบาลควรใช้กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐตามกฎบัตรสหประชาชาติ แทนการยินยอมให้ศาลของประเทศใดประเทศหนึ่งมีอำนาจในการพิจารณาคดีพิพาทระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนเช่นกรณีนี้
4.รัฐบาลควรสำรวจพื้นที่พิพาทเขตแดนระหว่างประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด และประกาศเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างประเทศ โดยมีสัญลักษณ์แสดงขอบเขตของพื้นที่นั้นอย่างชัดเจน และไม่ยอมให้ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายเข้าไปในบริเวณนั้นอย่างเสมอภาคกัน พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ของรัฐดูแลมิให้คนไทยพลัดหลงเข้าไปบริเวณดังกล่าว
5.ควรมีการพิสูจน์เอกสิทธิ์ครอบครองที่ดินที่มีปัญหาของประชาชนชายแดน ประชาชนที่มีสิทธิ์ครอบครองที่ดินในพื้นที่ตามข้อ 4 ทุกคน ควรได้รับการพิสูจน์สิทธิ์จากเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีการพิจารณาจัดสรรพื้นที่ทำกินชดเชยให้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 41 บัญญัติ