xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มิ่งขวัญ”นำทัพสับ“มาร์ค” ลงสนามทำศึกทั้งที่ไม่พร้อม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ” คือหัวหน้าทีม และบุคคลที่พรรคเพื่อไทยผลักดันให้เป็นผู้นำในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พร้อมกับเสนอชื่อแนบท้ายญัตติ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้พรรคฝ่ายค้าน หากอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี จะต้องเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีแนบท้ายญัตติด้วย

ในทีมผู้อภิปรายรอบนี้ มิ่งขวัญ เผยว่าจะใช้ส.ส.ในการอภิปรายไม่เกิน 20 คน โดย ส.ส.ที่จะลุกขึ้นอภิปราย 1 คน จะมีผู้ช่วยที่เป็นทีมส.ส.ด้วยกันเองในการหาข้อมูล และเตรียมการอภิปรายประมาณ 3 คน

ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นที่ชัดเจนว่า จะไม่ร่วมวงอภิปราย ค่อนข้างแน่ แม้จะถูก มิ่งขวัญ-แกนนำพรรค รวมถึง ส.ส.เพื่อไทยหลายสิบคน ทั้งขอร้อง และวิงวอนให้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้ มิ่งขวัญ ด้วยการร่วมทีมอภิปรายด้วย

แต่ “เหลิม บางบอน” ก็ยืนกราน ไม่กลับคำพูด

เพราะหากกลับลำก็เสียคน ถึงขั้นมีข่าวบอกว่า เฉลิม พูดกับส.ส.อีสานหลายคน ซึ่งเจอกันในลิฟต์ ที่พรรคเพื่อไทยว่า

"ต่อให้ทักษิณมาขอร้อง ผมก็ไปร่วมทีมกับมิ่งขวัญไม่ได้ เพราะจะเสียผู้ใหญ่ เมื่อประกาศไปแล้วว่าไม่ร่วมด้วย ก็ต้องทำตามนั้น"

เหล่านี้ คือความชัดเจนล่าสุดอย่างเป็นทางการของพรรคเพื่อไทย ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบสุดท้ายของพรรค ก่อนที่จะถึงการเลือกตั้งใหญ่

ขณะที่ประเด็นเรื่องการอภิปรายของพรรค จะเน้นเรื่องปัญหาความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน ของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี - การทุจริตในรัฐบาลของรัฐมนตรีบางกระทรวง- ความด้อยประสิทธิภาพในการดูแลปัญหาเศรษฐกิจ และปากท้องของประชาชน -เรื่องการสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงของนายกรัฐมนตรี ที่จะมีควันหลงติดมาอีกครั้ง แม้ปีที่แล้วเพื่อไทยจะอภิปรายเรื่องนี้มาแล้วก็ตาม- ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเพื่อนบ้านคือ กัมพูชา

ทั้งหมดที่ยกมาข้างต้น เป็นเรื่องที่คาดเดา และทราบกันมานานแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นท่าทีล่าสุดใดๆ จากพรรคเพื่อไทย

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ” มองว่า การอภิปรายครั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าแม้พรรคเพื่อไทยพยายามตีปี๊ปสร้างกระแสว่า

มีข้อมูลเด็ด-หลักฐานแน่น-แม้จะรอดพ้นการโหวต แต่จะไปไม่รอดทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม เสียงสะท้อนจากหลายฝ่ายกลับพบว่า คนไม่ค่อยเชื่อน้ำยาพรรคเพื่อไทยเท่าไหร่ เหตุผลสำคัญเพราะ 2 ปี ของการเป็นฝ่ายค้าน 2 ปีของการทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร หลายเสียงให้คะแนนแบบไม่ต้องคิด

“เพื่อไทยสอบตก”

แม้ครั้งที่แล้วจะอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ในหลายเรื่องเช่น การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ของบริษัทซิโน-ไทย หรือปัญหาการบริหารงานในกระทรวงมหาดไทย

จนทำให้ส.ส.พรรคเพื่อแผ่นดิน โหวต “ไม่ไว้วางใจ” มาแล้ว แต่โดยข้อเท็จจริง ก็รู้กันดีว่าที่เพื่อแผ่นดินโหวตเช่นนั้น เหตุผลหลักไม่ใช่เพราะเห็นด้วยกับข้อมูล และคำอภิปรายของฝ่ายค้าน แต่เป็นเรื่องของการงัดข้อกันในเรื่องผลประโยชน์การเมือง หลายต่อหลายกรณีของแกนนำพรรคภูมิใจไทยอย่าง เนวิน ชิดชอบ-อนุทิน ชาญวีรกูล กับแกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน อย่างไพโรจน์ สุวรรณฉวี-พินิจ จารุสมบัติ-เกษม รุ่งธนเกียรติ ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจล้วนๆ

อีกทั้งเพื่อแผ่นดิน ประเมินผิด คิดว่าอภิสิทธิ์ ไม่กล้าปรับเพื่อแผ่นดินออกจากการร่วมรัฐบาล แต่สุดท้ายก็เสร็จหน้าหล่อจนได้ เพื่อแผ่นดิน โดนถีบออกจากการร่วมรัฐบาล

ดังนั้น เพื่อไทยจึงไม่สามารถอ้างได้ว่า นี่เป็นผลงานของเพื่อไทย ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจ จนทำให้ส.ส.ร่วมรัฐบาลโหวตสวนรัฐมนตรีที่โดนอภิปรายมาแล้ว ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ

มาครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ของการลงสนามศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของเพื่อไทย ซึ่งหากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถแสดงผลงานการเป็นพรรคการเมืองที่ต้องทำงานได้ทั้งในฐานะฝ่ายบริหาร และฝ่ายค้าน ย่อมจะเป็นผลเสียต่อพรรคเอง

ที่มีโอกาสจะแสดงฝีมือให้ประชาชนได้ประจักษ์ว่า บนเส้นทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ซึ่งก็คือไทยรักไทย-พลังประชาชน ที่อยู่บนถนนการเมืองมาแล้วเกินสิบปี และเป็นพรรคที่มี ส.ส.มากที่สุด สามครั้งติดต่อกันจากผลการเลือกตั้งปี 2544, 2548 และ 2550 แม้ส่วนใหญ่จะทำหน้าที่ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล แต่เมื่อถึงคราวต้องเป็นฝ่ายค้าน ก็ทำให้ประชาชนพึ่งได้ ฝากความหวังได้ว่า จะตรวจสอบฝ่ายบริหารได้อย่างเข้มข้น และมีประสิทธิภาพ

หากเพื่อไทยไม่สามารถนำโอกาสตรงนี้มาสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคได้ ก็ถือเป็นความผิดพลาดร้ายแรงยิ่งนัก

โดยเฉพาะกับการสร้างฐานลูกค้าใหม่ ของพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านี้อาจเคยเลือกประชาธิปัตย์ หรือพรรคการเมืองอื่น โดยไม่เคยเลือกไทยรักไทย-พลังประชาชนเลย รวมถึงกลุ่มที่ไปใช้สิทธิ แต่ไม่ลงคะแนนให้ใคร หรือโนโหวต แต่ตอนนี้กำลังสุดทนกับการบริหารประเทศของรัฐบาลอภิสิทธิ์ และพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดในเวลานี้ ที่มีแต่เรื่องทุจริต คอร์รัปชัน รวมถึงการทำให้ประเทศไทยส่อจะเสียทั้งดินแดน และศักดิ์ศรีให้กับกัมพูชา

คนกลุ่มนี้ก็อาจจะเลือกพรรคเพื่อไทยก็ได้ หากว่าคนของพรรค ทำหน้าที่ฝายค้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ อภิปรายโดยมีข้อมูล ข้อเท็จจริง พยานหลักฐานชัด เพื่อย้ำว่าถ้อยคำที่เขียนลงในญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นเรื่องจริง เพื่อไทยก็จะได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาเองโดยปริยาย

ทว่า กลับกัน หากส.ส.เพื่อไทย ยังคงใช้เวทีอภิปรายมาทำในสิ่งเดิม ๆ คือการฟอกผิดให้กับแกนนำนปช. และทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่เบื้องหลังการเผาบ้านเผาเมือง- การสร้างหลักฐานเท็จ ในเรื่องการสั่งสลายการชุมนุม หรือการอภิปรายในประเด็นเรื่องปัญหาไทยกับกัมพูชา โดยพยายามพูดเพื่อเอาใจ ฮุน เซน ที่มีสายสัมพันธ์อันดีกับ ทักษิณ ชินวัตร และดิสเครดิตกลุ่มๆต่าง อย่างฝ่ายพันธมิตรฯหรือกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติ ตลอดจนการเอาเวทีอภิปราย มายอวาที เชลียร์ทักษิณ ชินวัตร

หรือการพูดซ้ำไปซ้ำมา วนแต่เรื่องเดิมๆ ตามสูตร เช่น ประเทศไทยมีสองมาตรฐาน หรือการหลอกด่ารัฐมนตรี-แกนนำพรรคการเมืองคู่แข่ง ที่ถูกยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยไม่มีข้อมูลมายืนยันน้ำหนักการอภิปราย

ถ้าส.ส.เพื่อไทยคนไหน คิดจะใช้เวทีถ่ายทอดสด หวังจะเรียกคะแนนนิยมในพื้นที่ แต่กลับไม่ทำการบ้านเตรียมมาให้พร้อม แทนที่ออกทีวีแล้วจะดัง คนรู้จัก มันจะกลับเป็นการฆ่าตัวตายหน้าจอไปด้วยซ้ำ

ดังนั้น เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบนี้ จึงถือเป็นเวทีพิสูจน์ทางการเมืองครั้งสำคัญของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะในยามที่พรรคมีปัญหาคลื่นใต้น้ำมากมาย

อันเห็นได้จากวันประชุมทีมอภิปรายนัดแรก เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ ที่ “มิ่งขวัญ” เรียกประชุมกันที่รัฐสภา ปรากฏว่า นอกจากเฉลิมจะไม่เข้าร่วมเพื่อแนะนำการอภิปรายให้ส.ส.ในพรรคแล้ว ยังไปใช้ห้องประธานคณะกรรมาธิการกิจการสภาผู้แทนราษฏร ของ ศักดา คงเพชร ที่อยู่ใกล้ๆ กัน เป็นที่นัดเจอกันของคนในพรรค ที่ไม่ค่อยชอบหน้ามิ่งขวัญ ที่จะขออภิปรายด้วย เช่น วิทยา บูรณศิริ , วรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล เพื่อพูดคุยกันในเรื่องการอภิปราย โดยไม่ขึ้นกับทีมมิ่งขวัญ

ย่อมแสดงให้เห็นว่า เพื่อไทยเองลงทำศึกในสภาพที่ขุนพลพรรค ต่างก็ไม่ยอมรับในตัวแม่ทัพอย่างมิ่งขวัญ มันจึงเป็นการศึกที่ไม่พร้อมของเพื่อไทย อย่างเห็นได้ชัด

แบบนี้บรรดารัฐมนตรีหลายคนที่เพื่อไทยประกาศจองกฐินซักฟอกไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี , สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี , ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย ,โสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม , พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ , กรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง , จุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที เลยเบาใจ


กำลังโหลดความคิดเห็น