xs
xsm
sm
md
lg

ผ่านวาระ 3 “กองทุนออมแห่งชาติ” “กรณ์”ไม่ขัดการเมืองเว้นวรรคกรรมการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้ประชาชนทั่วไป ที่มีอายุระหว่าง 20-60 ปี ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบราชการ หรือได้รับบำเหน็จบำนาญ และสวัสดิการในระบบที่มีอยู่แล้ว เข้าร่วมการจ่ายเงินสมทบแบบการออม 100-1,000 บาทต่อเดือน และรัฐจะจัดสมทบให้อีกส่วนหนึ่งจนครบอายุ 60 ปี และจะจ่ายคืนเป็นบำนาญไปจนกระทั่งเสียชีวิต โดยให้ครอบคลุมแรงงานที่ยังไม่มีระบบการคุ้มครองเพื่อการชราภาพประมาณ 24 ล้านคน
มีสาระสำคัญ คือ ให้กระทรวงการคลังตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อให้ครอบคลุมแรงงานที่ยังไม่มีระบบการคุ้มครองเพื่อการชราภาพประมาณ 24 ล้านคน ซึ่งสมาชิกของ กอช. จะได้รับรายได้หลังเกษียณไปตลอดอายุขัย โดยกรณีออมขั้นต่ำตั้งแต่อายุ 20 ปี จนครบอายุ 60 ปี จะได้รับบำนาญเดือนละ1,710 บาท (รวมเบี้ยยังชีพเป็นเงิน 2,210 บาท) และหากออมเพิ่มขึ้นจะได้รับบำนาญเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กำหนดให้กองทุนจัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อทราบภายใน180วันนับจากวันที่สิ้นปีบัญชี โดยต้องเป็นรายงานแสดงประมาณการเงินที่จะขอให้รัฐบาลจัดสรรเพื่อการดำเนินงานของกองทุนในระยะเวลา 3 ปีนับจากวันเสนอรายงานผลงานกของกองทุนในปีทีล่วงมาแล้วพร้อมทั้งงบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีด้วย
สำหรับการอภิปรายเป็นรายมาตราในวาระ 2 สส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านส่วนใหญ่ติดใจเนื้อหาในมาตรา 14 (4) ที่กำหนดให้ข้อห้ามไม่ให้ข้าราชการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นหรือกรรมการที่ปรึกษาหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง ห้ามดำรงตำแหน่งกรรมการให้กอช. โดยสส.เห็นว่าควรมีการกำหนดระยะเว้นวรรคก่อนถึงจะสามารถมาดำรงตำแหน่งได้หลังจากที่ลาออกจากตำแหน่งตามมาตราดังกล่าวแล้ว และการเขียนถ้อยคำในลักษณะนี้อาจเป็นช่องว่างให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเพราะบุคคลสามารถลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวเพื่อมารับตำแหน่งกอช.ได้ทันที
ขณะที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ทำไมมาตรา 39 ตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวรัฐบาลถึงไม่จ่ายเงินสมทบในกรณีที่สมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติยังมีสถานะเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการกรุงเทพมหานคร กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือเป็นสมาชิกกองทุนหรืออยู่ในระบบบำนาญอื่นตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวงตามมาตรา 39
"การเขียนในลักษณะนี้จะไม่เป็นการสร้างแรงจูงใจให้มีประชาชนเข้ามาออมมากขึ้น เพราะไม่ได้ดอกผลอะไรจากการที่รัฐบาลไม่จ่ายเงินสมทบตามมาตราดังกล่าว แล้วแบบนี้รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรเข้ามาทดแทน" นพ.ชลน่าน
นายกรณ์ จาติกวนิช รมว.คลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ ชี้แจงว่า เจตนาเดิมต้องการเปิดโอกาสให้อดีตผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ในการทำงานมานาน แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่ของสส.ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านติดใจอยากให้มีการแก้ไข ดังนั้น กมธ.จะแก้ไขให้มีการกำหนดระยะเวลาเว้นวรรค 1 ปีหลังการลาออกจากตำแหน่งเดิมถึงจะสามารถเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการกอช.ได้
"ส่วนมาตรา 39 ยอมรับหากรัฐบาลยังจ่ายสมทบกับบุคคลที่มีการประกันตนอยู่จะเป็นการสร้างภาระให้กับรัฐบาลมากเกินไป แต่ที่เขียนมาตรา 39 นี้ก็เพื่อไม่ให้ปิดโอกาสการออมของสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติที่เมื่อครั้งเข้ามาเป็นสมาชิกโดยไม่ได้อยู่ในระบบประกันตน แต่เมื่อเวลาผ่านไปได้ทำงานในองค์กรที่มีระบบประกันตนก็ยังสามารถออมเงินผ่านกองทุนการออมแห่งชาติได้ และก็ไม่ได้ปิดโอกาสหากจะถอนเงินดังกล่าวออกจากกองทุนตามสัดส่วนที่ได้ส่งเข้ากองทุน" นายกรณ์ กล่าว
อย่างไรก็ตามทีประชุมมีมีมติ 324 ต่อ 1 เสียง เห็นชอบในวาระ3 เพื่อเสสนอให้วุฒิสภาพิจารณากลั่นกรองต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น