xs
xsm
sm
md
lg

โทษของการใช้ความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมไทยมีมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกรณี “การทำร้ายร่างกาย” หลายหน่วยงานได้พยายามรณรงค์ กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามการใช้ความรุนแรง แต่ก็ยังคงมีการใช้ความรุนแรงปรากฏให้เห็น เช่น กรณีนักเรียนหรือนักศึกษาต่าง สถาบันยกพวกตีกัน หรือล่าสุดกรณีผู้เสียหายถูกทำร้ายร่างกายในสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง

การเผยแพร่บทลงโทษทางกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เป็นอีกหนทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรง บทลงโทษของการทำร้ายร่างกายอยู่ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 295 - มาตรา 300

กรณีทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส เช่น ตาบอด หูหนวก ลิ้นขาด หรือเสียฆานประสาท เสียอวัยวะสืบพันธุ์ หรือความสามารถสืบพันธุ์ เสียแขน ขา มือ เท้า นิ้วหรืออวัยวะอื่นใด หน้าเสียโฉมอย่างติดตัว แท้งลูก จิตพิการอย่างติดตัว ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บเรื้อรังซึ่งอาจถึงตลอดชีวิต ทุพพลภาพ หรือป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาเกินกว่ายี่สิบวันหรือจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน มีโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี

เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำโดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องมีเจตนาต่อผลที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ดังนั้น เมื่อจำเลยใช้ท่อนไม้ขว้างปาผู้เสียหายถูกบริเวณศีรษะทำให้ผู้เสียหายตกรถจักรยานยนต์ได้รับบาดเจ็บ แม้จำเลยไม่มีเจตนาให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส คงมีเจตนาทำร้ายร่างกายผู้เสียหายก็ตาม จำเลยก็ต้องรับผิดในผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ทำร้ายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6519/2547)

จำเลยดันรถจักรยานยนต์ไปชนกับรถจักรยานยนต์ซึ่งผู้เสียหายนั่งซ้อนมาจนล้มลง เพื่อให้พวกของจำเลยรุมทำร้ายผู้เสียหาย โดยใช้อาวุธมีดฟันประทุษร้ายร่างกายผู้เสียหายหลายครั้งบริเวณหลังและแขนจนกระดูกแขนข้างขวาหักและมีบาดแผลฉีกขาดบริเวณหลัง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ต้องทุพพลภายป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกิน 20 วัน จำเลยจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8583/2550)

จำเลยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนตีทำร้ายร่างกายผู้ตายและร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายโดยเจตนาฆ่าในลักษณะต่อเนื่อง ข้อเท็จจริงได้ความว่าพวกของจำเลยยิงผู้ตายโดยลำพังซึ่งเป็นคนละตอนกับที่จำเลยใช้อาวุธปืนตีทำร้ายผู้ตายก็ตาม แต่การที่จำเลยทำร้ายผู้ตายก็ยัง เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่รวมอยู่ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้ตาย พฤติการณ์ที่จำเลยก่อเหตุทะเลาะวิวาทกับผู้ตายและใช้อาวุธปืนที่เตรียมไปตีทำร้ายผู้ตายแล้วพวกของจำเลยที่ไปด้วยกันยังใช้อาวุธปืนที่จำเลยนำไปด้วยนั้นยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย กรณีจึง ยังไม่สมควรรอการลงโทษให้จำเลย (คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 641/2543)

กรณีการทำร้ายร่างกายบุพการี เจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำ หรือได้กระทำการตามหน้าที่ ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่บุคคลนั้นจะช่วยหรือได้ช่วยเจ้าพนักงานดังกล่าวแล้ว ทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยทรมานหรือโดยกระทำทารุณโหดร้าย ทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการ หรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น หรือทำร้ายร่างกายผู้อื่นเพื่อจะเอา หรือเอาไว้ซึ่งผลประโยชน์อันเกิดแต่การที่ตนได้กระทำความผิดอื่น เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากทำให้บุคคลดังกล่าวได้รับอันตรายสาหัสผู้กระทำความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี

กรณีชุลมุนต่อสู้กันระหว่างบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไป และมีบุคคลได้รับอันตรายสาหัส โดยไม่ทราบว่าผู้ใด หรือผู้ใดร่วมกับใครทำร้ายจนได้รับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้าผู้ที่เข้าร่วมในการชุลมุนต่อสู้นั้นแสดงได้ว่า ได้กระทำไปเพื่อห้ามการชุลมุนต่อสู้นั้น หรือเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ เช่น

การขว้างปาสิ่งของเข้าไปในกลุ่มคนที่มีการชุลมุนต่อสู้กัน แล้วมีคนตาย ถือว่าเป็นการเข้าร่วมชุลมุนต่อสู้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2241/2522)

แต่ การที่บุคคลสองฝ่ายเข้าทำร้ายกัน โดยแต่ละฝ่ายสามารถแบ่งพวกกันได้ ไม่เป็นความผิดฐานชุลมุนต่อสู้ ถ้ามีผู้ถึงแก่ความตาย แม้ไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นผู้ทำร้าย ก็ถือว่าผู้ที่อยู่อีกฝ่ายหนึ่งนั้นทั้งหมดเป็นตัวการร่วมกันทำร้าย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642/2542)

กรณีกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เช่น

จำเลยที่ 1 เป็นนักเรียนหัดขับรถยนต์ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่จำเลยที่ 2 ได้รับใบอนุญาตขับขี่แต่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นครูฝึกสอนขับรถยนต์ ถนนที่หัดขับนั้นไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นถนนสำหรับฝึกหัดขับรถยนต์ จำเลยที่ 1 ขับจะเฉี่ยวหรือหักหลบรถสามล้อเครื่อง จำเลยที่ 2 ซึ่งนั่งควบคุมไปด้วยต้องเข้าช่วยหักพวงมาลัยเพื่อให้พ้นรถสามล้อเครื่อง เป็นเหตุให้รถพุ่งข้ามถนนชนต้นไม้และคนถึงบาดเจ็บและตาย จึงเป็นการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1199/2510)

กรณีข้างต้นถือเป็นอุทธาหรณ์แก่สังคมและอาจเป็นจุดที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความรุนแรง ทั้งประชาชนได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้ความรุนแรงนั้นว่ามีกฎหมายกำหนดบทลงโทษและศาลได้พิพากษาลงโทษผู้กระทำความรุนแรงไว้อย่างชัดเจน ดังนั้น การอยู่ร่วมกันในสังคมจึงควรปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพสิทธิของผู้อื่น ส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น