xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“พนิช วิกิตเศรษฐ์” พ้นสภาพส.ส.หรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - กลายเป็นหนังยาวอีกจนได้ หลัง “พนิช วิกิตเศรษฐ์” ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ เข้าประชุมรัฐสภา เพื่อร่วมโหวต ร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 190 และมาตรา 93-98 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา

“ส.ส.พนิช” ยืนยันว่าได้ใช้สิทธิ์เข้าร่วมประชุมรัฐสภา เพราะ ตอนนี้สถานะของเขายังเป็น ส.ส.อยู่ และย้ำอย่างหนักแน่น ว่า “หากเกิดปัญหาใดขึ้น ผมพร้อมที่จะรับผิดชอบ” !!

นายพนิช ยืนยันว่ายังสามารถทำหน้าที่ในฐานะส.ส.และลงมติได้ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย จากศาลรัฐธรรมนูญ ถ้ามีใครส่งเรื่องไปตีความ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ของ กกต. หรือเจ้าหน้าที่ของสภา มาบอกว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

กรณีคุณสมบัติการเป็นส.ส. ของ “พนิช” ถูกนำมาพูดถึง ทั้งก่อนและหลังจากศาลกัมพูชาได้มีคำพิพากษาจำคุก 5 คนไทย โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา เพราะการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส.เนื่องจากต้องคำพิพากษาให้จำคุก หรือถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (5) ประกอบมาตรา 102 (4) มีเนื้อหาระบุว่า สมาชิกภาพของส.ส.สิ้นสุดลงต่อเมื่อ มีคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 102 (4) คือ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล”

กรณีนี้อาจมีปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกภาพความเป็นส.ส.ของนายพนิช ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (5) (11) ที่ระบุว่า สมาชิกภาพความเป็นส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือต้องคำพิพากษาถึงที่สุด แม้จะมีการรอการลงโทษ เว้นแต่เป็นการรอการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือไม่

ขณะที่ กกต.สั่งการให้ตั้ง “คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวน” เพื่อทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายว่า เหตุต้องให้สิ้นสภาพนั้น หมายรวมถึงต้องคำพิพากษาศาลในต่างประเทศด้วยหรือไม่ โดยให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 30 วัน และให้เสนอต่อ กกต. เพื่อพิจารณา หากที่สุด กกต.เห็นว่า ต้องสิ้นสภาพความเป็นส.ส. ก็ต้องส่งเรื่องไปที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

แต่เรื่องนี้ ส.ส.และรัฐมนตรี จากพรรคประชาธิปัตย์ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ติดคุกเขมร ไม่ได้ติดคุกไทย จะขาดคุณสมบัติได้ยังไง”
 

มีการตั้งคำถามว่า เมื่อถูกศาลกัมพูชาพิพากษาจำคุก 9 เดือน แต่รอลงอาญาจะเป็นเหตุให้พ้นความเป็นสมาชิกภาพหรือไม่

“คมสัน โพธิ์คง” รองอธิการบดีมหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช อดีตส.ส.ร. ปี 2550 ระบุก่อนหน้านี้ว่า ถ้าดูตามตัวหนังสือในรัฐธรรมนูญ หากศาลกัมพูชาตัดสินว่านายพนิช มีความผิด จะถือว่าสิ้นสภาพการเป็นส.ส.ทันที เนื่องจากในรัฐธรรมนูญเขียนลักษณะต้องห้ามของส.ส.เอาไว้ว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” โดยไม่ได้ระบุว่า ต้องเป็นศาลประเทศอะไร ซึ่งกกต. สามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกสภาพของนายพนิชได้ เช่นเดียวกับที่เคยวินิจฉัยคดี ส.ส.ถือหุ้นต้องห้ามมาแล้ว

กรณีนี้ กกต.และศาลรัฐธรรมนูญจะต้องพิจารณาด้วยว่า กระบวนการยุติธรรมของศาลกัมพูชา เชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน เพราะใครก็ทราบว่า ศาลกัมพูชานั้น สมเด็จฮุนเซน นายกฯกัมพูชาสามารถสั่งให้ผลการตัดสินออกมาอย่างไรก็ได้

ขณะที่ “สดศรี สัตยธรรม” กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง แนะว่า หากต้องการให้กรณีดังกล่าวจบเร็ว ก็ให้ส.ส.หรือ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1ใน 10 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ ใช้สิทธิยื่นต่อประธานแห่งสภา ตามมาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อเห็นว่า นายพนิช อาจพ้นสมาชิกภาพ ตามมาตรา 106 (11) หรือไม่ เพื่อให้ประธานแห่งสภานั้นๆ ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยไม่ต้องผ่าน กกต. ก็ทำได้

โดยศาลรัฐธรรมนูญ จะต้องวินิจฉัยประเด็นที่ว่า ศาลกัมพูชาในทีนี้ รวมหมายถึงศาลในต่างประเทศด้วยหรือไม่ ที่เป็นเหตุให้นายพนิช ต้องพ้นสภา ส.ส.หรือไม่

แต่ขณะนี้นายพนิช ยังคงมีสถานะเป็นส.ส.อยู่เช่นเดิม จนกว่าเรื่องจะขึ้นสู่ศาลรัฐธรรมนูญ แล้วนายพนิช จึงหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ชั่วคราว ก่อนมีคำวินิจฉัยของศาล

อีกทั้งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ “ชัย ชิดชอบ” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สามารถอนุญาตให้ ส.ส.ขาดการประชุม หรือลาการประชุมไม่เกินจำนวน 1 ใน 4 ของจำนวนวันสมัยประชุมที่มีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า 120 วัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (10) ขณะที่ กกต.ไม่มีอำนาจในขณะนี้ให้นายพนิช หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่นายชัย ต้องใช้อำนาจประธานสภาฯ ที่อาจให้นายพนิชหยุดปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 106 (10) แต่ต้องไม่เกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนดได้เพื่อรอความชัดเจนจากศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยก่อนเพื่อมิให้เกิดปัญหาในการลงมติต่อร่างกฎหมายต่างๆ รวมถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อาจกลายเป็นปัญหาในภายหลังได้ว่า จะเป็นโมฆะหรือไม่

กรณีปัญหา “ส.ส.พนิช” ได้ร่วมโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะทำให้การโหวตดังกล่าวมีปัญหาหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ตรงนี้ กกต.ผู้นี้ เห็นว่า มีหลายประเด็น ทั้งกรณีคำตัดสินของศาลกัมพูชาอยู่ในความหมายของ คำว่า ศาล ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การที่ไม่มีการยื่นอุทธรณ์จะถือว่าคดีเป็นที่สิ้นสุดหรือไม่ และความผิดดังกล่าวถือเป็นความผิดลหุโทษตามมาตรา 106 (11) หรือไม่ รวมทั้งหากพ้นจากการเป็น ส.ส. จะพ้นเมื่อใด

ถ้าผลคำวินิจฉัยออกมาว่าพ้นจากการเป็นส.ส. ก็ไม่มีผลให้ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นโมฆะ แต่จะมีผลเฉพาะเสียงโหวตของนายพนิช เท่านั้น โดยขณะที่โหวต เรื่องยังไม่ถึงศาลรัฐธรรมนูญ นายพนิช ก็คงถือว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ ที่สามารถโหวตได้

ทั้งนี้ กรณีของนายพนิชหากยังไม่มีความชัดเจนก่อนการยุบสภาเกิดขึ้น เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ และนายพนิช ลงสมัครส.ส. ก็จะเป็นปัญหาให้ กกต.วินิจฉัยว่า นายพนิช มีสิทธิลงสมัครหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 102 (5) ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกโดยพ้นโทษมายังไม่ถึง 5 ปี จนถึงวันเลือกตั้งลงสมัครรับเลือกตั้ง

นั่นคือความเห็นของ กกต.ในเบื้องต้น ว่านายพนิช ยังต้องทำหน้าที่ส.ส. ต่อไปได้ และอีก 30 วัน ก็จะรู้ว่า “พนิช” จะรับผิดชอบต่อไปอย่างไร ถ้าอนุ กกต. ส่งผลสรุปให้กกต.ว่า “สิ้นสภาพ”
กำลังโหลดความคิดเห็น