xs
xsm
sm
md
lg

จับโกหก “พยานเท็จ” สระน้ำ UN !?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

นายธารา ศิลาเวียง ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวหลังจากเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างว่าสระน้ำยูเอ็นอยู่ในเขตกัมพูชา
เมื่อวันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ.2554 ก่อนวันพิจารณาศาลกัมพูชาว่าจะตัดสิน นายวีระ สมความคิด และ น.ส.ราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ อย่างไรนั้น ก็ได้เกิดปรากฏการณ์ “จัดฉาก” ให้ชาวบ้านสระแก้วอีกกลุ่มหนึ่ง “ซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินผู้เดือดร้อนจากเขมรอพยพ” มาเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และปล่อยให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่เป็นโทษกับ 2 คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบุว่าสระน้ำ UN นั้นอยู่ในฝั่งกัมพูชา

กรณีเรื่องสระน้ำ UN ที่อยู่ท้ายหมู่บ้านเขมรอพยพ อดีตค่ายหนองจานนั้นถือเป็นจุดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคดี “วีระ-ราตรี” ซึ่งกำลังถูกพิจารณาคดีในชั้นศาลของกัมพูชา

เพราะถ้าสระน้ำ UN ขุดในฝั่งไทยก็แปลว่าในขณะที่ 7 คนไทยถูกจับกุมนั้นไม่ว่าจะอยู่ก่อนถึงหรือเลยเข้าไปหลังเส้นแนวปฏิบัติการ (ตามที่นายอภิสิทธิ์อ้าง) ตราบใดที่ยังเดินทางไปไม่ถึงสระน้ำ UN ย่อมแสดงว่า 7 คนไทยทั้งหมดยังอยู่ในผืนแผ่นดินไทย

ต่อให้ “วีระ-ราตรี”มีกล้องขนาดจิ๋วติดตัว ก็จะไม่มีความผิดและศาลกัมพูชาไม่มีอำนาจตัดสินลงโทษ “ข้อหาจารกรรมหรือรุกล้ำเขตแดนกัมพูชาโดยผิดกฎหมาย” ได้เพราะถ้าหากทั้ง 2 คนถูกควบคุมตัวพร้อมกับอีก 5 คนไทยในดินแดนไทย ก่อนที่จะเข้าไปในค่ายทหารของกัมพูชา ศาลกัมพูชาย่อมไม่มีสิทธิ์พิจารณาคดีนี้เพราะไม่อยู่ในอำนาจอธิปไตยของกัมพูชา

ถ้าเป็นเช่นนั้นราชอาณาจักรไทยจะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้กัมพูชาปล่อยตัว 2 คนไทยที่เหลือ พร้อมปฏิเสธและไม่ยินยอมรับอำนาจศาลกัมพูชาในคดีนี้โดยเด็ดขาด เพราะถือเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลของรัฐกัมพูชาในราชอาณาจักรไทย

แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะนักการเมือง ได้กล่าวในทางสาธารณะให้เป็นโทษกับ 7 คนไทยมาโดยตลอดว่า 7 คนไทยนั้นได้รุกล้ำเข้าไปในเขตกัมพูชาก็ดี หรือรุกล้ำเข้าไปในแนวปฏิบัติการก็ดี แต่ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่รัฐบาลไทยจะช่วยเหลือ 7 คนไทยเหล่านี้ว่า “ไม่ได้ทำผิด”

สันนิษฐานว่ารัฐบาลชุดนี้ได้กระทำการในทุกวิถีทาง เพียงเพื่อต้องการปัดรับผิดชอบกับการที่กัมพูชาได้ใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลในดินแดนไทยเท่านั้น !!?

ดังนั้น “สระน้ำ UN” จึงถือเป็นหลักฐานส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่เพียงแต่จะช่วยเหลือ “วีระ-ราตรี” ให้พ้นจากการตัดสินที่ไม่เป็นธรรมจากศาลกัมพูชาที่ไม่มีอำนาจเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหลักฐานสำคัญที่จะใช้ประกอบเพื่อกดดันกัมพูชาให้หยุดการใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลในราชอาณาจักรไทยในบริเวณดังกล่าวโดยทันที และยังจะเป็นหลักฐานสำคัญในการใช้อ้างอิงเพื่อผลักดันชุมชนและทหารกัมพูชาให้ออกจากดินแดนไทยในบริเวณดังกล่าวได้ด้วยหากยกเลิก MOU 2543 ได้แล้ว

แต่สังคมคงจะสับสนกันอยู่พอสมควรเพราะวันนี้มีชาวบ้านชาวสระแก้วที่เคยมาพบ และมาพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต่างเป็นพยานบุคคลที่พูดไม่ตรงกัน โดยชาวบ้านฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นผู้สูญเสียที่ดินทำกินของตัวเองจากเขมรอพยพระบุว่า “สระน้ำ UN อยู่ในฝั่งไทย” และอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน ส่วนชาวบ้านสระแก้วชุดหลังซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่เดือดร้อนจากเขมรอพยพที่เข้ามาพบนายอภิสิทธิ์ก่อนคำพิพากษากลับระบุว่า “สระน้ำ UN อยู่ในฝั่งกัมพูชา” ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีพยานฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็น “พยานเท็จ”

สำหรับพยานบุคคลโดยเฉพาะชาวบ้านซึ่งถูกเขมรอพยพเข้ามายึดที่ดินทำกินของตัวเองตั้งแต่ พ.ศ. 2522 นั้นต่างให้ปากคำยืนยันตรงกันทั้งหมดว่า สระน้ำ UN อยู่ในฝั่งของไทย โดยมีเอกสารสิทธิ์ทำกินประเภท ส.ค.1 อยู่บริเวณสระน้ำ UN (ของนายหมา อันสมศรี ปัจจุบันมีลูกเขยอายุ 61 ปี) และยังมีที่ดินอยู่ด้านทิศตะวันออกของสระน้ำ UN (นายบุญจันทร์ เกษธาตุ ปัจจุบันอายุ 84 ปี)

หมายความว่าเมื่อ 32 ปีที่แล้ว ก่อนเขมรมาอพยพชาวบ้านซึ่งพยานเหล่านี้มีวัยที่เป็นผู้ใหญ่สามารถใช้ที่ดินทำกินของตัวเองไม่น้อยกว่า 29 ปี จึงย่อมสามารถรับรู้เรื่องราวช่วงเวลาและเหตุการณ์เขมรอพยพในดินของตัวเองอย่างไรในช่วง พ.ศ.2522 เพราะทำนาด้วยตัวเองมากับมือและย่อมรู้ดีว่าจะทำนาไม่ให้เลยเกินพื้นที่หรือไปกระทบต่อที่นาเพื่อนบ้านได้เพียงใด และอยู่ในวัยที่รับรู้ว่าขอบเขตของเอกสารสิทธิ์ทำกิน ส.ค.1 นั้นมีมากน้อยเพียงใด

ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้จ่ายภาษีให้รัฐตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี เพื่อรักษาสิทธิ์ และตั้งความหวังว่าจะได้ที่ดินทำกินของตัวเองกลับคืนมา ทั้งนี้ในงานสัมมนาของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างจริยธรรมของวุฒิสภาเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ.2554 ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ยืนยันตำแหน่งที่ทำกินของตัวเองตามเอกสารสิทธิ์ และยืนยันด้วยว่าไม่ต้องการให้ที่ดินทำกินที่อื่นเพื่อทดแทนที่ดินเดิม แต่ต้องการที่ดินทำกินของตัวเองในตำแหน่งเดิมตามเอกสารสิทธิ์ที่มีอยู่

จึงไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่ชาวบ้านเหล่านี้จะโกหกเพื่อให้ที่ดินของตัวเองอยู่บริเวณสระน้ำ UN หรือทิศตะวันออกของสระน้ำ UN และกลุ่มชาวบ้านกลุ่มนี้ก็ไม่ใช่ผู้ที่เคยมาร่วมชุมนุมกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาก่อน

ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ยื่นร้องเรียนกับทุกรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย แต่ก็ไม่มีใครมาแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านกลุ่มเหล่านี้ได้แต่อย่างใด และได้มีโอกาสเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มกราคม พ.ศ.2554 ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้ยืนยันหลายครั้งว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขอร้องหลายครั้งไม่ให้ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่า 7 คนไทยถูกจับในพื้นที่ใด เพราะกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อคดี 7 คนไทย (ทั้งๆที่ข้าราชการและนักการเมืองในรัฐบาลพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า 7 คนไทยถูกจับในดินแดนกัมพูชาฝ่ายเดียว)

ที่น่าสนใจก็คือชาวบ้านที่ถูกชุมชนและทหารเขมรอพยพต่างยืนยันตรงกันทั้งหมู่บ้านว่า สระน้ำ UN อยู่ในดินแดนประเทศไทย และ 7 คนไทยที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมนั้นอยู่ในดินแดนประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นข้อมูลส่วนหนึ่งที่เป็นคุณกับ 7 คนไทย จึงต้องตั้งคำถามจากการให้ปากคำของชาวบ้านกลุ่มนี้ว่า “เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงต้องขอร้องห้ามชาวบ้านกลุ่มนี้พูดถึงตำแหน่งที่ 7 คนไทยถูกจับทั้งๆที่เป็นข้อมูลที่เป็นคุณประโยชน์ในการช่วยเหลือ 7 คนไทยให้พ้นจากความผิดในคดีนี้ ?”

สำหรับพยานบุคคลอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งอ้างว่าเป็นชาวบ้าน บ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ให้เข้าพบเมื่อวันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 แล้วออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “สระน้ำ UN อยู่ในฝั่งกัมพูชา”

บุคคลที่มาให้สัมภาษณ์ชื่อ นายธารา ศิลาเวียง ปัจจุบันเป็น สมาชิก อบต. หมู่ 3 บ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว เกิดเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2503 ปัจจุบันอายุ 51 ปี ได้เล่าเหตุการณ์ระบุว่า “ในช่วง พ.ศ. 2518 - 2522 (ตอนอายุ 15-19 ปี)ที่เขมรอพยพและมีการขุดสระน้ำ UN นั้นอยู่ในฝั่งกัมพูชาในช่วงสงคราม”

แต่ทว่านายธารา ศิลาเวียง นั้นเป็นคนที่เกิดและโตที่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี โดยก่อนปี 2531 อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 2 ต.กบินทร์บุรี อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี ต่อมาแต่งงานกับคนที่บ้านหนองจาน พ.ศ. 2531 จึงย้ายมาอยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ที่ 3 บ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว

ดังนั้นพยานปากนี้จึงย่อมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์และช่วงเวลาเขมรอพยพ พ.ศ.2518 และการขุดสระน้ำ UN พ.ศ.2522 แต่ประการใด จริงหรือไม่?

และพยานชาวสระแก้วชุดหลังที่มาพบนายกรัฐมนตรีทั้งหมดก็ไม่ได้เป็นผู้เดือดร้อนจากชุมชนและทหารเขมรอพยพมายึดที่ทำกินของตัวเอง ปัญหาคือจะชี้ตำแหน่งที่ดินคนอื่นที่ตัวเองไม่ใช่เจ้าของได้ถูกต้องได้อย่างไร? และจะไปชี้ตำแหน่งเพื่อหักล้างชาวบ้านที่ถูกยึดที่ทำกินซึ่งระบุตรงกันว่า สระน้ำ UN อยู่ในดินแดนไทย ได้อย่างไร?


ไม่ต้องพูดถึงสามัญสำนึกธรรมดาว่าการขุดสระน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องใช้เวลานาน ไม่มีใครเขาขุดในประเทศที่มีสงครามที่เต็มไปด้วยกับระเบิด

ไม่ต้องพูดถึงว่าในวันนี้มีอดีตข้าราชการ ทหาร เจ้าหน้าที่กาชาดสากล แพทย์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง จำนวนมากที่ทำงานในบริเวณสระน้ำ UN ในช่วงเขมรอพยพเวลานั้น ต่างทยอยมาให้ข้อมูลและพร้อมเป็นพยานว่า สระน้ำ UN อยู่ในฝั่งไทยแน่นนอน อีกทั้งยังพบภาพถ่ายและวีดีโออีกจำนวนมากที่นำเสนอบนเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแถลงข่าวไปหลายครั้งแต่รัฐบาลไม่เคยนำไปใช้ประโยชน์ในการช่วยเหลือ 7 คนไทยแม้แต่น้อย


ภาพ:จากเว็บไซต์ กาชาดสากลระบุคำบรรยายใต้ภาพว่า “ปี พ.ศ.2523 ผู้ที่อพยพมาถึงที่ค่ายอพยพหนองจานในประเทศไทย”
ที่น่าสนใจก็คือท่าทีของนายกรัฐมนตรีกลับปฏิบัติกับชาวบ้านกลุ่มหลังซึ่งให้ข้อมูลอันเป็นโทษกับ วีระ-ราตรี ต่างจากชาวบ้านกลุ่มแรกที่ให้ข้อมูลเป็นคุณต่อ 7 คนไทยที่ถูกทหารกัมพูชาจับกุมอย่างสิ้นเชิง

เวลาชาวบ้านกลุ่มแรกซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งถูกกัมพูชายึดครองทำกินเข้าพบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2554 และให้ข้อมูลที่เป็นคุณต่อ 7 คนไทย นายอภิสิทธิ์ กลับขอความร่วมมือไม่ให้ชาวบ้านให้สัมภาษณ์ว่า 7 คนไทยถูกจับที่ใด โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบต่อรูปคดี

แต่เวลาชาวบ้านซึ่งไม่ใช่เจ้าของที่ดินและไม่ใช่ผู้เดือดร้อนจากการที่กัมพูชายึดครองที่ทำกินเมื่อได้พบนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นเพียง 1 วันก่อนวันศาลกัมพูชาจะพิจารณาคดี “วีระ-ราตรี” และให้ข้อมูลอันเป็นโทษกับ วีระ-ราตรี นายกรัฐมนตรีกลับไม่เห็นห้ามชาวบ้านให้สัมภาษณ์ข้อมูลที่เป็นโทษในทางสาธารณะ

ซ้ำร้ายยังปล่อยให้คนใกล้ชิดอย่าง นายศิริโชค โสภา ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงความคิดเห็นเป็นโทษกับ “วีระ-ราตรี” ว่าชาวบ้านกลุ่มหลังที่ให้ข้อมูลนั้นรู้ข้อมูลดีกว่าชาวบ้านกลุ่มแรก

ทำให้เกิดความเคลือบแคลงน่าสงสัยว่ารัฐบาลชุดนี้พอใจกับข้อมูลที่เป็นโทษกับคดี “วีระ-ราตรี” เท่านั้น และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อทำลายหรือหยุดยั้งทุกข้อมูลที่เป็นคุณกับคดี “วีระ-ราตรี” ใช่หรือไม่?

และมีคำถามตามมาอีกว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยพูดถึง ไม่เคยรู้ มาก่อนจริงหรือไม่ ว่าเขมรมาอพยพยึดที่ทำกินของราษฎรไทยในบริเวณหลักเขตที่ 46 -47?

แท้ที่จริงแล้วเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้เคยให้นายอลงกรณ์ พลบุตร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลทักษิณ ต่อกรณีที่คนไทยจำนวนมากได้ถูกชาวกัมพูชาได้เข้ายึดครองดินแดนไทยกว่า 8,000 ไร่ และเป็นการรุกล้ำอธิปไตยของประเทศไทยตั้งแต่หลักเขตที่ 46,47,48,49 รวมถึงค่ายอพยพหนองจาน

ในเวลานั้นนายอลงกรณ์ พลบุตร ไม่เคยใช้คำว่า “พื้นที่พิพาท”, พื้นที่ทับซ้อน, หรือแนวปฏิบัติการ มีเพียงพื้นที่เดียวคือ “ดินแดนไทยถูกรุกล้ำอธิปไตยโดยกัมพูชา” ทั้งๆที่ในเวลานั้นได้เริ่มใช้ MOU 2543 แล้วด้วยซ้ำ

ตอนเป็นฝ่ายค้านก็แสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง พอเป็นรัฐบาลก็กลับแสดงความคิดอีกอย่างหนึ่ง ใช่หรือไม่?

บัดนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ร.ต.แซมดิน เลิศบุศย์ และนายตายแน่ มุ่งมาจน ได้ตัดสินใจฟ้องคดีอาญากับคนในรัฐบาลตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 119, 120, 126,128,129,157,และ 83 ฐานร่วมกันปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำการยอมรับอำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรกัมพูชาเหนือดินแดนไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ดินแดนอธิปไตยและบูรณภาพของราชอาณาจักรไทยตกไปอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของราชอาณาจักรกัมพูชา และเพื่อให้เอกราชของราชอาณาจักรไทยเสื่อมเสียไป

ถึงแม้ว่า ศาลอาญายกคำฟ้องในคดีนี้ เพราะไม่ใช่ขอบเขตอำนาจของศาลอาญา แต่เชื่อว่า ก็น่าจะมีโอกาสในการต่อสู้คดีในศาลอื่นต่อไป

ส่วนใครปั้นพยานเท็จ สร้างหลักฐานเท็จ หรือไม่ อย่างน้อยก็จะได้มีโอกาสพิสูจน์กันในชั้นศาลในคดีนี้ที่มีวางเดิมพันด้วยระวางโทษสูงสุดคือ “ประหารชีวิต”!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น