xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

แก้ รธน.สูตร 375+125 นอนมา ปชป.ปลดล็อกซื้อใจพรรคร่วม คำตอบสุดท้ายอยู่ที่ 1.1 แสนล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ขบเหลี่ยมชิงความได้เปรียบทางการเมืองกันจนเกือบวาระสุดท้ายกันทีเดียว ระหว่างแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาล ในประเด็นร้อนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา93-98 เรื่องที่มาของ ส.ส. ระหว่าง สูตร 375+125 หรือ 400+100 ของสัดส่วน ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ ท่ามกลางเสียงโวยวายของพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการที่จะให้มี ส.ส.ระบบเขต 400 คนและส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 100คน จนเกิดเป็นภาพความขัดแย้งในซีกของรัฐบาลด้วยกันเองมาพักใหญ่

สุดท้ายการต่อสู้ยกแรกเป็นฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ที่ชนะไปก่อนอย่างฉิวเฉียด ในขั้นการแปรญัตติของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี “เทอดพงษ์ ไชยนันทน์” ส.ส.สัดส่วนพรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน ปรากฏว่าเสียงข้างมาก 18 ต่อ 17เสียง คือมีมติให้ยืนตามร่างเดิมของรัฐบาล ในสูตรส.ส.ระบบเขต 375 คน และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน ตามข้อเสนอของคณะกรรมสมานฉันท์ ที่มี “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” เคยเสนอไว้ ส่งผลให้ สูตร 375 + 125 ที่พรรคประชาธิปัตย์ปลักดันสุดลิ่มทิ่มประตู จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในวาระที่ 2 ต่อไป

ทว่า ชัยชนะดังกล่าวของประชาธิปัตย์ได้นำความไม่พอใจมาสู่พรรคร่วมรัฐบาล และมีกระแสข่าวแนวโน้มว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อคว่ำมติ 375+125 กลางสภาฯ เนื่องจากเป็นกติกาเลือกตั้งที่เอื้อกับพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว

**ไม่เอาจริงหรือแค่เกมต่อแรง

สาเหตุที่ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลค้านสูตร 375+125 เป็นผลมาจากการเพิ่มจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อจาก 80 คน เป็น 125 คน ซึ่งเมื่อดูจากผลเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส. 165 คน เทียบกับพรรคพลังประชาชนได้ ส.ส.232 คน จำนวน ส.ส.ห่างกันถึง 67 คน แต่ถ้าเทียบจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์แพ้ในระบบบัญชีรายชื่อไปแค่คนเดียวเท่านั้น

ขณะเดียวกันเมื่อลด ส.ส.เขตจาก 400 คน เหลือแค่ 375 คน จะทำให้ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เสียโควตา ส.ส.ไปแค่ 4 คนเท่านั้น ในภาคใต้ ภาคกลางรวมถึงกรุงเทพมหานครลดในสัดส่วนที่เล็กน้อยเท่านั้นจากยอดโควตาที่ลดไปทั้งหมด 25 คน ซึ่งส่วนใหญ่ไปลดในพื้นที่ภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่หวังผลของพรรคเพื่อไทย

เมื่อบวกลบคูณหารแล้ว ไม่ว่ามองมุมไหน ประชาธิปัตย์ ถือว่าได้เปรียบพรรคอื่นอยู่พรรคเดียว ดังนั้นอย่าได้แปลกใจที่บรรดาแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ที่ไล่ลงมาตั้งแต่ นายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” รองนายกฯ และเลขาธิการพรรค “สุเทพ เทือกสุบรรณ” รวมไปถึงคนอื่นต่างออกมาประสานอ้างความเหมาะสมตามสูตรนี้และยกเอาเหตุผล ข้อสรุปของคณะกรรมการแก้ไขชุดของ “สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” มาเป็นจุดยืนในการหาความชอบธรรมให้กับสูตร 375 +125

ซึ่งต้องไม่แปลกใจ หากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง “เนวิน ชิดชอบ” “สมศักดิ์ เทพสุทิน” “อนุทิน ชาญวีรกุล” แห่งพรรคภูมิใจไทย หรือ “บรรหาร ศิลปอาชา” และ “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” แห่งพรรคชาติไทยพัฒนา จะไม่ยอมให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านมติของสภาไปได้โดยง่าย ประกอบกับกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลจะจับมือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อคัดค้านสูตรเลือกตั้งที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังดันให้ถึงฝั่ง จึงดังกระหึ่มขึ้น โดยในฝั่งของพรรคร่วมรัฐบาลประกาศชัดเจนว่าจะคัดค้านกติกาเลือกตั้งสูตร 375+125 ที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังผลักดัน ด้วยการขอแปรญัตติกลับไปใช้กติกาเลือกตั้งสูตรดั้งเดิม ส.ส.เขต 400คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540

และไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันหากตัวละครอย่าง พรรคเพื่อไทยจะกลืนน้ำลายตัวเอง ที่เคยประกาศว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมในประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะกลับลำมากระโดดเข้าร่วมวงจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาล ดันสูตรส.ส. 400+100 ด้วยอีกแรง ทั้งนี้ เพราะเป็นสูตรเลือกตั้งใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่พรรคเพื่อไทยเคยมีมติเรียกร้องให้กลับไปใช้มากที่สุด

อย่างไรก็ดีแม้ว่านาทีนี้ฝ่ายประชาธิปัตย์ได้รับชัยชนะตามต้องการไปในยกแรก แต่ในเมื่อคะแนนเฉียดฉิว ทำให้หวาดเสียวเมื่อต้องโหวตในสภาอีกรอบที่ยังเหลือยกสอง ซึ่งในวาระที่ 2จะมีการพิจารณาเป็นรายมาตรา ซึ่งเสียงข้างมากมีมติออกมาอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามนั้น แต่ไม่ว่าที่ประชุมสภาจะมีมติเห็นชอบตามสูตร 375+125 ของคณะกรรมาธิการ หรือสูตร 400+100 ที่พรรคร่วมรัฐบาลสงวนคำแปรญัตติไว้ ก็ต้องรอเวลา 15 วัน จึงจะมีมีการลงมติในวาระที่ 3 ได้ และคะแนนเสียงเห็นชอบจะต้องมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน คือสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา

หลายฝ่ายคาดการณ์ว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต้องเหนื่อยพอดูเหมือนกันในการหาเสียงมาสนับสนุนสูตร 375+125 ให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ ลองคำนวณกันเล่นๆ หากมองไปที่ตัวเลขสมาชิกรัฐสภาในตอนนี้มีทั้งหมด 625 คน แบ่งเป็นประชาธิปัตย์ 172 พรรคร่วมรัฐบาล 106 พรรคเพื่อไทย 187 พรรคประชาราช 8 ไม่สังกัดพรรคการเมือง 2 คน และวุฒิสภา 150 คน

ต้องยอมรับว่าในการโหวตวาระ 2 ฝ่ายค้านคือพรรคเพื่อไทย จะมีบทบาทอย่างยิ่ง เพราะหากพรรคเพื่อไทย โหวตหนุนสูตร 400+100 ตามแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาลก็จะสามารถหักดิบสูตร 375+125 ของพรรคประชาธิปัตย์ได้

ขณะเดียวกัน ยังมีตัวแปรสำคัญของการพิจารณาในวาระ 2-3 อยู่ที่เสียงของวุฒิสภา โดยในส่วนของวุฒิสภามี 150 เสียง แบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 76 คน และสรรหา 74 คน ซึ่งในส่วนที่มาจากการสรรหาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เนื่องจากในเดือน ก.พ. จะต้องเข้ารับการสรรหาใหม่ หลังจากอยู่ในวาระมา 3 ปี ต่อมาได้ปรากฏกระแสข่าว ส.ว.สรรหาราว 60คน เตรียมลาออกก่อนครบวาระเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาข้อกฎหมาย แต่สุดท้ายปัญหาดังกล่าวก็ได้ยุติลงเมื่อมีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาในวันที่ 25 มกราคมนี้

นอกจากนั้น เสียงของ ส.ว.สรรหา ส่วนใหญ่ที่มีทั้งกลุ่ม 40 ส.ว.และไม่ใช่กลุ่ม 40 ส.ว.พบว่ าเสียงส่วนใหญ่ลงมติไม่เห็นชอบหรือพูดง่ายๆ คือ “คว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ”ของรัฐบาลมาตั้งแต่วาระแรกอยู่แล้ว โดยเฉพาะในเรื่องที่มาของ ส.ส.ตามมาตรา 93-98 ไม่ว่าจะเป็น เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ, วรินทร์ เทียมจรัส, สมชาย แสวงการ,คำนูณ สิทธิสมาน ,รสนา โตสิตระกูล ,ประสาร มฤคพิทักษ์, ไพบูลย์ นิติตะวัน, นางยุวดี นิ่มสมบุญ, ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต, ไพโรจน์ ถัดทะพงษ์ ,สุพจน์ โพธิ์ทองคำ, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ, พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร, จารึก อนุพงษ์, เจตน์ ศิรธรานนท์, ชลิต แก้วจินดา, ถาวร ลีนุตพงศ์, ธนู กุลชล, ธีระจิตต์ สถิโรตมวงศ์, บุญชัย โชควัฒนา ฯลฯ

ด้วยเหตุดังกล่าว พรรคประชาธิปัตย์และนายอภิสิทธิ์จึงต้องเผชิญกับทางตันเข้าไปอีก เพราะทั้งส.ว.ที่ตอนนี้มีไม่ต่ำกว่า 70 เสียงประกาศแล้วว่าไม่เอาสูตร 375+125 แต่จะเอาสูตร 400+100 ของพรรคร่วมรัฐบาล

อย่างไรก็ดี ถึงกับมีการวิเคราะห์กันว่าถ้าต้องโหวตตัดสินในสภาฯ สูตรเลือกตั้ง 400+100 ของพรรคร่วมรัฐบาล จะชนะ สูตร 375+150 ของพรรคประชาธิปัตย์ขาดลอย เพราะมีตัวแปรในส่วนในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่อาจกลับลำโหวตหนุนร่วมกับสูตรของพรรคร่วมรัฐบาล เนื่องจากเมื่อรวมเสียงจาก ส.ว. อีกไม่เกิน 30 คน ก็จะสามารถคลอดสูตร 400+100 ได้อย่างสะดวกโยธิน หากเป็นเช่นนั้นจริง พรรคประชาธิปัตย์ไม่พ้น ต้องเสียหน้าอย่างแรงกลางสภา เพราะไม่สามารถคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลให้โหวตตามพรรคแกนนำได้

เท่ากับว่าในวาระ 3 หากพรรคประชาธิปัตย์ หากอยากจะบรรลุเป้าหมาย ต้องการให้ที่ประชุมรัฐสภายกมือสนับสนุนสูตร 375+125 ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจำนวน 313 เสียงขึ้นไป ซึ่งหมายความว่า พรรคประชาธิปัตย์ ต้องกล่อมพรรคร่วมรัฐบาล ในทางใดทางหนึ่งให้หันมาสนับสนุน สูตร 375+125 เท่านั้น

ทำให้อาจเกิดโอกาสสูงที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะปั่นป่วนวุ่นวายในการลงมติทั้งวาระ 2 และ 3 รวมถึงส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลอย่างหนัก ยิ่งหากพรรคเพื่อไทยลงมาเล่นหนุนสูตร 400+100 ด้วย จะยิ่งทำให้ประชาธิปัตย์ยิ่งกุมเกมลำบาก จนทำให้การเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพมีสิทธิ์แท้งกลางที่ประชุมรัฐสภา หากสุดท้าย “อภิสิทธิ์-สุเทพ-ประชาธิปัตย์”ไม่สามารถเคลียร์กับพรรคร่วมรัฐบาลได้

จนหลายฝ่ายมองว่าเป็นรอยร้าวที่อาจลุกลามไปถึงขั้นยุบสภาก็เป็นได้

กระนั้นก็ดี หากย้อนกลับไป ดูร่องรอยของความเคลื่อนไหวของการแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐบาลผสมภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์สามารถพลิกขั้วกลับมาจัดตั้งเป็นแกนนำรัฐบาลได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือ การผนึกกำลังกันของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลาย และที่ต้องขัดเส้นใต้ไว้เลยคือ สัญญาใจที่ให้ไว้กับ “เนวิน ชิดชอบ”และ “บรรหาร ศิลปอาชา” ที่พยายามผลักดันให้มีการแก้ไขเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ กลับไปใช้แบบเขตเดียวเบอร์เดียว หรือ “วันแมนวันโหวต” มาโดยตลอด

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์วิกฤตม็อบเสื้อแดง ออกมาชุมนุมลุกลามบานปลายจนเกิดเป็นจลาจลเผาบ้านเผาเมือง ซึ่ง “อภิสิทธิ์” ได้สบโอกาสประกาศ “แผนปรองดองแห่งชาติ” พร้อมตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์หลายชุดและหนึ่งในชุดนั้นคือ คณะกรรมพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน

สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์เองประกาศยืนกรานมาตลอดว่าจะไม่มีทางแก้รัฐธรรมนูญ จนเป็นวิวาทะกันในพรรคกันเองอยู่พักใหญ่ ทั้ง “ชวน หลีกภัย” และ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” ได้งัดข้อกับ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” และ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” แต่สุดท้ายก็ได้ละลายจุดยืนตัวเองไปเป็นที่เรียบร้อย และเพราะไม่สามารถขัดใจหัวหน้าพรรคที่ตกปากรับคำ “พี่ห้อย” และ “พี่เติ้ง” เอาไว้เป็นมั่นเป็นเหมาะ

และประเด็นสำคัญที่สุด คือเนื่องจากประเมินดูแล้วในการเลือกตั้งซ่อมในหลายจังหวัดที่ผ่านมา หากพรรคประชาธิปัตย์ยังอยากกลับมาเถลิงอำนาจอีกครั้ง ต้องทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพื่อที่พรรคร่วมรัฐบาลสามารถเจาะพื้นที่โซนภาคอีสานและภาคกลางบางส่วน ซึ่งเป็น “พื้นที่สีแดง”ของพรรคเพื่อไทยจะสะดวกโยธินขึ้น และนั้นเป็นหนทางเดียวในการรีเทิร์นกลับมาเถลิงอำนาจร่วมกันอีกครั้ง

ยิ่งชัดเข้าไปอีก เพราะเมื่อไม่นานมีเสียงประสานของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นมั่นเป็นเหมาะว่า จะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไปหลังการเลือกตั้งใหม่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาลในการพ่ายแพ้ยกแรกต่อสูตร 375 + 125 ในยกแรก แม้จะมีบางเสียงของพรรคร่วมที่ออกอาการไม่ชอบใจบ้าง แต่ก็ไม่ได้มีอาการแข็งข้อมากจนเกินไป เมื่อเทียบกับการขัดแข้งขัดขากันในเรื่องผลประโยชน์ทั้งหลายที่ผ่านมา

ดังนั้น ทางเลือกทางเดียว ของรัฐบาล คือกล่อมให้พรรคร่วมรัฐบาล หันกลับมาหนุน สูตร 375 +125 ซึ่งเพียงแค่อาศัยเสียงจากฝั่งวุฒิสภาอีกไม่กี่สิบเสียงเท่านั้น ก็จะสามารถดันสูตร 375+125 ที่พรรคประชาธิปัตย์ ดันอยู่ให้ผ่านสภาไปได้ หรือหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง และตกลงกันไม่ได้จริงระหว่างสูตร 375+125 หรือสูตร 400+100 จนต้องกลับมาใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ในระบบเลือกตั้งพวงใหญ่อีกครั้ง มันก็ยิ่งเข้าทางประชาธิปัตย์ยิ่งขึ้นไปอีก

**เมื่อเกลี่ยงบลงตัว เสียงค้านก็เริ่มแผ่วลง

อย่างไรก็ตาม บนฉากการเมืองต้องอย่าลืมว่ายังมี “สูตรสำเร็จ” ในการจัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวเป็นกุญแจสำคัญที่เชื่อมสัมพันธภาพนักการเมืองไม่เว้นยี่ห้อไหนให้หันมาจูบปากกันได้เสมอ ซึ่งแน่นอนว่าตัวแปรในเรื่องเจรจาต่อรองหลังฉากจะต้องเกิดขึ้นทางใดทางหนึ่ง

โดยเฉพาะในการประชุมคณะรัฐมนตรี มี “สัญญาณ” บางอย่างที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ประเด็นการตั้งงบประมาณกลางปี 2554 วงเงิน 1.1 แสนล้านบาท ของรัฐบาล ซึ่งบางฝ่ายตั้งข้อสงสัยว่าเพื่อต้องการนำไปต่อรองพรรคร่วมรัฐบาลให้โหวตญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่

และแม้นายอภิสิทิ์จะออกมาปฏิเสธว่า เป็นคนละเรื่องกัน เพราะงบดังกล่าวเป็นการจัดสรรเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และฟื้นฟูจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ อย่างไรก็แล้วแต่ หากติดตามปรากฏการณ์ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ก็มีความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่น่าสนใจอยู่หลายประการ

ทั้งนี้ งบประมาณกลางปี ที่ผ่านความเห็นชอบครม. วงเงิน 1.1 แสนล้านบาทนั้น แบ่งเป็น 3 ส่วน ก้อนแรก 84,000 ล้านบาทใช้คืนหนี้เงินคงคลัง ก้อนที่สอง 15,000 ล้านบาท สำหรับโครงการฟื้นฟูเหตุอุทกภัย ส่วนที่เหลืออีก 5,900 ล้านบาทจัดสรรให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แน่นอนอาจมีคำถามว่า การนำประเด็นโหวตแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเชื่อมโยงการต่อรองงบประมาณ จะมีความเกี่ยวโยงกันหรือไม่ ซึ่งอาจจะไม่ชัดเสียทีเดียวต่อการจัดสรรงบแจกพรรคร่วม เพราะกระบวนการจ่ายเงินชดเชยฟื้นฟู ต้องผ่านระบบ ตรวจสอบ กลั่นกรอง ทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค ดังนั้นการจัดสรรงบกลาง มันจึงอาจดูโจ่งแจ้งไปที่อาจนำไปในใช้แบบลับๆ ในทางการเมือง

ดังนั้น จึงอาจเป็นแค่รายการอำพรางทางการเมือง หากเอกซเรย์ไปที่มติ ครม.อื่น ๆ น่าจะเห็นภาพของการสมประโยชน์มากกว่างบกลางปี เพราะมติที่ประชุมครม. มีการอนุมัติงบประมาณหลายพันล้านแจกจ่ายหลายกระทรวง ซึ่งอยู่ในโควตาพรรคร่วมรัฐบาล

เริ่มจาก กระทรวงมหาดไทย ภายใต้โควตาพรรคภูมิใจไทย มีการเสนอของบกลางประจำปี 2553 จำนวน 1,323 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ซ่อมแซม บูรณะศาลากลางจังหวัด และทรัพย์สินของทางราชการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 โดยเป็นศาลากลางในจังหวัด ขอนแก่น มุกดาหาร อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ ปรากฏว่า นายกรัฐมนตรี เซ็นเรื่องเข้าวาระพิจารณาเห็นชอบให้ไป 837 ล้านบาท

ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ภายใต้โควตาของพรรครวมชาติพัฒนา ซึ่งมีสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นหัวเรือใหญ่ มีข่าวดีจากครม. เช่นกัน เมื่อ ครม.เห็นชอบโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าลำตะคอง ระยะที่ 2 โดยเป็นเงินลงทุนโครงการ 4,826 ล้านบาท เท่านั้นไม่พอ ยังอนุมัติโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 1 ส่วนสถานีไฟฟ้าแรงสูง วงเงิน 3,815 ล้านบาท ทั้งนี้ สิริรวมสองโครงการปาเข้าไป 8,000 กว่าล้านบาท แม้ส่วนนี้จะมีการอ้างว่าเป็นงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แต่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีพรรครวมใจชาติพัฒนาก็สามารถผลักดันให้เป็นผลงานลงพื้นที่ และได้หน้าตามประสานักการเมืองพื้นที่อีกเช่นเคย

หากยังไม่หนำใจ ยังมีการเล็งนำงบกลางปี 1.1 แสนล้านดังกล่าว ที่ ครม.เห็นชอบไปเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5,000-6,000 ล้านบาท ถึงแม้จะอ้างว่าเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แต่เมื่องบดังกล่าวจะผ่านการอนุมัติในช่วงนี้มันก็อดคิดไม่ได้ ว่า “ขาใหญ่แห่งกระทรวงมหาดไทย” ใครคุมอยู่

เมื่อนำบรรดา “บิ๊กโปรเจ็กต์” มาเคาะเป็นเม็ดเงินรวมกัน ในเบื้องต้นก็ประมาณเกือบ 9,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกันเมื่อจับอาการพิรุธกับอาการลุกลี้ลุกลนของ “อภิสิทธิ์” ก็ยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีก เรื่องการร่นเวลาหารือกับบรรดาแกนนำพรรคร่วมให้เร็วขึ้น แบบไม่มีปี่มีขลุ่ย จากเดิมกำหนดนัดในวันที่ 25 ม.ค.มาเป็นวันที่ 24 ม.ค. ที่โรงแรมพลาซา แอทธินี แล้วจึงเตรียมการให้บรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสภาในวันรุ่งขึ้นทันที

ท่าทีของนายอภิสิทธิ์ ที่ออกมาส่งสัญญาณแล้วว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญก่อน 18 กุมภาพันธุ์ ซึ่งการสั่งลุยแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ หากไม่แน่ใจคงไม่เร่งเครื่องให้เสียราคา "นายกรัฐมนตรี" เนื่องจากคงประเมินดูแล้วว่าหากปล่อยให้ประเด็นนี้ทอดเวลาต่อไป ขณะที่เวลาของสภาจะเหลืออีกถึง 4เดือน ย่อมไม่เป็นผลดีกับประชาธิปัตย์ ที่อาจเกิดเหตุแทรกซ้อนรวมถึงการต่อรองทางการเมืองขึ้นมาอีก แม้ว่า ล่าสุด พรรคภูมิใจไทยจะมีการต่อรองดันสูตรใหม่ "400+125" ซึ่งหากมองเผินๆ ก็ถือว่า วินวิน ทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็อาจเป็นไปได้ยากและอาจจะต้องถูกตีตกไป เนื่องจากที่มาของ สภา 525 คน ยังไม่มีการรองรับจากฝ่ายใด โดยเป็นเพียงแค่ข้อเสนอขึ้นมาลอยๆ ของ "เนวิน" อีกทั้งจากท่าทีของ "อภิสิทธิ์" ดูจะไม่ให้ราคากับสูตรต่อรองใหม่อีกต่างหาก

ช่วงต่อจากนี้หากเกิดเหตุการณ์พรรคประชาธิปัตย์คุมพรรคร่วมรัฐบาลไม่อยู่ขึ้นมาจริงๆ ก็ยังมี "ไพ่ใบสุดท้าย" คือ "ยุบสภา" อยู่ในมือ ทำให้สุดท้ายพรรคร่วมรัฐบาลไม่กล้าแตกหักกับรัฐบาลในเวลานี้ เพราะจะต้องกลับไปใช้เขตเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ ซึ่งเป็นของแสลงที่พรรคร่วมทั้งหลายเข็ดขยาด ที่สำคัญต่างฝ่ายต่างคงไม่ยอมแตกหักกันในเวลานี้ เนื่องจากมีสัญญาใจในการกลับมากินข้าวหม้อเดียวกันอยู่ในฐานะ รัฐบาล สมัยหน้า

สุดท้ายหากพิจารณา “ของขวัญ” ที่พรรคประชาธิปัตย์ประเคนให้กับพรรคร่วมรัฐบาลก่อนที่วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ วาระ2 และ3 ที่จะเริ่มขึ้นในอีกไม่นานนี้ ก็ทำให้ทุกอย่างมันดูเข้าล็อกอย่างน่าสงสัยเช่นกัน ในปรากฏการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเรื่องสมประโยชน์ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งตอนจบของเรื่องนี้อาจจะตอกย้ำประโยคที่ว่า "ของฟรีไม่มีในโลก" ให้หนักแน่นขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "นักการเมือง"


กำลังโหลดความคิดเห็น