ส.ว.แห่แปรญัตติระบบเลือกตั้ง ส.ส.กมธ.ซัดสูตรภูมิใจห้อย 400+125 แค่เกมรอมชอมเพื่อประโยชน์ทางการเมือง กลุ่ม 40 ส.ว.ค้านทุกสูตร ชี้ผลาญภาษี แต่ ส.ส.ไม่มีจิตสำนึกทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชน ด้าน ส.ว.นครศรีธรรมราช เชื่อ ถ้าพรรคร่วม-ปชป.เคลียร์ลงตัว สูตรใหม่ผ่านง่าย เหตุ ส.ว.บางส่วนพร้อมหนุน
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 มี นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ประธานกมธ.เป็นประธานการประชุม โดยเชิญ ส.ว.ที่แปรญัตติมาตรา 190 และมาตรา 93-98 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ส.ส.มาชี้แจงจำนวน 64 คน โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจประเด็นระบบเลือกตั้งส.ส.โดย ส.ว.เลือกตั้งหลายคน อาทิ นายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง นายสุโข วุฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง ส.ว.อุทัยธานี สงวนคำแปรญัตติที่สูตร 400+100 ตามข้อเสนอของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล
ขณะที่ ส.ว.สรรหา สงวนคำแปรญัตติหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่เสนอให้ลดจำนวน ส.ส.เขตลง และเสนอให้ใช้เขตใหญ่แต่ผู้มีสิทธิ์สามารถเลือก ส.ส.ได้คนเดียวคล้ายกับการเลือก ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญปี 40 รวมถึงกำหนดให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องมีสัดส่วนของกลุ่มประชากร กลุ่มอาชีพ ภูมิภาค เพศ ชาติพันธุ์ที่หลากหลาย อย่างไรก็ดี ไม่ได้มี ส.ว.คนใด สงวนคำแปรญัตติตามสูตรที่ กมธ.พรรคภูมิใจไทย และพรรคเพื่อแผ่นดิน สงวนความเห็นไว้ที่สูตรใหม่คือ 400+125 แต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นที่ประชุม กมธ.ได้อภิปรายการคิดจำนวน ส.ส.ต่อประชากรต่อ 1 เขตในมาตรา 94 ว่า จะต้องนำผู้ที่อยู่ในประเทศไทย แต่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณด้วยหรือไม่ ซึ่งมีการถกเถียงอย่างกว้าขวาง โดยตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตัวแทนสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ชี้แจงว่า คนไม่มีสัญชาติไทยมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น เมื่อนำทะเบียนราษฎร์ในจังหวัดมาแบ่งเขตเป็นเขตเลือกตั้ง จะพบความต่างระหว่างผู้มีสิทธิ์กับผู้ไม่มีสิทธิ์ นอกจากนี้ ในหลายจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เมื่อพวกมายื่นเพื่อขอมีชื่อในทะเบียนราษฎร นายทะเบียนต้องดำเนินการให้ ตัวเลขตรงนี้จะทำให้มีแนวโน้มผู้ไม่มีสัญญาติไทยที่มีชื่อในทะเบียนราษฎร์ชเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในการดูแลคนในประเทศ ก็ต้องรวมคนเหล่านี้เข้าไปคิดคำนวณประชากรต่อเขตต่อ ส.ส.ด้วย
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา กมธ.และ นายนิพนธ์ บุญญามณี ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ รองประธาน กมธ.โต้แย้งว่า น่าจะให้ผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่มีสิทธิ์ในการคำนวณ ส.ส.ทำให้ นายเทอดพงษ์ ปธ.กมธ.สรุปว่า ให้เอาตามร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอมา คือให้การคำนวณเกณฑ์จำนวนราษฎร ต่อ ส.ส.ให้ใช้ราษฎรทั้งประเทศตามทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนปีที่มีการเลือกตั้ง เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.375 คน โดยให้ตัดคำว่า “ผู้มีสัญชาติไทย” ออก
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในช่วงเช้าก่อนเริ่มประชุม กมธ.ส.ว.ที่เป็นแกนนำแต่กลุ่มได้แสดงความคิดเห็นหลากหลายเกี่ยวกับสูตร 400+125 ที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคเพื่อแผ่นดินเสนอขึ้นมาใหม่ อาทิ นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 กล่าวว่า ยังยืนยันที่จะสนับสนุนสูตร 400+100 เพราะมีหลักเกณฑ์ในคิดคำนวณตัวเลขนี้ออกมาเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่ผ่านมาที่มีการเลือกตั้งส.ส.และส.ว. ตัวเลขนี้เหมาะสมที่สุด ขอถามว่า รัฐธรรมนูญ 40 ที่มาจากความคิดของประชาชนไม่ดีตรงไหน สามารถนำมาใช้ได้
“ที่พรรคภูมิใจไทยเสนอตัวเลข 400+125 นั้น ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แม้ว่าคนที่คิดสูตรจะบอกว่าสร้างความปรองดองให้ทุกฝ่าย แต่ก็เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ เป็นการรอมชอมกันเพื่อให้สมประโยชน์กันทุกฝาย และเป็นสิ่งที่ไม่มีจุดยืน ทั้งนี้ ผมไม่มั่นใจว่าสูตร 400+100 จะสามารถการเห็นชอบของรัฐสภาในวาระ 2 ได้หรือไม่ เนื่องจากเสียงของพรรคร่วมเริ่มแตกเพิ่มมากขึ้น สุดท้ายถ้าเสียงแตกกันมากๆ คาดว่า คงจะสมใจพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ที่ต้องการให้กลับไปใช้รัฐธรรมนูญ 50 เหมือนเดิม ผมจึงไม่แน่ใจว่านี้เป็นเกมของพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่” นายนิคม กล่าว
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม แกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า ไม่สนับสนุนสูตร 400+125 และไม่สนับสนุนสูตร 375+125 รวมถึงสูตร 400+100 โดยเห็นว่า ส.ส.เขต อาจจะมีได้ประมาณ 375 เพื่อให้เขตใหญ่ขึ้น ซื้อเสียงยากขึ้น ส่วนส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ก็เห็นว่า เกินพอ โดยสูตรที่ กมธ.ยืนยัน หรือ สูตรใหม่ เป็นการผลาญภาษีมากเกินไป และที่ผ่านมา ส.ส.ก็ไม่ค่อยทำงานกัน กมธ.ไปดูงานต่างประเทศแต่ก็ไม่มีผลงาน แถมไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลการทำงาน ทั้งที่ตัวแทนที่มาจากประชาชน อย่างน้อยที่สุดควรจะต้องมีประวัติและผลงานที่ผ่านมาให้ประชาชนพิจารณาตัดสินใจได้ว่า มีความเหมาะสมหรือไม่ ขาดประชุมมากน้อยแค่ไหน โหวตแต่ละครั้งเป็นอย่างไร ใครจะได้ประโยชน์
ขณะที่ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับสูตร 400+125 เพราะ ส.ส.มากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็มากขึ้น แต่ผลงานที่ผ่านมากลับไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม อย่างไรก็ดี เชื่อว่า หากสูตรใหม่นี้ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคประชาธิปัตย์ เคลียร์กันลงตัว แล้วจะเอาสูตรนี้จริงๆ น่าจะผ่านได้ เพราะฝ่ายรัฐบาลก็จะกลับมาเป็นก้อนเดียวอีกครั้งคือ 270 เสียง รวมกับส.ว.อีกนิดหน่อย ก็ผ่านโดยไม่ต้องกังวลกับฝ่ายค้าน ซึ่ง ส.ว.บางส่วน ก็มักคุ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว