xs
xsm
sm
md
lg

"มาร์ค"ยันต้องเพิ่มปาร์ตี้ลิสต์ หากเลือกตั้งวันแมนวันโหวต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมากในส่วนของกรรมาธิการ เกี่ยวกับเรื่องจำนวน ส.ส. ซึ่งอาจจะทำให้ กระทบต่อการพิจารณา วาระ 2 และ วาระ 3 ว่า ก็ต้องว่ากันไปตามกระบวนการของกรรมาธิการ เมื่อกรรมาธิการสรุปแล้ว มีการสงวนความคิดเห็นการแปรญัตติหรือไม่ ก็เป็นเรื่องพรรคที่ต้องมาดูกันอีกที ในแง่ของการลงคะแนนในสภา
สำหรับในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นไปตามที่คณะกรรมการชุดของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสนอมาหรือไม่นั้น ตนในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขอยืนยันว่า ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของระบบการเลือกตั้ง ควรจะมีความสมดุล ซึ่งก็คือ ถ้าอยากกลับไปเป็นเขตละคน ก็ควรจะทำให้เขตการเลือกตั้งเล็กๆ ให้ใหญ่ขึ้น ให้มีการถ่วงดุลโดยการเพิ่มส.ส. สัดส่วน ซึ่งตรงนี้เป็นความเห็นของตน ในฐานะหัวหน้าพรรค
เมื่อถามว่าประเด็นนี้ได้ถูกนำมาโจมตี เนื่องจากมองว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้เปรียบ เพราะส.ส.ไม่ได้ลดลง เท่ากับพรรคการเมืองอื่นๆ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ใครไปพูดอย่างนั้นตนก็ไม่ทราบ เพราะตอนที่เรากำหนดแนวทางเรื่องนี้ ก็ไม่มีใครรู้ว่าเขตไหนจะถูกลดลงไป ก็เพิ่งจะมามีรายชื่อทีหลัง เมื่อถามว่าภาคใต้ส.ส. ลดลง 4 คน แต่ในขณะที่ภาคอีสาน ลดลงจำนวนมาก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนใหญ่ ส.ส.ก็จะเป็นไปตามสัดส่วน ส่วนส.ส.ภาคใต้นั้น ก็มีประมาณกว่า 1 ใน 10 นิดหน่อย
" จุดยืนของผมคือ ผมเห็นว่าข้อดีของเขตเล็กที่มีการพูดกัน คือความเป็นธรรม ความเป็นสากล แต่ว่าเราเคยแสดงความห่วงใยว่า การเลือกเป็นเขตเล็กนั้น มีปัญหาอะไรบ้าง คณะกรรมการก็ไปคิดได้ว่าถ่วงดุลกับจุดอ่อนตรงนี้ ก็คือการเพิ่มสัดส่วนของส.ส.สัดส่วน และทำให้เขตมันใหญ่ขึ้น ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของผลกระทบส่วนรวมทั้งนั้น ไม่ได้ไปพูดเลยว่า จะไปกระทบอย่างไร และก็คิดโดยส่วนตัวว่า ที่ไปคาดคะเนว่า แก้ไขอย่างนี้พรรคนั้นพรรคนี้ ได้เปรียบ ผมคิดว่ามันไม่ใช่ ถึงเวลาจริงๆ มันไม่มีผลขนาดที่ว่าจะแพ้จะชนะ ซึ่งผมไม่เชื่ออะไรอย่างนั้น" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ถ้ากติกาตรงนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่าง จนไม่ผ่านวาระ 2 วาระ 3 จะเป็นเงื่อนไขในการยุบสภา หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ขอตอบคำถามการคาดคะเน

**"เทือก"เชื่อสุดท้ายไม่มีปัญหา
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีพรรคร่วมรัฐบาลไม่สบายใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ไม่มีอะไรที่ไม่สบายใจ ส่วนที่มีข่าวว่า พรรคภูมิใจไทย จะไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทย ในการโหวตแก้ไขเรื่องระบบสัดส่วนส.ส. 400+100 เหมือนรัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นปัญหา ทุกอย่างเป็นไปตามกฎเกณฑ์ กติกา และวิธีปฏิบัติในรัฐสภาอยู่แล้ว
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ตกผลึก ในคณะกรรมาธิการเองก็ยังไม่มติที่ชัดเจน คิดว่าเป็นความเห็นส่วนตัวมากกว่า ต้องดูมติสุดท้าย พรรคร่วมรัฐบาลยังไม่เคยมีการคุยกันเรื่องนี้ เดิมทีเป็นการผลักดันตัวร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นความเห็นส่วนตัว
ตอนนี้อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าจะเกิดปัญหาอะไร คงต้องมีการพูดคุยกันก่อน แต่เรื่องใหญ่คือต้องอธิบายเหตุผลว่าทำไมต้อง 375+125 ทำไมถึงไม่เป็น 400+100 ซึ่งก็สามารถถกเถียงกันได้ ในเรื่องเหตุผล ในเรื่องรัฐธรรมนูญมีความเห็นไม่ตรงกันก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่โดยทิศทางการโหวตต้องเป็นมติร่วม
"เรื่องนี้ไม่น่าจะลุกลามใหญ่ เพราะเป้าหมายใหญ่คือการบริหารประเทศ ตอนนี้ทุกอย่างก็เดินหน้าไปด้วยดี ตอนนี้ก็ต้องรอดูกรรมาธิการก่อน" นายสาทิตย์ กล่าว

** รองปธ.วุฒิฯ ค้านลด ส.ส.เขต
นายนิคม ไวยรัชพานิช ส.ว.ฉะเชิงเทรา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวถึงการพิจารณาร่าง แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 93-98 เรื่องระบบเขตเลือกตั้ง ที่เริ่มมีความขัดแย้งในเรื่องจำนวน ส.ส.เขตเดียวเบอร์เดียว 375 คน รวมกับส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศ 125 คน ว่า หลักการที่ยึดถือกันมานานคือประชากร 150,000 คน ต่อ ส.ส.เขต 1 คน ซึ่งถือว่าพอเหมาะแล้ว ซึ่งก็ลงตัวที่ ส.ส.เขตมี 400 คน ต่อมาเมื่ออยากได้คนดี คนเก่ง ความหลากหลาย และความนิยมของพรรค ก็ให้มีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อเพิ่มเข้ามา แต่ตอนนี้จะให้ส.ส.เขตมี 375 คน เท่ากับ ประชากร 170,000 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ก็ต้องคิดคำนวณเขตกันใหม่หมด ทั้งที่เขตเดิมลงตัวอยู่แล้ว ไม่กระเทือนใคร
ฉะนั้นอะไรที่ดีอยู่แล้วไม่ควรเปลี่ยน แต่ที่จะมาเปลี่ยนกันแบบนี้ ทำให้มีคนได้เปรียบเสียเปรียบกันอยู่ ส.ส. ลดลงบางจังหวัดและประชาชนจะรู้สึกอย่างไร หากจะพัฒนาพรรคการเมือง ก็เพิ่มระบบบัญชีรายชื่อก็ได้ แต่อย่าไปลด ส.ส.เขต และที่นั่งในสภาก็มีพอ เพราะทำไว้ 700 ที่นั่ง
" ส่วน ส.ว.ที่จะเป็นตัวแปรในส่วนส.ว.เลือกตั้งเกือบทั้งหมดมองว่า สัดส่วน 400+100 เป็นจำนวนที่เหมาะสม ส่วน ส.ว.สรรหาที่จะหมดวาระวันที่ 18 ก.พ. แต่มีจำนวนมากจะลาออกเพื่อมาลงสมัครใหม่เพื่อไม่ให้มีปัญหานั้น หากตอนนั้นมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ วาระ 2 และ 3 ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่ององค์ประชุม เพราะ ส.ว.ที่ยังอยู่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ แต่ถ้าสัดส่วน ส.ส.ไม่มีข้อสรุปที่เหมาะสมในคณะกรรมาธิการ มีการดึงดันเพื่อความได้เปรียบ ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา วาระ 2 และ 3 ก็อาจมีปัญหาแน่" นายนิคมกล่าว

**"เพื่อแม้ว"เตรียมประชุมหาข้อสรุป
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่อยู่ในชั้นกรรมาธิการ ที่กำลังมีความคิดเห็นแตกต่างเป็น 2 ทางนั้น พรรคเพื่อไทย ได้รับเรื่องร้องเรียนมาจากประชาชนว่า หากมีการลดจำนวน ส.ส.เขตลง ตามสูตร 375 + 125 จะทำให้ ส.ส.ดูแลประชาชนไม่ทั่วถึง แล้วการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบนี้ ประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร ทั้งนี้พรรคเพื่อไทย จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปที่ตรงกันในเรื่องนี้อีกครั้งในสัปดาห์หน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น