xs
xsm
sm
md
lg

เสียอธิปไตยทางศาล ก็คือเสียอธิปไตยเหนือดินแดน

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี


บทความนี้ผู้เขียนต้องการนำเสนอหลักคิด และเรียกร้องจิตสำนึกแห่งความรักชาติ หวงแหนเอกราช และอธิปไตยของคนไทยเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าปัญหานี้ถูกทำให้สับสน ลางเลือนโดยรัฐบาลไทย และวิชาการไทยที่ขายจิตวิญญาณ จนดูเหมือนว่าคนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งก็มีไม่น้อยที่ยังเย็นชาและเพิกเฉยต่อปัญหานี้ ทั้งๆ ที่ปัญหานี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งของความเป็นชาติไทย ดังคำขวัญที่ว่า “ รักที่สุดคือในหลวง หวงที่สุดคือแผ่นดิน ”

เมื่อศึกษากรณี 7 คนไทยถูกจับขึ้นศาลกัมพูชา มาพิเคราะห์ในทุกแง่มุมแล้ว กรณีนี้เป็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมที่สุดของการสูญเสียอธิปไตยทางศาล เสียอธิปไตยเหนือดินแดน และนำไปสู่การเสียดินแดนในที่สุด ทำไมผู้เขียนจึงมีความเห็นเช่นนั้น ก็เพราะหากมองย้อนไปในประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ทางกฎหมายและศาลไทยแล้ว ประเทศไทยเคยได้รับความขมขื่นสุดแสนจะทนทานในเรื่องนี้มาแล้ว กว่าที่จะปฏิรูปทางกฎหมายและต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งเอกราชอธิปไตยทางศาล และกระบวนการยุติธรรมเช่นทุกวันนี้

กล่าวคือ ในปี พ.ศ. 2398 นั้น รัฐบาลของรัชกาลที่ 4 ต้องยอมทำสนธิสัญญาไม่เสมอภาคกับอังกฤษและบรรดาประเทศนักล่าอาณานิคมทั้งหลาย ที่บุกรุกเข้ามารุมทึ้งราชอาณาจักรไทย ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับการคุกคามของลักธิล่าอาณานิคม สนธิสัญญาบาวริ่ง (ค.ศ. 1855) มีข้อใหญ่ใจความสองประการ 1. ยกเลิกการผูกขาดการค้าระหว่างประเทศของไทย ซึ่งเคยทำผ่านพระคลังสินค้า คนอังกฤษสามารถติดต่อค้าขายได้โดยเสรีตามนโยบาย “การค้าเสรี” ของอังกฤษ ภาษีขาเข้าจะเก็บได้ไม่เกิน 3 เปอร์เซ็นต์ ยกเว้นฝิ่น โลหะ ทอง และเงิน ไม่ต้องเสียภาษีขาเข้า ส่วนภาษีขาออกเก็บได้เพียงครั้งเดียว 2. ไทยต้องยอมให้อังกฤษยอมมีสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขต ซึ่งหมายความว่า คนบังคับอังกฤษไม่ต้องขึ้นศาลไทย แต่ขึ้นศาลกงสุลของตนแทน

หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไม่เสมอภาคนี้แล้ว ไทยต้องถูกบังคับให้ลงนามในสนธิสัญญาลักษณะเดียวกันกับหลายประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา (ค.ศ. 1856), ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1856), เดนมาร์ก (ค.ศ. 1858), โปรตุเกส (ค.ศ. 1859), เนเธอร์แลนด์ (ค.ศ. 1860), เยอรมนี (ค.ศ. 1862), สวีเดน, นอร์เวย์, เบลเยียม, อิตาลี (ค.ศ. 1868) ออสเตรีย-ฮังการี (ค.ศ. 1869) สเปน (ค.ศ. 1870) ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1898) รัสเซีย (ค.ศ. 1899) ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยถูกกระทบกระเทือนทางด้านเศรษฐกิจและทางศาลอย่างยิ่ง ข้ออ้างหนึ่งที่ต่างประเทศมีสิทธิเสรีภาพนอกอาณาเขต ก็คือ กฎหมายของไทยนั้นล้าหลังและป่าเถื่อน

ดังนั้น เมื่อเกิดคดีขึ้นชาวต่างประเทศก็ขึ้นศาลกงสุลของตนทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยจะต้องตกอยู่ภาวะที่สุดแสนจะทนทานได้ บรรพบุรุษของไทยจึงมีการต่อสู้และเรียกร้องอธิปไตยทางศาลคืน จนในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการชำระกฎหมายใหม่ โดยมีกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธาน และใน พ.ศ. 2451 ก็มีการประกาศ “ประมวลกฎหมายลักษณะอาญา” กระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จึงประกาศใช้กฎหมายต่างๆ ได้ค่อนข้างสมบูรณ์ กว่าไทยจะได้เอกราชและอธิปไตยทางศาลมาตราบเท่าทุกวันนี้ บรรพบุรุษของเราต้องต่อสู้กับลัทธิล่าอาณานิคมและผู้รุกรานมาด้วยความขมขื่นและยากลำบากยิ่ง

วันนี้ รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้นำของรัฐไทยกลับทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับบรรพบุรุษของไทยแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กรณีคนไทย 7 คน ถูกกัมพูชาจับกุมในดินแดนของประเทศไทยแท้ๆ กลับยัดเยียดข้อหาและผลักไสคนไทยให้ไปขึ้นศาลกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่างสมคบคิดและพูดเป็นเสียงเดียวกันปรักปรำคนไทยให้กลายเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิดใดเลย อันเป็นการสมคบกับบุคคลอื่นนอกราชอาณาจักรกระทำการเพื่อให้ราชอาณาจักรไทย

หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรตกไปอยู่ภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศ หรือเพื่อให้เอกราชของรัฐเสื่อมเสียไป อันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 119 และมาตรา 120 ดังบทความของท่านยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ ได้เขียนและเผยแพร่ในผู้จัดการออนไลน์ ฉบับลงวันที่ 17 มกราคม 2554

การที่รัฐไทยยอมให้คนไทยถูกจับไปขึ้นศาลกัมพูชา ทั้งๆ ที่ถูกจับในแผ่นดินไทยหรือเลวร้ายที่สุดก็ถูกจับอยู่ดินแดนที่มีข้อพิพาทอันไม่ปรากฏชัดว่ารัฐไทยหรือรัฐกัมพูชาจะอ้างอธิปไตยเหนือดินแดนนั้นได้ การที่รัฐบาลไทยยอมจำนนและผลักไสคนไทยไปขึ้นศาลกัมพูชาเช่นนี้ จึงเป็นการกระทำที่ทำให้ประเทศไทยต้องเสียอธิปไตยทางศาล มีผลต่อการเสียอธิปไตยเหนือดินแดนและจะนำไปสู่การเสียดินแดนในที่สุด ปัญหานี้ รัฐบาลไทยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิดในเรื่องนี้ทั้งหมด ต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น