xs
xsm
sm
md
lg

ดึงค่าภาคหลวงปิโตรเลียมอุ้มแอลพีจี ส่งซิกขยับค่าไฟอุตฯอุ้มผู้ใช้รายย่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “วรรณรัตน์” ยันมีเงินตรึงแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งแล้วโดยเตรียมแก้กม.ปิโตรเลียมดึงค่าภาคหลวงมาอุ้มแทนกองทุนน้ำมันฯ ระหว่างรอแก้คลังจะตั้งงบฯมาดูแลก่อน หากลดภาระตรึงแอลพีจีได้อาจลดเก็บเงินกลุ่มเบนซินลง ขณะที่นโยบายประชาวิวัฒน์ใช้ไฟฟรีรายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยส่งซิกดึงภาคอุตฯมาอุ้ม ขณะที่เรกูเลเตอร์รับเบื้องต้นมี 3 ทางเลือกหากเกลี่ยทุกส่วนเอฟทีขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย

น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า นโยบายของภาครัฐในการดูแลการตรึงราคาแอลพีจี(ก๊าซหุงต้ม)ภาคขนส่งและครัวเรือนนั้นเบื้องต้นจะให้คลังตั้งงบประมาณมาดูแลก่อนเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 54โดยระหว่างนี้ก็ให้เร่งแก้ไขพระราชบัญญัติปิโตรเลียมเพื่อที่จะดึงเงินค่าภาคหลวงปิโตรเลียมมาอุดหนุนแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในระยะยาวซึ่งการแก้ไขกฏหมายดังกล่าวจะใช้เวลาค่อนข้างนานแต่ยืนยันว่าจะไม่ไปแตะค่าภาคหลวงปิโตรเลียมท้องถิ่นแต่อย่างใด

"การแก้ไขกฏหมายนานจึงต้องให้คลังตั้งงบประมาณมาดูแลก่อนและจะเน้นค่าภาคหลวงกับแหล่งปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย แล้วก็นำมาให้กองทุนน้ำมันฯดูแลแต่จะเป็นเงินเท่าใดจะต้องมาดูรายละเอียดอีกครั้งและดูว่าการใช้แอลพีจีลดลงไปมากน้อยเพียงใดด้วยส่วนจะตรึงไปนานแค่ไหนก็อยู่ที่นโยบายรัฐบาล"รมว.พลังงานกล่าว
ทั้งนี้หากลดภาระของกองทุนน้ำมันฯ จากการตรึงราคาแอลพีจีได้แล้ว มีความเป็นไปได้ที่จะลดการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯในส่วนของเบนซินลง จากขณะนี้เบนซิน 95 เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ 7.50 บาท/ลิตร เบนซิน 91 เก็บ 6.70 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 เก็บ 2.40 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 91 เก็บ 10 ส.ต./ลิตร

สำหรับการปรับขึ้นราคาภาคอุตสาหกรรมนั้นจะทยอยปรับขึ้นราคาครั้งแรกในช่วงเดือนมี.ค. เพื่อให้ราคาเท่ากับตลาดโลกในเดือนก.ค. ขณะนี้ราคาตลาดโลกอยู่ที่ 929 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล คาดว่าจะต้องปรับขึ้นอีก 18-19 บาท/กิโลกรัม(กก.)จากที่ตรึงไว้ 18.13 บาท/กก.แต่คาดว่าราคาแอลพีจีในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่แพงมากเท่ากับปัจจุบัน เนื่องจากหากผ่านพ้นหน้าหนาวราคาแอลพีจีตลาดโลกน่าจะปรับลดลงเป็นไปตามวัฎจักรราคาแอลพีจีตลาดโลก โดยกระทรวงเตรียมหารือกับอุตสาหกรรมที่ใช้แอลพีจี อาทิ เซรามิก เพื่อหาแนวทางช่วยลดผลกระทบให้กระทบน้อยที่สุด

ส่วนนโยบายการใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 90 หน่วยแบบถาวรจะให้ใครเป็นผู้มาอุดหนุนนั้นส่วนตัวเห็นว่าภาคอุตสาหกรรมควรจ่ายมากกว่าประชาชนทั่วไปผู้ใช้ไฟฟ้าเนื่องจากใช้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตามอำนาจดังกล่าวคงขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(เรกูเลเตอร์) เป็นผู้พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานเรกุเลเตอร์ กล่าวว่า แนวทางการเกลี่ยค่าไฟฟ้าเพื่ออุดหนุนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต้องใช้เงินถึงปีละ 15,000 ล้านบาทว่า ในเบื้องต้นมี 3 แนวทาง ที่จะนำไปใช้คือ 1.เฉลี่ยให้ผู้ที่ใช้ไฟเกิน 90 หน่วยทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมช่วยรับภาระไปทั้งหมดคาดว่าจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที) ปรับขึ้นน 10 ส.ต./หน่วย 2.เกลี่ยให้เฉพาะประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ารับภาระเพราะอยู่ในกลุ่มเดียวกันและ 3.ให้ภาคที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรมรับภาระไป ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะต้องมาพิจารณาอีกครั้งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนเม.ย. เพื่อประกาศใช้ในเดือนพ.ค.-ส.ค. ซึ่งเป็นงวดของการคิดค่าเอฟทีพอดี

อย่างไรก็ตามขณะนี้เรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างศึกษาที่จะปรับโครงค่าไฟฟ้าฐานใหม่ มีความเป็นที่อาจจะนำภาระในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้ามาพิจารณาในโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ คงต้องหาข้อสรุปร่วมกับระหว่างผู้ที่เกี่ยวก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น