xs
xsm
sm
md
lg

คาดใช้เดือนละ 1.5 พันล.อุดหนุนไฟฟรี 90 หน่วย “วรรณรัตน์” ลั่นใช้มากต้องจ่ายมาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สกพ.มั่นใจโยกค่าเอฟทีอุดหนุนผู้ใช้ไฟไม่ถึง 90 หน่วยทัน พ.ค.นี้ คาดใช้เงินเดือนละ 1.5 พันล้านบาท “วรรณรัตน์” ส่งซิกใช้หลักการ ผู้ใช้ไฟมากต้องจ่ายมาก แนวโน้ม “เรกูเรเตอร์” ดึงเงินภาคอุตฯ หนุนผู้ใช้ไฟน้อย ด้านเลขาฯ สกพ.คาดเก็บเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า 2.1 พันล้านบาท/ปี หลังประกาศระเบียบบังคับใช้ ทำให้โรงไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ ต้องส่งเงินเข้ากองทุน

นายกวิน ทังสุภานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวถึงมาตรการของรัฐบาลในการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย โดยระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีการถ่ายโอนเงินจากส่วนใดมาใช้ในการอุดหนุนระหว่างผู้ใช้ไฟบ้านหรือผู้ใช้ไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรม

“แต่ในหลักการแล้วจะมีการเก็บเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าเกิน 90 หน่วย มาใช้อุดหนุนในรูปของค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) คิดเป็นเงินอุดหนุนต่อเดือนประมาณ 1,500 ล้านบาท คาดว่า จะเริ่มเก็บในอัตราใหม่ได้ในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2554 นี้”

ทั้งนี้ จะเป็นการคำนวณโดยใช้โครงสร้างค่าไฟในปัจจุบันก่อน จนกว่าโครงสร้างค่าไฟใหม่จะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีนี้ ก็จะมีการปรับอีกครั้ง สำหรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ มองว่า จะเป็นเครื่องมือเพื่อส่งเสริมการบริหารจัดการพลังงานให้เกิดประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ

ก่อนหน้านี้ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ไปพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้าเพื่อหาแนวทางจัดหารายได้มารองรับนโยบายรัฐบาลในการยกเว้นค่าไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน ที่ส่งผลให้เกิดวงเงินที่ต้องรับภาระค่าไฟฟ้าดังกล่าว 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวเสริมว่า แนวทางในการวางนโยบาย คือ ต้องใช้หลักการหากใครใช้ไฟฟ้ามาก ก็ต้องเป็นผู้ใช้จ่ายค่าไฟฟ้ามากกว่ากลุ่มอื่น โดยเฉพาะภาอุตสาหกรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วๆ นี้

**เล็งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าปีละ 2.1 พันล.

นายกวิน ยังได้กล่าวในงานสัมมนา “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า พัฒนาพลังงาน พัฒนาบ้านเรา” โดยระบุว่า หลังจากที่มีการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแล้วเสร็จและได้มีการประกาศเป็นกฎหมายในราชกิจจานุเบกษาในปีนี้ ทำให้โรงไฟฟ้าทุกแห่งทั่วประเทศที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 1 เมกกะวัตต์ จะต้องนำส่งเงินเข้าสู่กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

อัตราชนิดของเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์ต่อหน่วย น้ำมันเตาต่อดีเซล 1.5 สตางค์ต่อหน่วย ถ่านหินต่อลิกไนต์ 2 สตางค์ต่อหน่วย พลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ลม และแสงอาทิตย์ 1 สตางค์ต่อหน่วย ไฟฟ้าพลังน้ำ 2 สตางค์ต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะและอื่นๆ 1 สตางค์ต่อหน่วย นอกจากนั้น ในชาวงระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าผู้ประกอบการจะต้องจ่ายเงินเข้าสู่กองทุนในอัตรา 50,000 บาทต่อเมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งเมื่อรวมแล้วในแต่ละปีมีเงินเข้าสู่กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประมาณ 2,100 ล้านบาท

การจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามพรบ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ตามมาตรา 97 (3) ถือเป็นกลไกทางดานกฎหมายที่สำคัญ ที่เป็นหลักประกันของคนในพื้นที่ที่มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ได้รับการดูแลตามกฎหมายภายใต้ระเบียบที่ กกพ.กำหนด การดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจะมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ และสามารถนำเงินที่เก็บเข้ากองทุนฯไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชัวิตของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง มีการใช้จ่ายเงินที่ตรงกับความต้องการและเกิดต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในด้านต่างๆ อย่างแท้จริง
กำลังโหลดความคิดเห็น