ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในภาคใต้เดือดร้อนหนัก จากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 63 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลต้นทุนและผลประกอบการที่ลดลง เตรียมรวมตัวยื่นศาลปกครองขอคุ้มครองชั่วคราว และประสานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ขอจ่ายค่าไฟในอัตราเดิม เรียกร้องรัฐบาลใหม่หามาตรการช่วยเหลือโดยด่วน
วันนี้ (23 ส.ค.) ที่โรงแรมซากุระ แกรนด์วิว อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นายมนตรี พันธุโสภณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานบริหารสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย (ภาคใต้) ร่วมหารือกับสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา สมาคมยางพาราไทย และตัวแทนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมใน จ.สงขลา เพื่อหาทางออกหลังได้รับความเดือดร้อนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า 63.291 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา และมีการเรียกเก็บย้อนหลังตั้งเดือนก.ค. ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รวมทั้งในกลุ่มของ SMEs ทั่วประเทศ จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและผลประกอบการลดลง
ผลการหารือทางผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.สงขลา และในภาคใต้จะเคลื่อนไหวใน 2 แนวทาง คือ แนวทางแรกจะเจรจากับการไฟฟ้าภูมิภาคระดับเขต เพื่อขอจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดิม และต้องไม่มีการปรับหรือเสียดอกเบี้ยกับส่วนต่างของค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น และแนวทางที่สองจะรวมตัวกันยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อขอคุ้มครองชั่วคราวไม่ให้มีการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้า
นายมนตรี พันธุโสภณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานบริหารสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย (ภาคใต้) ระบุว่า การปรับขึ้นค่าไฟฟ้า ส่งผลกระทบอย่างหนักกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเท่ากับเป็นการปัดภาระให้กับกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม เพื่อนำเงินไปชดเชยให้แก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วย
ทั้งที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ทั้งปัจจัยภายใน และนอกประเทศจนแทบเอาตัวไม่รอด และต่อไปยังต้องเจอกับนโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาล ทั้งค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับภาคอุตสาหกรรม จึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งหามาตรการช่วยเหลือโดยด่วน โดยการเคลื่อนไหวหลังจากนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานกับสภาอุตสาหกรรมทั้งในส่วนภูมิภาค และส่วนกลางรวมทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อเข้ามารวมตัวเคลื่อนไหวร่วมกัน
ด้าน นายบุญส่ง ศรีวัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท ปิติซีฟูดส์ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย (ภาคใต้) กล่าวว่า ต้องการให้มีการชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้า เพราะจากการประสานกับภาคอุตสาหกรรมในภาคใต้มองว่าการปรับราคาครั้งนี้รุนแรงเกินไป คือปรับถึง63.1911% และใช้วิธีหมกเม็ดไม่โปร่งใส เนื่องจากเป็นการปรับโดยจับค่า FT ไปใส่รวมกับค่าพลังงานไฟฟ้าจึงเป็นการปรับแบบไม่มีข้อมูลถึงความจำเป็นของการปรับ
“ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมทุกแห่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเดือนหลักล้านบาทแล้ว แต่ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ อย่างของตนเองปกติจ่ายเดือนละประมาณ 1 ล้านบาท แต่ล่าสุดเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านบาท และต่อไปยังต้องเจอปัญหากับการลอยตัวก๊าซแอลพีจี รวมทั้งนโยบายประชานิยมต่างๆ ของรัฐบาลที่กำลังทยอยออกมา ซึ่งล้วนเป็นภาระที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ซึ่งมองว่าไม่ยุติธรรมและเป็นการขูดรีดผู้ประกอบการเพื่อสนองนโยบายรัฐ”