เรกูเลเตอร์ เคาะค่าเอฟทีใหม่ งวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2554 เพิ่มขึ้น 8.93 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าช่วง 4 เดือนเพิ่มขึ้นเป็นหน่วยละ 3.23 บาท ระบุสาเหตุ ราคาก๊าซ-น้ำมันแพง ดันต้นทุนพุ่ง เผยหากให้ขึ้นสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ต้องปรับขึ้นถึง 13.78 สตางค์ต่อหน่วย ด้านภาคเอกชนหวั่น การเมืองแห่ใช้นโยบายประชานิยม ดันเงินเฟ้อพุ่งจนคุมไม่อยู่
นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) หรือเรกูเลเตอร์ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการพิจารณาค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2554 (วานนี้) โดยระบุว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติผันแปรหรือค่าเอฟที งวดใหม่ประจำเดือนพฤษภาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 เพิ่มขึ้น 8.93 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวม ซึ่งเรียกเก็บจากประชาชนในเดือนพฤษภาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 อยู่ในระดับ 3.23 บาทต่อหน่วย
สาเหตุที่ต้องปรับขึ้นค่าเอฟทีในงวดนี้ เป็นผลจากการที่เงินบาทอ่อนค่าลงจากที่ประมาณการณ์ไว้ 30.3 บาทต่อดอลลาร์ โดยอยู่ในระดับ 30.6 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่อัตราการใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.60% แต่จากตัวเลขจริงพบว่าอัตราการใช้ติดลบ 0.66% อีกทั้งราคาน้ำมันเตาสูงกว่าที่ประมาณการไว้ โดยอยู่ในระดับ 82.5-115.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และราคาก๊าซธรรมชาติสูงกว่าประมาณการที่ 224-230 บาทต่อล้านบีทียู
ด้าน นางพัลลภา เรืองรอง เรกูเลเตอร์ กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นควรให้ดึงเงินที่เรียกคืนจาก 3 การไฟฟ้าที่ไม่มีการลงทุนจริง (Call Back) จำนวน 2,600 ล้านบาท มาช่วยเกลี่ยเพื่อค่าเอฟทีที่จะเรียกเก็บในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 ลงเหลือ 8.93 สตางค์ต่อหน่วย เพื่อลดภาระประชาชนและผลกระทบต่อราคาสินค้า จากเดิมที่จะต้องปรับขึ้น 13.78 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น โดยราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าย้อนหลัง 6 เดือนอยู่ที่ระดับ 250 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ความจริงเรามีเงินที่เรียกเก็บคืนจากทั้ง 3 การไฟฟ้าอยู่ที่ 9,500 ล้านบาท ซึ่งหากจะใช้ทีเดียวทั้งหมดก็สามารถทำได้ แต่เห็นว่าราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าในช่วง 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอีก จึงทยอยใช้เพื่อลดภาระประชาชน และวิธีนี้ก็ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่ต้องมีภาระ”
ทั้งนี้ คณะกรรมการเรกูเลเตอร์จะนำรายละเอียดการพิจารณาและอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ที่จะใช้ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2554 ถึงเดือนสิงหาคม 2554 นี้ ลงประกาศในเว็บไซต์ของเรกูเลเตอร์ www.erc.or.th. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
สำหรับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) อัตราใหม่นี้ จะใช้เพียงแค่ 2 เดือนก่อน(งวดเดือนพฤษภาคม 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2554) หลังจากนั้น ก็จะรอโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ที่จะใช้ในช่วง 5 ปีนี้ออกมา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีการส่งสัญญาณจากฝ่ายการเมืองให้มีการตรึงค่าไฟฟ้าต่อ
นายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้ (วันที่ 4 พฤษภาคม 2554) ส.อ.ท.จะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีการปรับราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการให้รัฐบาลได้พิจารณาถึงแนวทางการช่วยเหลือ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมแก้ว กระจก และเซรามิกที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว
ด้าน นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท.สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ว่า ขณะนี้ภาคเอกชนมีความกังวลเกี่ยวกับระดับเงินเฟ้อ เนื่องจากรัฐบาลใช้นโยบายประชานิยมในการตรึงราคาสินค้า ซึ่งหากรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาใหม่ยังใช้นโยบายตรึงราคาสินค้าต่อ ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจนไม่สามารถควบคุมได้ เห็นว่ารัฐบาลควรใช้นโยบายผ่อนคลายราคาสินค้า โดยพิจารณาจากต้นทุนที่แท้จริง
“ระดับเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นภาวะเทียม เพราะรัฐบาลยังคุมราคาสินค้าอยู่ เพราะหากปล่อยให้ราคาสินค้าขึ้นตามจริงก็จะทำให้มีอัตราสูงกว่านี้ โดยเชื่อว่ารัฐบาลจะยังคงนโยบายตรึงราคาสินค้าต่อ และมีความกังวลว่ารัฐบาลที่เข้ามาใหม่ก็จะยังใช้นโยบายตรึงราคาสินค้าต่อ ซึ่งหากกดราคาสินค้าไว้นานก็ห่วงว่าจะระเบิดและลุกลามไปเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ซึ่งก็หวังว่าไทยคงไม่ถึงขั้นนั้น”
สำหรับภาพรวมการยอดส่งออกรถยนต์ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2554 นี้ คาดว่าน่าจะปรับตัวลดลง แม้ว่าจะมียอดคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) เข้ามา แต่ผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตได้ตามออเดอร์เพราะชิ้นส่วนมีไม่เพียงพอ
ด้าน นายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรทบทวนการทำงานที่ภาคเอกชนเสนอให้ภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี ในปี 2558 โดยต้องเตรียมความพร้อมของประเทศในการเข้าสู่เออีซี เพราะรัฐบาลชุดใหม่จะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเข้าสู่เออีซี จะดำเนินการเฉพาะเรื่องระยะสั้น 6-12 เดือนไม่ได้ เพราะส่งผลให้ประเทศไม่สามารถแข่งขันได้