“พลังงาน” ปิ๊งใช้แหล่งเงินใหม่ “ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม” จ่ายชดเชยราคาก๊าซ “แอลพีจี” ภาคครัวเรือน-ขนส่ง แทนการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันฯ เตรียมชงกฤษฎีกาแก้ กม.ปิโตรเลียม ปี 2514 พร้อมงัดแผนเสริมใช้งบกลางเข้าไปดูแล ช่วงแก้ไข กม.ที่อาจใช้เวลานาน ส่วนการใช้ไฟฟรี 90 หน่วย มีทางเลือก 3 แนวทาง
นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงความคืบหน้าในการหาแหล่งเงินเพื่อใช้อุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ภาคครัวเรือนและภาคขนส่ง ตามนโยบายประชาภิวัฒน์ โดยระบุว่า กระทรวงได้ทางออกในการหาแหล่งเงินทุนใหม่ เพื่อทดแทนการใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งอาจไม่เพียงพอหากราคาน้ำมันยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แล้วต้องดึงเงินมาจ่ายชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม
“ทั้งนี้ เรามีความชัดเจนแล้วว่าจะนำรายได้จากค่าภาคหลวงที่ส่งเข้ารัฐปีละ 4 หมื่นล้านบาท มาช่วยชดเชยราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่งแทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เบื้องต้นอาจจะใช้งบประมาณกลางมาใช้ดูแลแทนก่อน เนื่องจากการจะนำค่าภาคหลวงมาใช้ต้องมีการแก้กฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ก่อน ซึ่งใช้เวลานาน”
นายแพทย์ วรรณรัตน์ กล่าวเสริมว่า ช่วงที่อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายดังกล่าว ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลานาน เพราะต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่าง แล้วนำเรื่องเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรก่อน โดยระหว่างนี้อาจจะมีการตั้งงบประมาณเดือนตุลาคม 2554 เพื่อนำเงินมาช่วยดูแลราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนและขนส่ง ซึ่งก็จะทำให้ภาระของกองทุนน้ำมันแยกชัดเจนระหว่างภาระในการชดเชยราคาน้ำมันและแอลพีจี แต่วงเงินจะเป็นเท่าไหร่นั้น คงต้องพิจารณาในรายละเอียดก่อน เพราะจะทำแบบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้
“หากพิจารณาในหลักการแล้ว เราสามารถนำค่าภาคหลวงมาใช้ได้ เพราะค่าภาคหลวงที่จัดเก็บมาจาก 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่บนบกและในทะเล ซึ่งส่วนที่อยู่บนบกก็จะจัดสรรให้กับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นชัดเจน แต่ส่วนที่อยู่ในทะเลที่ไม่มีเจ้าของ ก็จะนำรายได้ส่งเข้าคลัง ซึ่งก็จะแบ่งรายได้จากส่วนนี้มาช่วย ส่วนจะอุดหนุนนานแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาล โดยวิธีการนี้จะไม่กระทบต่อผู้ที่ได้รับสัมปทานเพราะยังคงจ่ายค่าภาคหลวงตามเดิม”
ส่วนนโยบายปล่อยลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม รมว.พลังงาน คาดว่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้นราคาหลังครบกำหนดมาตรการตรึงราคาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 และจะปล่อยลอยตัวตามตลาดโลกเต็มตัวภายในเดือนกรกฎาคม 2554 ซึ่งระหว่างนั้นก็จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีเวลาปรับตัว เพื่อให้กระทบน้อยที่สุด เนื่องจากปกติช่วงกลางปีราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกจะมีราคาลดต่ำลงจากปัจจุบันราคาอยู่ที่ 929 ดอลลาร์ต่อตัน แต่ไทยมีการกำหนดเพดานราคาก๊าซแอลพีจีหน้าโรงกลั่นไว้ที่ระดับ 333 ดอลลาร์ต่อตัน ทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงต้องรับภาระชดเชยส่วนต่างราคาอยู่ประมาณ 600 ดอลลาร์ต่อตัน หรือชดเชยประมาณ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม
สำหรับนโยบายการใช้ไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกินเดือนละ 90 หน่วยโดยจะให้ผู้ที่ใช้ไฟมากกว่า 90 หน่วยมาอุดหนุนนั้นคงต้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) จะเป็นผู้พิจารณาในรายละเอียด แต่ในความเห็นส่วนตัวผู้ที่ใช้ไฟฟ้ามากๆ อาทิ ภาคอุตสาหกรรม ควรต้องจ่ายมากกว่าผู้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า แต่คงต้องรอข้อสรุปจากเรกูเลเตอร์อีกครั้ง
ด้าน นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวถึงแนวทางการเกลี่ยค่าไฟฟ้าเพื่ออุดหนุนผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต้องใช้เงินถึงปีละ 15,000 ล้านบาท โดยระบุว่า เบื้องต้นมี 3 แนวทางที่จะนำไปใช้ คือ 1.เฉลี่ยให้ผู้ที่ใช้ไฟเกิน 90 หน่วยทั้งภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรมช่วยรับภาระไปทั้งหมด คาดว่า จะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ปรับขึ้นน 10 สตางค์ต่อหน่วย 2.เกลี่ยให้เฉพาะประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ารับภาระ และ 3.ให้ภาคที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุดคือภาคอุตสาหกรรมรับภาระไป ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะต้องมาพิจารณาอีกครั้ง คาดว่า จะได้ข้อสรุปในช่วงเดือนเมษายน 2554 เพื่อประกาศใช้ในงวดบิลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2554
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างศึกษาที่จะปรับโครงค่าไฟฟ้าฐานใหม่ มีความเป็นที่อาจจะนำภาระในการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้ามาพิจารณาในโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ คงต้องหาข้อสรุปร่วมกับระหว่างผู้ที่เกี่ยวก่อน