“นายกฯ” แจงที่ประชุม ครม.หนุนมาตรา 9 ข้อ สวนกระแสเลียนแบบประชานิยม พร้อมทุ่มงบ 9 พันล้านบาท ตามแผนปฏิรูปประเทศไทย ชี้ ปรับค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมไม่เป็นการเพิ่มภาระ ย้ำ ตรึงราคาแอลพีจีเฉพาะของครัวเรือนและขนส่ง ไม่เข้าใจ เหตุผลที่ ปตท.ระบุว่า มีผลกระทบหากไม่ตรึงก๊าซแอลพีจี ชี้มาตรการไม่ได้ทำให้ราคาถูกลง
วันนี้ (11 ม.ค.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย ที่รัฐบาลได้มีการนำเสนอไปแล้วในวันที่ 1 มกราคม และวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่เรื่องของการศึกษา กระบวนการยุติธรรม สวัสดิการคุณภาพชีวิต ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และเรื่องเศรษฐกิจที่ให้โอกาสให้เกิดความเป็นธรรมเกิดความเท่าเทียม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบปรับรายละเอียด อาทิ การเพิ่มหน่วยงานหรือปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่ไปดำเนินการ และจะมีการตั้งคณะกรรมการที่เข้าไปติดตาม และขับเคลื่อนเพื่อให้การทำงานทุกด้านปรากฏผลเป็นรูปธรรมตามกรอบเวลาที่ได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทย
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนจะทำหน้าที่เป็นประธานในการติดตามและขับเคลื่อน ซึ่งจะมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ปฏิบัติ โดยจะมีการมอบหมายเป็นการเฉพาะหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องกับงานทางด้านนี้จะต้องมอบหมายบุคคลให้ชัดเจน ไม่ใช่เป็นผู้แทนที่จะมีการเปลี่ยนคน และจะมีการรายงานเกือบตลอดเวลาเพื่อให้การทำงานเดินไปได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่แผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยในระดับนโยบายอย่างครบถ้วน จะต้องดำเนินการเดินหน้าต่อไปตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปจะมีการดำเนินการ ให้เป็นรูปธรรมในแต่ละเรื่องตามตารางเวลาการปฏิบัติงานที่ได้กำหนดไว้ และจะมีการประเมินการทำงานอยู่เป็นประจำ เช่น เรื่องของประกันสังคม
ผู้สื่อข่าวถามว่า งบประมาณที่จะนำมาใช้ในการปฏิรูปประเทศทั้งหมดเอามาจากไหน นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้จะมีทั้งส่วนที่เป็นงบประจำ ที่อาจจะปรับเปลี่ยนจากแผนงานปกติ อีกส่วนก็จะมาจากเงินของหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ (สสค.) ที่ใช้เงินยืมจากเงินกู้ที่มีอยู่แล้วในอดีต และเมื่อมีกฎหมายมารองรับก็จะมีเงินรายได้จากภาษีเหมือนสำนักงานสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.) เคยทำในปี 2543-2545 และอีกส่วนจะเป็นเงินจากภาคเอกชนเอง ซึ่งภาระทั้งหมดนั้นอยู่ประมาณ 9 พันล้านบาท โดย 2 พันล้านจะใช้ในส่วนของ 9 มาตรการที่ได้ประกาศไปแล้ว แต่ที่เป็นโครงการใหญ่จริงๆ ก็เป็นโครงการบ้านมั่นคง ที่จะใช้งบประมาณถึง 3 พันล้านบาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณ จากส่วนไหนมารับภาระค่าไฟฟ้าตามโครงการนี้กว่า 1.4 หมื่นล้าน นายกฯ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชนในปัจจุบันจะไปสิ้นสุดในเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากนั้น ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนกรกฎาคม ก็จะมีการปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียม ในแง่ของผู้ใช้มากและน้อย หากไม่ทันในปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็อาจจะมีการต่ออายุมาตรการไปจนถึงเดือนกรกฎาคม สำหรับการปรับโครงสร้างนั้น จะมีการปรับจากเดิมที่ผู้เสียภาษีอากรจะเป็นผู้รับภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย แต่จากนี้ไปก็จะเป็นผู้ใช้ไฟมากจะเป็นผู้รับภาระในส่วนนี้แทน ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมนั้นเราได้ดูแล้วว่าภาระจะไม่เพิ่มขึ้น เพราะที่ได้คำนวณในเบื้องต้นแล้วนั้นแนวโน้มค่าเอฟทีจะลดลงในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะไปชดเชยกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีเสียงทักท้วงว่าต่อไปคนใช้ไฟฟ้าน้อยจะไปใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ก็ต้องบอกว่าเมื่อใช้ไฟฟ้ามากขึ้นก็จะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าฟรีและต้องเสียเงินค่าไฟฟ้าผู้สื่อข่าวถามว่า มาตรการตรึงราคาแก๊สแอลพีจีในภาคครัวเรือนกับภาคขนส่ง แต่จะลอยตัวในภาคอุตสาหกรรม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ข้อเสนอเรื่องแอลพีจีนั้น ที่ผ่านมา มีการพูดกันถึงการปรับราคาขึ้น แต่เรายืนยันที่จะตรึงราคาในส่วนของครัวเรือนกับขนส่งได้ แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมก็จะให้จ่ายในราคาตลาด โดยผลกระทบนั้นจะดูจาก 1.หลายส่วนจะมีแรงจูงใจในการเปลี่ยนเชื้อเพลิง และ 2.จะมีมาตรการของกระทรวงพลังงานและกระทรวงอุตสาหกรรมจะเข้าไปช่วยเหลือหรือแนะนำให้มีการปรับเปลี่ยนหรือมีแรงจูงใจให้ปรับเปลี่ยนอย่างไร เช่น อุตสาหกรรมเซรามิค โดยรายละเอียดการปรับโครงสร้างราคานั้นกระทรวงพลังงานจะไปดูแลเพื่อให้สะท้อนราคาตลาด
“การดำเนินการครั้งนี้เราไม่ได้ทำให้ราคาแอลพีจีถูกลง และถ้าเอ็นจีวีไม่ปรับ ความได้เปรียบและเสียเปรียบระหว่างแอลพีจีและเอ็นจีวีก็เท่าเดิม ผมยังมองไม่เห็นข้อห่วงใยที่ว่าคนจะหันมาใช้แอลพีจีมากขึ้น เพราะเอ็นจีวีและแอลพีจีก็ยังราคาเท่าเดิมและเอ็นจีวีก็ยังราคาถูกกว่า แต่เหตุผลสำคัญในการจัดให้ภาคขนส่งอยู่กับภาคครัวเรือนนั้นเป็นเหตุผลในภาคปฏิบัติเพราะแยกตลาด 2 ส่วนนี้ยาก ที่อาจจะทำให้เกิดปัญหาการลักลอบและอันตรายที่จะตามมา แต่เมื่อลอยตัวภาคอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงานก็จะมีการตรวจสอบลองรับไว้แล้วว่าจะไม่ให้เอาแอลพีจีราคาถูกในส่วนที่เป็นของภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งไปใช้ในอุตสาหกรรมได้” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีมาตรการควบคุมการนำเข้าแอลพีจีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้ที่นำเข้าแอลพีจีจะต้องนำเข้าในราคาตลาดโลกอยู่แล้วและที่ผ่านมามีภาระการชดเชย ซึ่งกรรมการพลังงานก็เพิ่งเปลี่ยนสูตรเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้กับโรงกลั่นเพื่อลดการนำเข้าอยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ามาตรการทั้งเรื่องแอลพีจีและต้นทุนต่างๆ จะมีส่วนที่กระทบกับ ปตท.บ้าง ในฐานะผู้ประกอบการ
เมื่อถามว่า มีมาตรการควบคุมการนำเข้าแอลพีจีหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผู้ที่นำเข้าแอลพีจีจะต้องนำเข้าในราคาตลาดโลกอยู่แล้วและที่ผ่านมามีภาระการชดเชย ซึ่งกรรมการพลังงานก็เพิ่งเปลี่ยนสูตรเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้กับโรงกลั่นเพื่อลดการนำเข้าอยู่แล้ว