xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เสียงครวญจาก“ทุนราชประสงค์” “รบ.-เสื้อแดง”ต้องฟังก่อนพังกันหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การลุกฮือขึ้นมาของกลุ่มนักธุรกิจ ผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่จนถึงรายย่อยในพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่มีการจัดกิจกรรม “แดงรำลึก” กันเดือนละ 2 ครั้ง
 
ด้วยการรวมตัวจัดตั้งกลุ่มธุรกิจย่านสี่แยกราชประสงค์ เพื่อเคลื่อนไหวขอให้รัฐบาลลงมาแก้ปัญหาการชุมนุมของคนเสื้อแดง ตลอดจนขอให้คนเสื้อแดงทบทวน จนถึงยุติการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ด้วย เพราะได้ส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโดยรอบทั้งหมด บนการอ้างตัวเลขค่าเสียหายว่าคนราชประสงค์ได้รับความเสียหายไปแล้ว 11,000 ล้านบาท ตลอดช่วงการชุมนุมของคนเสื้อแดงตั้งแต่เมษายน 53 จนถึงปัจจุบัน

ที่น่าสนใจก็คือ การเปิดเผยของผู้ค้ารายย่อยที่ไม่ได้มีสายป่านยาวเป็นเงินถุงเงินถัง ซึ่งมีอยู่มากมายอย่าง เช่นการเช่าพื้นที่เปิดแผงขายเสื้อผ้าหรือขายอาหารบริเวณแถวๆ ห้างบิ๊กซี ราชดำริ ตรงข้ามเซนทรัลเวิลด์ ที่จะขายกันทุกวันไม่มีวันหยุด

การชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ใช้วันอาทิตย์เป็นวันนัดชุมนุม ทำให้ผู้ค้า-เจ้าของกิจการรายย่อยไม่สามารถค้าขาย-ให้บริการได้ ต้องยุติการค้าขายไปเลยเดือนละ 2 อาทิตย์ ทั้งที่วันอาทิตย์ จะเป็นวันที่การค้าขาย การจับจ่ายใช้สอยคึกคักที่สุด

ความเสียหายจากการชุมนุมคนเสื้อแดง ส่งผลกระทบต่อยอดขายหรือรายได้ที่หายไปเดือนละอย่างต่ำ 10 เปอร์เซนต์ ซึ่ง 10 เปอร์เซนต์สำหรับธุรกิจรายใหญ่ย่านสี่แยกราชประสงค์ อย่างเซนทรัลเวิลด์-เกษรพลาซ่า-โซโก้ -เซ็นทรัล ชิดลม แม้จะทำให้รายได้กำไรลดลง แต่พวกกลุ่มนี้ก็ยังอยู่ได้

ทว่า สำหรับพวกรายย่อยที่ทำการค้าย่านราชประสงค์-ประตูน้ำ-ราชดำริ ที่สายป่านไม่ยาว ไม่ใช่กลุ่มทุนขนาดใหญ่ ถือว่าส่งผลกระทบอย่างมาก

อย่างการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ล่าสุดเมื่อ 9 ม.ค.54 ฝ่ายผู้ประกอบการ ราชประสงค์บอกว่าเสียหายไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท ถามว่าเป็นตัวเลขเว่อร์หรือไม่

“ทีมข่าวการเมืองASTVผู้จัดการ”มองว่า เป็นไปได้

ต้องไม่ลืมว่าการชุมนุมแต่ละครั้งกินเวลาหลายชั่วโมง และจะเป็นข่าวล่วงหน้าอยางน้อยไม่ต่ำกว่า 10 วันทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ตามมา เช่น นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศยกเลิกหรือไม่เข้าพักโรงแรมย่านราชประสงค์ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก แถมเป็นโรงแรมระดับห้าดาว ค่าห้องพักคืนละหลายหมื่นบาท ส่วนกิจการร้านค้าต่างๆ โดยรอบทั้งหมดก็ต้องปิดกิจการ อีกทั้งการจราจรก็ต้องยกพื้นที่ให้เสื้อแดงทั้งหมด จนส่งผลกระทบในวงกว้าง

สุดท้าย คนที่ได้รับผลกระทบอย่างนักธุรกิจ-ผู้ประกอบการ-พนักงาน ก็ต้องออกมาส่งเสียงความเดือนร้อนนี้ให้รัฐบาล-แกนนำนปช. และสังคม ได้รับรู้หลังทนเงียบมานาน

ความเคลื่อนไหวรอบนี้ ทีมข่าวการเมืองฯ มองว่านี้คือการเคลื่อนไหวของทุนราชประสงค์ที่ทางแกนนำเสื้อแดงและรัฐบาล ควรต้องรับฟัง และเข้าไปร่วมวางแผนแก้ไขปัญหาด้วย

อย่าปล่อยให้เรื่องแบบนี้ผ่านเลยไปโดยไม่คิดทำอะไร หรือตั้งแง่กันว่า พวกนักธุรกิจที่เคลื่อนไหวเป็นพวก

“นายทุน-คนรวย”
 
ไม่ต้องไปสนใจ แค่กำไรหายไปจากบัญชีรายได้เดือนละไม่กี่ล้านบาท คงไม่มีผลกระทบอะไร
การคิดด้วยตรรกะแคบๆ ของพวกคนเสื้อแดง ที่ไม่ยอมรับฟังปัญหาจากการชุมนุมของตัวเอง ถือว่าใช้ไม่ได้ เพราะวงจรธุรกิจ อย่างกิจการห้างสรรพสินค้า-ร้านอาหาร-โรงแรม ย่านดังกล่าว ก็มีการจ้างงานร่วม 33,000 คน ตามการอ้างของกลุ่มนักธุรกิจที่ออกมาเคลื่อนไหว

รวมถึงรายได้ที่ได้เช่นจากนักท่องเที่ยวที่มาพักตามโรงแรมย่านดังกล่าว หรือการนำเงินไปจับจ่ายซื้อสินค้าในบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ก็คือรายได้ที่เข้าประเทศ ทำให้เกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้ ท้ายที่สุด รัฐก็ได้ภาษีเข้าคลังจากระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมาเป็นเงินงบประมาณเพื่อบริหารประเทศ

ปัญหาดังกล่าวซึ่งเกิดขึ้นจากการที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร จะมีการชุมนุมเสื้อแดงอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง โดยไม่มีใครให้คำตอบได้ว่าจะยุติเมื่อใด จนทำให้ความเชื่อมั่นในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทย เสียโอกาสในการแข่งขันกับนานาประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันเองไปอย่างน่าเสียดาย

จึงควรอย่างยิ่งที่แกนนำนปช. ต้องเลิกคิดว่าผลกระทบต่างๆ ทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวบริเวณสี่แยกราชประสงค์เป็นเรื่องของพวกชนชั้นนักธุรกิจ-ชนชั้นกลาง โดยคนเสื้อแดงไม่ได้มีผลกระทบด้วย

การคิดเช่นนี้ ก็ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” อย่างที่พวกแกนนำนปช.-คนเสื้อแดงอ้างเสมอมาว่า เรียกร้องประชาธิปไตย แต่ถ้าประชาธิปไตยดังกล่าว ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสื้อแดง ก็ไม่รับฟังเสียงสะท้อนปัญหาที่คนเสื้อแดงทำขึ้น แล้วจะมาอวดอ้างตัวเองว่า เรียกร้องประชาธิปไตย ได้อย่างไร ?

ยิ่งเมื่อดูข้อเรียกร้องต่างๆ ของนักธุรกิจ-ผู้ประกอบการสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งกำลังได้แนวร่วมมากขึ้นเรื่อยๆไม่ใช่แค่พวกนักธุรกิจ ผู้ประกอบการย่านสี่แยกราชประสงค์เท่านั้น แต่คนกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจบริเวณโดยรอบ

เช่น ย่านสยามสแควร์ มาบุญครอง สีลม ซึ่งแม้ไม่ได้ปิดการค้าขายหรือให้บริการในวันที่เสื้อแดงชุมนุม แต่ทุกครั้งที่มีการชุมนุมก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วยอย่างเห็นได้ชัด อาทิ คนมาเดินเที่ยวลดน้อยลง เพราะเกรงจะไม่ได้รับความสะดวกเรื่องการจราจร รวมถึงไม่มั่นใจความปลอดภัย ก็เริ่มจะมีความเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลลงมาแก้ปัญหานี้ร่วมกับพวกนักธุรกิจราชประสงค์เช่นกัน

ทีมข่าวการเมืองฯ ก็ไม่ได้เข้าข้างนายทุนราชประสงค์ หรือพ่อค้าแม่ค้าย่านสี่แยกราชประสงค์ แต่ก็เห็นด้วยกับหลักการที่ว่า เสื้อแดงชุมนุมได้ ถ้าไม่เกิดความรุนแรง แต่การชุมนุมต่างๆ ก็ต้องไม่ทำให้คนอื่นเสียสิทธิหรือได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิตและธุรกิจ จนอยู่ไม่ได้

ข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาจากหนังสือเปิดผนึกของนักธุรกิจสี่แยกราชประสงค์ ที่ยื่นต่อนายกรัฐมนตรี ถือว่าน่าสนใจไม่น้อย เช่น ที่บอกถึงเรื่องผลกระทบที่ได้รับว่าในปี 2553 ที่ผ่านมา ได้เกิดความเสียหายที่สามารถวัดได้อันเกิดจากการชุมนุมบนพื้นที่สาธารณะบริเวณย่านราชประสงค์

“คือความเสียหายทางธุรกิจของผู้ประกอบการรายเล็กและรายใหญ่จำนวน 2,088 ราย มูลค่าความเสียหายคิดเป็น 11,275 ล้านบาท ผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพของพนักงานในธุรกิจดังกล่าวจำนวน 30,661 คน ”

เสียงสะท้อนเหล่านี้ แกนนำนปช.ทุกคน ต้องรับฟังด้วย เพื่อนำไปหารือกันภายในว่า สมควรต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมได้หรือไม่

เพราะคนเสื้อแดงก็ไม่ใช่เจ้าของประเทศ ไม่ใช่เจ้าของสี่แยกราชประสงค์ จะมาใช้กฎหมู่อยู่เหนือกฎหมายโดยไม่ฟังความเดือนร้อนของคนอื่นไม่ได้

อีกทั้งก็ไม่ควรที่แกนนำนปช.จะมาอ้างสิทธิในการชุมนุมได้แบบอาทิตย์เว้นอาทิตย์ โดยไม่ต้องสนใจกฎหมาย เพราะคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ หนึ่งชีวิต มีค่ามากกว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจพันล้านหมื่นล้าน ซึ่งกำไรก็อยู่ในมือไม่กี่คน ไม่กี่ตระกูล การนัดรวมตัวกันสองอาทิตย์ต่อหนึ่งเดือน เพื่อรำลึกถึงเพื่อนเสื้อแดง หน้าไหนจะมาห้ามก็ไม่ได้

ทีมข่าวการเมืองฯ ก็ยืนยันเช่นกันว่า ชีวิตมนุษย์ ย่อมสำคัญกว่าเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจ -นักท่องเที่ยวต่างชาติ การที่แกนนำจะจัดชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเพื่อนเสื้อแดงที่เสียชีวิต ก็ย่อมทำได้ แต่ก็ต้องมีขอบเขตที่เหมาะสมเช่นกัน

หากแกนนำเสื้อแดงจะช่วยบรรเทาความเสียหายทางเศรษฐกิจให้คนราชประสงค์บ้าง ด้วยการเปิดรับข้อเสนอต่างๆ ซึ่งดูแล้วข้อเรียกร้องที่นักธุรกิจย่านสี่แยกราชประสงค์ออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งก็ไม่ได้ขอร้องให้ยกเลิกการชุมนุมคนเสื้อแดง เพราะรู้ดีว่าให้เรียกร้องอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จ เพราะขนาดรัฐบาล-กองทัพ ใช้มาตรการทุกอย่างยังทำไม่ได้ แล้วนักธุรกิจสี่แยกราชประสงค์จะเอาอะไรไปกดดันแกนนำนปช.ให้เลิกชุมนุมที่ราชประสงค์ได้ แต่ผู้ประกอบการอยากขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำแผนการจัดการชุมนุมของเสื้อแดงด้วยก็เท่านั้น

เช่นการคุยกันให้ชัดถึงพื้นที่การชุมนุมว่าจะให้คนเสื้อแดงรวมตัวกันได้อยู่ตรงจุดไหน ห้ามเกินส่วนไหนได้หรือไม่

เพื่อให้มีการวางแผนหารือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ แกนนำนปช.-ตำรวจ-นักธุรกิจผู้ประกอบการ ในการวางแผนรองรับการชุมนุม ภาคเศรษฐกิจจะได้ทุเลาผลกระทบไปได้บ้าง

ข้อเรียกร้องต่างๆ เหล่านี้ ทั้งรัฐบาล-แกนนำนปช.ไม่ควรนิ่งเฉย ปล่อยให้คนกลุ่มนี้ไปแก้ปัญหากันเอาเอง เพราะสุดท้ายหากเกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ เช่น เจ้าของธุรกิจอยู่ไม่ได้ กำไรลดลง ก็อาจต้องการลดต้นทุนลง ด้วยการปลดพนักงานเช่นพนักงานโรงแรม หรือพนักงานขายสินค้าในห้างสรรพสินค้าย่านราชประสงค์ ออกไปจำนวนมาก

แบบนี้ แทนที่เสื้อแดงจะได้แนวร่วม-มิตรมาอยู่เคียงข้างก็จะได้ “ศัตรู” เพิ่มขึ้นมาโดยไม่ทันรู้ตัว และปัญหาความเกลียดชังของคนไทยกลุ่มต่างๆ ด้วยกันเอง แทนที่จะแก้ปัญหาได้ กลับจะยิ่งมี

“คู่ขัดแย้ง-ตัวแสดง”มากขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นความขัดแย้งของคนในกลุ่มต่างๆ ขยายวงกว้างไปมากขึ้น ส่วนรัฐบาลก็ต้องมาแก้ปัญหาเรื่อง แรงงาน-คนตกงาน

ทั้งที่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากมีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุบนหลักประนีประนอมและการพูดคุยกันของแกนนำนปช.-รัฐบาล-ตำรวจ-นักธุรกิจผู้ประกอบการย่านราชประสงค์ ตั้งแต่บัดนี้ เพื่อไม่ให้ปัญหาลุกลามไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายกว่าจะลงมาแก้ปัญหาก็สายเสียแล้ว

กำลังโหลดความคิดเห็น