xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“มาร์ค”เมินเลิก MOU44 ปล่อย“เทือก”เอี่ยวก๊าซ-น้ำมัน 5 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แผนที่แสดงแหล่งน้ำมันในอ่าวไทยบริเวณที่ไทย-กัมพูชาอ้างสิทธิไหล่ทวีปทับซ้อน
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สิ่งที่ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียให้แก่กัมพูชาในเวลานี้ หากไม่มีการยกเลิกเอ็มโอยู 2543 (บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก พ.ศ.2543) และข้อตกลงที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ได้มีเพียงแค่ดินแดน 1.8 ล้านไร่ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสูญเสียผลประโยชน์ทางทะเลมูลค่ามหาศาล

นั่นเพราะ เอ็มโอยู 2543 ที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล เป็นที่มาของ “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งราชอาณากัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในเขตไหล่ทวีปทับซ้อน” หรือ “เอ็มโอยู 2544” ที่ลงนามกันในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ก่อนที่จะมี เอ็มโอยู 2544 กัมพูชาได้ประกาศอ้างสิทธิ์ฝ่ายเดียวในเขตไหล่ทวีป บริเวณอ่าวไทย ตั้งแต่ปี 2515 เริ่มจากจุดตั้งต้นของเส้นไหล่ทวีปที่ไม่มีค่าพิกัดที่แน่นอน ลากผ่าครึ่งเกาะกูด จ.ตราดของไทยโดยไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายรองรับ และเส้นไหล่ทวีปในแนวเหนือ-ใต้ ไม่ได้กำหนดจากเส้นฐานหมู่เกาะของทั้งสองประเทศตามหลักสากล

ขณะที่ฝ่ายไทยได้ประกาศอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปตามมาในปี พ.ศ. 2516 แม้จุดเริ่มต้นของเส้นไหล่ทวีปจะยังมีค่าพิกัดไม่แน่นอน เพราะต้องขึ้นอยู่กับหลักเขตแดนหลักที่ 73 หลักเขตสุดท้ายทางบกที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของทางทะเล ซึ่งเรียกว่าเป็นหลักอ้างสิทธิ์ แต่ไทยได้ใช้พื้นฐานทางกฎหมายรองรับในการลากเส้นทางทะเลของตัวเองทับซ้อนกัน ทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลขึ้น

หลังจากนั้น มีความพยายามเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาเพื่อทำข้อตกลงเรื่องการอ้างสิทธิ์ในเขตไหล่ทวีปทับซ้อนกันอย่างต่อเนื่อง และมาทำบันทึกข้อตกลงกันได้เป็นครั้งแรก ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.44 ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศของไทยในขณะนั้น กับนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่การเจรจาออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนที่สอง พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area - JDA) รัฐบาลทักษิณ มุ่งมั่นจะเจรจาปักปันเขตแดนในทะเล และตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากการให้สัมปทานขุดเจาะแก๊สและน้ำมันให้เร็วที่สุด แต่การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.49 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กลับสะดุดลง เนื่องจากการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว เพราะข้อเสนอสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

กล่าวคือ พื้นที่ส่วนที่อยู่ตรงกลาง ทั้งสองตกลงกันได้ในเบื้องต้น โดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการขุดเจาะแก๊สและน้ำมัน ในสัดส่วน 50-50 แต่พื้นที่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ในสัดส่วน 90-10 แต่ฝ่ายไทยเห็นควรแบ่งในสัดส่วน 60-40 และการเจรจาได้สะดุดหยุดลง เมื่อรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549

สำหรับพื้นที่เขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีประมาณ 27,960 ตารางกิโลเมตรกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ประมาณการว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท

ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทย ต่างให้สัมปทานแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลกหลายราย เช่น เชฟรอน, โตตาล, ยูโนแคล, บริติช แก๊ส, มิตซุย, กลุ่ม ปตท. เป็นต้น แต่การสำรวจขุดเจาะยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่ารัฐบาลทั้งสองชาติจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันเสียก่อน

ในการทำเอ็มโอยู 2544 นั้น มีข้อสงสัยอย่างมาก ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฮุนเซน นายกฯ กัมพูชา

ประมาณเดือนพฤษภาคม 2551 พล.อ.เตีย บัน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชาเอง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงทุนธุรกิจพลังงาน โดยเฉพาะการเช่าเกาะกงหลังจากที่ได้หารือกับสมเด็จฮุน เซน เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเรื่องความสัมพันธ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ กับบริษัท เพิร์ล ออยล์ ที่มีกลุ่มทุนเทมาเล็กของสิงคโปร์ถือหุ้น และมีต้นกำเนิดมาจาก แฮร์รอดส์ เอ็นเนอร์ยี่(ประเทศไทย) ที่ พ.ต.ท.ทักษิณฯ พยายามนำบริษัทเข้าไปลงทุนในกัมพูชา รวมทั้งนำบริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือPTTEPI ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ปตท. ซึ่งไปร่วมทุนกับบริษัทอื่นที่จดทะเบียนในกัมพูชา ขอรับสัมปทานจากกัมพูชาในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ ในบล็อก B

ข้อสงสัยเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนดังกล่าว ทำให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ใช้เป็นข้ออ้างในการออกมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2552 เห็นชอบให้มีการยกเลิก เอ็มโอยู.2544 เพื่อเป็นการตอบโต้รัฐบาลกัมพูชาที่แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรเป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ โดยจะส่งเข้าสภาเพื่อพิจารณาตามรัฐธรรมนูญต่อไป

ในครั้งนั้น กระทรวงการต่างประเทศให้เหตุผลว่า การที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และพ.ต.ท.ทักษิณรับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจาก 1 ปีผ่านไป รัฐบาลนายอภสิทธิ์ ยังไม่ได้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ตามมติ ครม.ที่ออกมา แต่กลับมีท่าทีจะเจรจาเพื่อสานต่อเอ็มโอยู 2544 ต่อไป

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 53 เว็บไซต์ www.15thmove.net ได้รายงานโดยอ้างสำนักข่าว “ข่าวด่วน”กัมพูชาว่า เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.53 นายฮอร์ นัมฮง ได้ร้องขอให้นายกษิต ภิรมย์ ซึ่งเดินทางเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ พิจารณาข้อเสนอของกัมพูชาในการเปิดการเจรจาเกี่ยวกับการสำรวจแร่ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลซึ่งอ้างสิทธิ์โดยทั้งสองประเทศ โดยนายฮอร์เสนอรองนายกรัฐมนตรี สก อาน เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายกัมพูชา และให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทย ซึ่งนายกษิตเห็นชอบต่อข้อเสนอของกัมพูชาและเสนอว่าการประชุมควรจัดที่กรุงเทพมหานคร

นั่นเท่ากับว่า รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ กำลังจะกลืนน้ำลาย กลับมาสานต่อเอ็มโอยู 2544 อีกครั้ง แม้ว่าจะเคยมีมติ ครม.ให้ยกเลิกไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา จึงตั้งฉายารัฐบาลชุดนี้ว่าเป็นรัฐบาล “สวมตอ” จากพฤติกรรมที่เข้ามาเอาผลประโยชน์ตามเงื่อนไขที่ทำไว้สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

นั่นหมายถึงว่า ทรัพยากรทางทะเลในอ่าวไทยมูลค่า 5 ล้านล้านบาท ที่ควรจะตกเป็นของคนทั้งชาติ จะถูกแบ่งไปให้นักการเมืองในรัฐบาลและพวกพ้อง

การนัดชุมนุมใหญ่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 25 ม.ค.นี้ จึงไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ปกป้องดินแดน แต่ยังหมายถึงการปกป้องผลประโยชน์ทางทะเลมูลค่ามหาศาลอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น