ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “อภิสิทธิ์” สั่ง “กษิต” นำเรื่องยกเลิกบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู)ระหว่างไทย-กัมพูชาว่าด้วยการอ้างสิทธิในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลให้ครม.พิจารณายกเลิกแล้ว ดับฝันคู่หู “ทักษิณ-ฮุนเซน” ที่วาดหวังตักตวงขุมทรัพย์ก๊าซฯ-น้ำมัน มูลค่าประมาณ 5 ล้านล้านบาท บริษัทยักษ์น้ำมันระดับโลกที่เข้าจับจองสัมปทาน เชฟรอน – ยูโนแคล – โททาล ออยล์ – มิตซุย รวมถึงกลุ่ม ปตท. รอเก้อ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำเรื่องการยกเลิกเอ็มโอยูไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 10 พ.ย. นี้ เพื่อตอบโตกรณีนายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา แต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาส่วนตัวและเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา
นอกเหนือจากเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังจะพิจารณาทบทวนข้อตกลงต่างๆ ระหว่างไทย – กัมพูชา ที่ทำขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณ อีกด้วย
ก่อนหน้านี้ นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศญี่ปุ่นในขณะปฏิบัติภารกิจร่วมประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ณ กรุงโตเกียว ระว่างวันที่ 5-7 พ.ย.ว่า จากกรณีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศท่าทีทบทวนพันธกรณีต่างๆที่ทำกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศ ได้ทบทวนไปหนึ่งเรื่องแล้วคือ เรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.44 ซึ่งทำในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศ ได้พิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยู ฉบับดังกล่าวกับฝ่ายกัมพูชา ด้วยเหตุผลดังนี้
1. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว และพ.ต.ท.ทักษิณรับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้
2. กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าเรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กว่า 2.6 หมื่นตร.กม. และมีศักยภาพอย่างยิ่งทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูง คือก๊าซธรรมชาติ การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวาง ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
3.การเจรจากรอบ เอ็มโอยู 2544 นี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรให้ทั้งสองประเทศใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นธรรมต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นครั้งแรก โดยได้มีข้อบันทึกความเข้าใจร่วมกัน(เอ็มโอยู) ว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.44 ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศของไทยในขณะนั้น กับนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย–กัมพูชา และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่การเจรจาออกเป็นสองส่วน
ส่วนแรก พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ส่วนที่สอง พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area - JDA) รัฐบาลทักษิณ มุ่งมั่นจะเจรจาปักปันเขตแดนในทะเล และตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากการให้สัมปทานขุดเจาะแก๊สและน้ำมันให้เร็วที่สุด แต่การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.49 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กลับสะดุดลง เนื่องจากการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว เพราะข้อเสนอสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้
กล่าวคือ พื้นที่ส่วนที่อยู่ตรงกลาง ทั้งสองตกลงกันได้ในเบื้องต้น โดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการขุดเจาะแก๊สและน้ำมัน ในสัดส่วน 50-50 แต่พื้นที่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ในสัดส่วน 90-10 แต่ฝ่ายไทยเห็นควรแบ่งในสัดส่วน 60-40 และการเจรจาสะดุดหยุดลง เมื่อรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหารเมื่อเดือนก.ย. 49 จนถึงบัดนี้การเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
พื้นที่เขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีประมาณ 27,960 ตารางกิโลเมตร มีมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ก๊าซฯ และน้ำมัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ประมาณการว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท
ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทย ต่างให้สัมปทานแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลกหลายราย เช่น เชฟรอน, โททาล, ยูโนแคล, บริติช แก๊ส, มิตซุย, กลุ่มปตท. เป็นต้น แต่การสำรวจขุดเจาะยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่ารัฐบาลทั้งสองชาติจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันเสียก่อน
การยกเลิกเอ็มโอยูเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ของรัฐบาลไทย ย่อมส่งผลต่อการให้สัมปทานน้ำมันและก๊าซฯ ดังกล่าว แต่ผลกระทบที่สำคัญคือ ทำให้ผลประโยชน์มหาศาลที่ ฮุนเซน-ทักษิณ วาดหวังไว้จบสิ้นลงไปด้วย
การเจรจาผลประโยชน์เขตทับซ้อนฯ ยังเชื่อมโยงไปถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างทักษิณและฮุนเซน กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ วางแผนเข้าพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณด้านใต้ห่างจากหน้าผาที่ตั้งปราสาทพระวิหารประมาณ 300 เมตร ขนาดพื้นที่ 20,000 เฮกตาร์ ในรูปแบบเอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็ก
นอกจากนั้นรัฐบาลฮุนเซนยังให้สัมปทานเช่าเกาะกงในระยะยาวเป็นเวลา 99 ปี แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท ลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งท่าเรือน้ำลึก กาสิโน สนามบินฯลฯ โดยมีรูปแบบการบริหารแบบเขตพิเศษคล้ายกับฮ่องกง
(อ่านข่าวประกอบ ….. นอมินี “ทักษิณ” ร่วมชิงขุมทรัพย์เขตทับซ้อน )