เจ้ากระทรวงบัวแก้ว เล็งชง ครม.ยกเลิกเอ็มโอยูไทย-เขมร ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล แหล่งก๊าซ-น้ำมัน 26,000 ตารางกิโลเมตร สมัยแม้วเป็นนายกฯ หวั่นหากมีการเจรจาจะกระทบด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ เชื่อ “ทักษิณ” เป็นไส้ศึก ให้มีผลยกเลิกเอ็มโอยูหลังเข้า ครม.ภายใน 3 เดือน
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายกษิต ภิรมย์ ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (6 พ.ย.) ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โฟนอินจากประเทศญี่ปุ่น ขณะที่เข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ณ กรุงโตเกียว ระว่างวันที่ 5-7 พ.ย. โดยกล่าวถึงว่า สืบเนืองจากการที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีการแถลงเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายนว่า ประเทศไทยจะมีการทบทวนความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ทบทวนเรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิทับซ้อน “เอ็มโอยู” ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่ทำในสมัยรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สังคมได้รับทราบแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของกัมพูชา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีข้อยุติการเจรจาเอ็มโอยูแล้วจะเสนอเข้าสู่วาระการประชุมคระรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 10 พฤศจิกายน เพื่อให้พิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยูต่อไป
นายกษิตกล่าวว่า การขอยุติบันทึกความเข้าใจเอ็มโอยู ด้วยเหตุ 1.กระทรวงการต่างประเทศ เห็นว่าการที่รัฐบาลของประเทศกัมพูชา แต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาระหว่างไทย-กัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าว เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ในการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจ และ พ.ต.ท.ทักษิณ รับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจที่จะเจรจากับทางกัมพูชาต่อไปได้
2.กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่า เรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกันมีผลประโยชน์ต่อประเทศชาติ โดยเฉพาะพื้นที่กว่า 26,000 ตารางกิโลเมตร และมีศักยภาพอย่างยิ่งที่เป็นทรัพยากรทางธรรมชาติสูง คือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศชาติอย่างกว้างขวาง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตย ตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 3.การเจรจาภายใต้กรอบเอ็มโอยู ฉบับ 2544 ในเวลา8 ปีที่ผ่านมาไม่มีผลคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู กระทรวงการต่างประเทศเห็นสมควรให้ทั้งสองประเทศใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นธรรมต่อไป
ผู้สื่อขาวรายงานว่า ภายหลังจากแถลงข่าวของนายกษิต ทางกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อมูลจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมายว่า บันทึกความเข้าใจเอ็มโอยู มีการเปลี่ยนแปลงของเนื้อหาสนธิสัญญาตามสภาพการณ์อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถจะบอกยกเลิกสัญญาได้ ซึ่งจะเสนอเข้าสู่การประชุม ครม.หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เนื่องจากเอ็มโอยูฉบับนี้เกิดขึ้นในรัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ และขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการเอ็มโอยู ทั้งนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ที่รู้ขั้นตอนการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้น ถ้าหากมีการเจรจาเกิดขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคง จึงเสนอเข้าสู่การประชุมครม.ให้มีมติให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว และจะมีผลทันทีภายใน 3 เดือน ทางกระทรวงการต่างประเทศจะหาวิธีในการเจรจาเพื่อหาข้อยุติต่อไป
อย่างไรก็ตาม เอ็มโอยูฉบับนี้เป็นความตกลงที่จะตกลงจะเจรจา ซึ่งเปลี่ยนการสัญญาว่าจะคุยกันในเรื่องการแบ่งเขตทางทะเลและความร่วมมือระหว่างไทย-กัมพูชา ในพื้นที่ทับซ้อน จำนวน 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศยังคงให้สถานทูตไทยในกัมพูชามีอุปทูตรักษาการอย่างปกติ