xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เร่ง “มาร์ค” ทบทวนข้อตกลงเขมร-ถอนวาระ “เจบีซี” จากที่ประชุมร่วม 2 สภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน
“ส.ว.คำนูณ” เร่งรัฐบาลทบทวนพันธกรณีกับกัมพูชา หลังเรียกทูตกลับ โดยเฉพาะข้อตกลงปักปันเขตแดนทั้งทางบกทางทะเลที่ประเทศไทยอาจเสียเปรียบ แนะถอนวาระการพิจารณาข้อตกลงเจบีซีออกจากการประชุมรัฐสภา 9-10 พ.ย.นี้ ระบุหมดความจำเป็นหลังลดระดับความสัมพันธ์ ขณะคนไทยจำนวนมากต่อต้าน เหตุมีการรับรองแผนที่ 1 ต่อ 2 แสนที่ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหาร


นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีประเทศไทยลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศกัมพูชาว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของกระทรวงการต่างประเทศ แต่มีข้อเสนอแนะในระยะเฉพาะหน้านี้ว่าหลังจากดำเนินการเรียกเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญกลับตามข้อ 5.1 แล้ว รัฐบาลจะต้องดำเนินมาตรการต่อเนื่องตามแถลงการณ์ข้อ 5.2 ว่าด้วยการทบทวนพันธกรณีต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งมีประชาชนไทยจำนวนมากไม่พอใจในบันทึกความเข้าใจและข้อตกลงต่าง ๆ ที่ประเทศไทยทำกับกัมพูชาในช่วงระหว่างปี 2543 จนถึงปัจจุบัน เพราะเกรงว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบในด้านการปักปันเขตแดนทั้งทางบกและทางทะเล โดยเฉพาะในทะเลอ่าวไทยที่ประจักษ์ชัดว่าอุดมไปด้วยแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล และเป็นประเด็นที่กัมพูชาเร่งรัดมาโดยตลอด

“สิ่งแรกที่รัฐบาลไทยทำได้ทันทีคือถอนบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมทางบกไทย-กัมพูชา (JBC) ออกจากวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จะพิจารณาในวันที่ 9 หรือ 10 พ.ย.นี้ เพราะหลังลดระดับความสัมพันธ์แล้วเรื่องนี้ก็ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนอีกต่อไป อีกทั้งโดยตัวของเรื่องเองก็มีปัญหาที่คนไทยจำนวนมากไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ทั้งในประเด็นถอนทหารทั้ง 2 ฝ่ายออกจากบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวาราที่เป็นดินแดนของไทย แต่ไม่มีการถอนชุมชนและวัดกัมพูชาออก และประเด็นที่ว่าร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชาที่แนบอยู่ท้ายบันทึกการประชุมมีลักษณะเป็นการตอกย้ำรับรองแผนที่ 1 : 200,000 ระวาง ANNEX 1 ที่ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารในศาลโลกมาแล้วเมื่อปี 2505”

นายคำนูณกล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ถอยออกมา 1 ก้าวแล้วในกรณีนี้ ว่าหากรัฐสภาจะยังไม่ลงมติโดยขอตั้งคณะกรรมาธิการร่วมขึ้นมาพิจารณาก่อน ก็ยินดี และได้ทราบมาว่าในพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีการวางตัว ส.ส.มาเป็นกรรมาธิการแล้ว แต่บัดนี้สถานการณ์ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศเปลี่ยนไป และกว่าจะถึงวันที่ 9 พ.ย. สถานการณ์ก็อาจจะเปลี่ยนไปอีก รัฐบาลจึงสมควรถอยออกมาอีก 1-2 ก้าว

“หากปัญหาชายแดนยังคาราคาซังอยู่ แม้จะเป็นปัญหาของประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายกว่าเดิม ตรงกันข้ามกับกัมพูชาที่หากยังตกลงไม่ได้ในเร็ววัน จะต้องเดือดร้อนกว่าเรา เพราะไม่อาจเสนอแผนบริหารพื้นที่อาณาบริเวณรายรอบปราสาทพระวิหารให้ทันเส้นตายที่คณะกรรมการมรดกโลกขีดไว้เป็นวันที่ 1 ก.พ.2553 ได้ แล้วเราจะไปทำให้เขาสมประสงค์ทำไม”

นายคำนูณกล่าวว่า การถอนวาระดังกล่าวออกมา จะทำให้รัฐบาลมีเวลาทบทวนการดำเนินการต่างๆ เกี่ยวกับเขตแดนไทย-กัมพูชาทั้งระบบ ซึ่งในหลายกรณีเป็นการดำเนินการต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล โดยมีความคืบหน้ารวดเร็วผิดสังเกตในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถึงวันนี้เมื่อประเทศไทยเห็นความสัมพันธ์ระดับพิเศษระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้กับผู้นำกัมพูชาแล้ว จำเป็นจะต้องทบทวนอย่างจริงจังในทุกข้อตกลงที่ไทยไปมีกับกัมพูชาว่ามีลักษณะเอาผลประโยชน์ของชาติไปแลกกับผลประโยชน์ส่วนตัวส่วนกลุ่มหรือไม่

“ข้อตกลงที่ควรทบทวนก็มีตั้งแต่บันทึกความเข้าใจ (MOU) 2543, บันทึกความเข้าใจ 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544, แผนแม่บท 2546 เป็นอาทิ แต่จากการศึกษาของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายประธานวุฒิสภาล่าสุด ข้อตกลงที่อันตรายและสมควรทบทวนเพื่อยกเลิกโดยเร่งด่วนคือบันทึกความเข้าใจ 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544 ที่เสมือนรับรองเส้นเขตแดนทางทะเลที่กัมพูชาประกาศเมื่อปี 2515 โดยไม่ยึดหลักกฎหมายระหว่างประเทศ”

นายคำนูณกล่าวต่อไปว่า การถอนบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมทางบกไทย-กัมพูชาออกจากวาระการพิจารณาของรัฐสภา และการพิจารณาทบทวนเพื่อยกเลิกบันทึกความเข้าใจ 2544 และแถลงการณ์ร่วม 2544 หากนายกรัฐมนตรีดำเนินการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนอย่างกว้างขวาง จะได้รับฉันทมติอย่างแน่นอน อันจะทำให้นายกรัฐมนตรีมีฐานมวลชนสนับสนุนแข็งแกร่งขึ้นอย่างที่คาดไม่ถึงอันจะเป็นมิติใหม่ในการบริหารประเทศอย่างแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น