xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ”เผยปชป.ต้นตอรับแผนที่อัปยศ ทำรบ. อ่อนข้อเขมร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” ชี้หาง ก.ต่างประเทศโผล่ อ้างเขมรขู่ให้เซ็น MOU ปี 43 แต่ไทยไม่เสียเปรียบ พลิกลิ้นระบุแผนที่ 1:2แสน หากเขมรฟ้องศาลโลกไทยอาจเสียพื้นที่อีกเยอะ เผย ปชป.ตัวดีต้นตอการยอมรับแผนที่ 1:2 แสน วอน รบ. ยกเหตุไทยเสียเขาวิหาร เป็นบทเรียน อย่างดันแถลงการณ์ร่วม ผ่านสภาฯ จนเสียโง่รอบสอง ด้าน“ดร.สมปอง” เตือนไทยอย่าหลงกลตัวเอง แผนที่ที่เขมรแนบท้าย ไทยไม่ได้ร่วมปักเขตุด้วย จี้ ก.ต่างประเทศฟังเหตุผล ปชช.บ้าง



 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”

รายการ “คนในข่าว”ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 15 ตุลาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนายสมปอง สุจริตกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตเอกอัครราชทูตไทย มาร่วมพูดคุยถึง ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายของแผนที่ 1:200,000

นายคำนูญ กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลโลก ว่า กระทรวงการต่างประเทศเคยแปลเมื่อปี 2505 บอกว่า ศาลไม่ได้กล่าวถึงแผนที่ แต่ได้บอกเหตุผลที่ไทยต้องเสียเขาวิหารว่า ไทยไม่ใช้สิทธิคัดค้าน ทั้งที่มีโอกาสคัดค้าน ก็เลยใช้หลักกฎหมายปิดปาก ตามเหตุผล 1.ไทยขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่ ซึ่งฝรั่งเศสก็ได้ทำแผนที่มา 160 ชุด ชุดละ 11 แผนที่ แล้วส่งให้ไทย 50 ชุด โดยไทยไม่ได้มีปฏิกิริยาโต้ตอบ ด้วยเหตุนี้ทำให้ศาลเห็นว่า ไทยได้ยินยอมด้วยการนิ่งเฉย 2.สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงขอบพระทัยฝรั่งเศส ที่ได้จัดทำแผนที่ และขอเพิ่มอีกอย่างละ 15 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ 3.คณะกรรมการถอดอักษรในแผนที่ ตามอนุสัญญา1904 และ1907 ให้มีความหมายตรงกัน ไม่มีข้อความใดเลยว่าไทยไม่ยอมรับแผนที่นี้

ประกอบกับศาลโลกได้ใช้เหตุการณ์และถ้อยคำต่างๆมาเชื่อมโยงกัน เช่น 1.ระหว่างทำเจรจาทางสนธิสัญญา ค.ศ.1925-1937 ไทยมีโอกาสหลายครั้งที่จะยกแผนที่ภาพผนวกแผนที่ 1:200,000 หรือ ANEX1 พูดคุยกับฝรั่งเศส แต่ไม่ทำ 2.สยามทำแผนที่ขึ้นเองในปี 1937 โดยแสดงให้เห็นว่าเขาวิหารอยู่ในเขตุกัมพูชา 3.ในปี ค.ศ.1941 กรมโฆษณาการได้จัดทำเอกสารไทยสมัยสร้างชาติ บอกว่า พระวิหาร กลับคืนมาเป็นของสายามอีกครั้ง และ 4.ในปี ค.ศ. 1944 ไทยได้เข้าร่วมประชุมในกรุงวอชิงตัน มีการยื่นคำร้องเรื่องเขตุแดนในหลายพื้นที่ แต่ไม่มีเรื่องเขาวิหาร

นายคำนูณ กล่าวว่าคนไทยควรรับรู้ว่า สนธิสัญญา 1904 และสนธิสัญญา 1907 คือ การเสียดินแดน ที่ฝรั่งเศส เขียนแผนที่รุกเขตุแดนไทย และที่ไทยไม่โต้แย้งเพราะ เขาวิหารเพิ่งมีการค้นพบก่อนหน้านั้นเพียงไม่กี่ปี ทำให้ความสำคัญในขณะนั้นไม่มี และแผนที่ 1:200,000 เมื่อดูในแผนที่ที่เขมรใช้อ้างสิทธิ ตัวเขาวิหาร มีพื้นที่แค่ 2.5 มิลิเมตร และในแผนที่ก็ไม่ได้ชี้ว่าตรงไหนคือเขาวิหาร ที่สำคัญอยู่ตรงรอยพับอีกต่างหาก ดังนั้นอย่าไปโทษข้าราชการในอดีตข้าราชการไทยในช่วง 100 ปีก่อน อย่างไรก็ตามเราได้บทเรียนอันเจ็บปวดแสนสาหัสจากตรงนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง ฉะนั้น ถ้ามีเหตุให้ต้องทำสัญญาครั้งต่อไป ก็ไม่ควรไปแสดงอาการรองรับแผนที่ ANEX1 นี้โดยเด็ดขาด

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า คำพูดของ ก.ต่างประเทศ ที่ชี้แจงเรื่องคำพิพากษาศาลโลก ยิ่งฟังยิ่งจับผิดได้เยอะ พูดขัดกันชัดเจน เช่น เคยพูดว่า ที่เซ็นลงนาม เอ็มโอยู พ.ศ.2543 เพราะกลัวที่กัมพูชาขู่จะนำเรื่องขึ้นศาลโลก ตนก็เลยถามว่าแล้วทำไม่ต้องกลัว ตรงนี้ ก.ต่างประเทศให้เหตุผลว่า ทำไงได้ก็กลัวไปแล้วและเซ็นไปแล้วด้วย แต่ไม่เป็นไรแผนที่เล็กกว่าสนธิสัญญา ไทยไม่เสียเปรียบ ต่อมาก็อ้างว่าแผนที่ 1:200,000 หากเขมรนำไปขึ้นศาลโลกอีกเมื่อไรเราอาจเสียมากกว่านี้

ส่วนกรณีที่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ออกมาค้านว่า เมื่อ 28 ต.ค.2551 รัฐสภาไปรับกรอบการเจรจาตกลงกับกัมพูชา ซึ่งในนั้นมีการยอมรับแผนที่ 1:200,000 หรือ ANEX1 ไว้ด้วย โดยเป็นเอกสารประกอบ TORปี 2546 สมัยรัฐบาลทักษิณ เขียนไว้ชัดเจนว่าเป็นแผนที่ที่เกิดขึ้นจากสนธิสัญญาปี 1904 และ1907 ตรงนี้หากพูดตามหลักจะให้พ.ต.ท.ทักษิณ ผิด ประชาธิปัตย์ ก็ผิดด้วย เพราะ TORปี 2546 มาจาก เอ็มโอยู ปี2543 ช่วงปลายสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ซึ่งได้ไปทำสัญญากับกัมพูชาไว้ ฉะนั้นต้นตอจริงๆ คือ เอ็มโอยู ปี2543 ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงครั้งแรก ตรงนี้ทำให้ตนเอะใจว่า เหตุที่ พรรคประชาธิปัตย์พูดอย่างไม่เต็มปากเต็มคำ และไม่คัดค้าน ในการประชุมเรื่องแผนที่ 1:200,000 เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2551 ที่ผ่านมา คงจะเป็นเพราะเรื่องนี้ด้วย

นายคำนูณ กล่าวสรุป เอ็มโอยู ปี 2543 หรือบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย –กัมพูชา ว่าด้วยการจัดทำเขตุแดนทางบก คือที่มาของการยอมรับแผนที่ 1:200,000 เป็นที่มาของ TORปี 2546 และเป็นที่มาของกรอบที่เสนอขออนุมัติต่อสภา เมื่อ 28 ต.ค.2551 และจะเป็นที่มาของเรื่องที่เสนอให้สภารับรองบันทึกการประชุม เร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม ประเด็นก็คือ เราเจ็บปวด จากคำพิพากษาเมื่อปี 2505 ที่ต้องเสียค่าโง่สูญเสียปราสาทเขาวิหารมาแล้วยังไม่พออีกหรือ นอกจากไม่คัดค้านแล้วยังเขียนไปเขียนยอมรับอีกต่างหาก ตรงนี้ตนก็ได้ถาม ก.ต่างประเทศว่า ก่อนลงนามเอ็มโอยู ปี 2543 ไม่ได้คิดเลยหรือว่าไทยจะเสียเปรียบ ซึ่ง ก.ต่างประเทศก็ให้เหตุผลว่า ตอนทำ เอ็มโอยู ปี 2543 เพราะต้องการให้เขตุแดนชัดเจน ซึ่งก็คิดอยู่นานว่าจะเขียนแผนที่สนธิสัญญาปี 1904 และ1907 ไว้ในเอ็มโอยู นี้หรือไม่ ในที่สุดก็ยอมเขียน เพราะกัมพูชาไม่ยอม และคิดว่าไทยไม่เสียเปรียบ พร้อมกับอ้างเหตุผลว่า เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ ประกอบกับแผนที่นั้นมีความสำคัญเล็กกว่าสนธิสัญญา หากเขมรจะใช้อ้างต้องพิจารณาร่วมกันทั้ง แผนที่ สนธิสัญญา เหตุการณ์อื่นๆ ประกอบ อีกอย่างที่เขียนไปนั้น ก็ไม่ได้แปลว่าเขียนแล้วจะต้องทำตามแผนที่

นายคำนูณ กล่าวว่าเอ็มโอยู ปี 2543 ในระยะหลังผิดเพี้ยนจากของเดิมมาก จากที่เคยกำหนดให้มีการสำรวจปักปันเขตุแดน ที่ปักหลักไว้แล้ว 73 หลักก่อน ในที่สุดกลายเป็นว่า จะมาสำรวจที่เขาวิหารก่อน ตรงนี้ ก.ต่างประเทศ ก็อ้างว่า เข้าสำรวจเขาวิหารก่อน น่าจะเป็นประโยชน์ต่อฝ่ายไทย เพราะจะได้เป็นการเตรียมการ หากจะต้องขึ้นศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้ ก.ต่างประเทศ พูดแบบทำให้คิดว่ากัมพูชาจะต้องนำเรื่องเขตุแดนรอบเขาวิหารขึ้นสู่ศาลโลกอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ก.ต่างประเทศไม่ได้บอกเลยว่า เราไม่ยอมรับศาลโลกแล้ว และไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ทวิภาคี จะแปลงเป็นพหุภาคี

ทั้งนี้เคยมีมติครม.ปี 2505 ระบุว่าไทยไม่ยอมรัฐแผนที่ ANEX1 ต่อมา ปี 2543 ก่อนที่จะมีการลงนามใน เอ็มโอยู ได้มีการหารือกันระหว่างสภาความมั่นคง ในที่สุดได้นำเรื่องเข้าสู่ครม. จนมีมติกลับหลักมติครม.ปี 2543 ตรงนี้เป็นการยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า ก.ต่างประเทศ รู้มาโดยตลอดว่าจะมีการเขียน เอ็มโอยู ปี 2543 ให้มีการยอมรับแผนที่1:200,000 แต่คงจะเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ว่า ถึงเขียนไว้ก็ไม่เป็นไร คงไม่เสียเปรียบ อย่างไรก็ตามตนคิดว่า เสียค่าโง่ครั้งเดียวก็เกินพอ ไม่ควรให้มีประวัติซ้ำรอย หากจะเขียนก็ควรจะเขียนว่ายอมรับแผนที่หมดยกเว้น ANEX1

นายคำนูณ กล่าวทิ้งท้ายว่าเรื่องที่รัฐสภา กลุ่ม 40 ส.ว.จะซื้อเวลาให้นานที่สุด หากลงมติคัดค้านได้ก็จะคัดค้าน ทั้งนี้เท่าที่หารือกันก็จะซื้อเวลา ด้วยการตั้งกรรมาธิการร่วม อย่างไรก็ตามตนอยากให้รัฐบาลตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาพูดคุยเรื่องเขาวิหาร และต้องยกเครื่อง ก.ต่างประเทศ ด้วยการตั้งที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กระทรวงต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาน่าจะมีปัญหาบางประการ บางครั้งมองคนอื่นว่าไม่รู้เท่าเทียมตน แต่เมื่อคนอื่นเริ่มรู้มากขึ้นท่านจะต้องเปิดใจกว้างยอมรับ

ดร.สมปอง กล่าวว่า จะคิดว่าไทยเสียปราสาทเขาวิหารให้เขมร เพราะแผนที่ 1:200,000 ก็คงไม่ผิด เพราะขณะนั้นไทยยังไม่มีกรมแผนที่ทหารบก จึงจำเป็นต้องอาศัยแผนที่ ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นเพียงฝ่ายเดียว ทั้งนี้แผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้นไม่ได้มีเฉพาะแผนที่ 1:200,000 แต่ยังแผนที่ต่างๆ อีก 10 ฉบับ ซึ่งไม่มีโอกาสทบทวนว่าแผนที่ฉบับใดผิดตรงไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม ศาลไม่ได้ชี้ขาดว่าใช้แผนที่ 1:200,000 ผิดหรือไม่ผิด เพราะเกินเลยต่อคำขอของกัมพูชา สาเหตุใหญ่ที่ทำให้เขมรได้เขาวิหาร เป็นเพราะศาลโลกเห็นว่าไทยไม่ได้คัดค้าน จึงใช้หลักกฎหมายปิดปาก ด้วยเหตุผลที่ว่า รู้หรือควรจะรู้ แต่ไม่ได้คัดค้าน

“ขณะนี้เราได้ให้ผู้เชียวชาญจากต่างประเทศสำรวจแนวเขตุแดนแล้ว ซึ่งหลังเข้าสำรวจได้จัดทำแผนที่ประกอบให้ศาลโลกเห็นว่า แนวสันปันน้ำไม่ได้อยู่ในเส้นเขตุแดน แปลว่าแผนที่ 1:200,000 ผิด และบางแห่งผิดต่อความจริงถึง 2 กิโลเมตร”ดร.สมปอง กล่าว

ดร.สมปอง กล่าวถึงคำพิพากษาของศาลโลกเมื่อปี 2505 ไม่ได้พิจารณาถึงความถูกต้องของแผนที่ ครั้งหนึ่งเคยมีทนายของฝ่ายไทยมาหารือกันว่าเราสมควรจะฟ้องแย้งหรือไม่ แต่ในที่สุดก็มีความเห็นว่าไม่ฟ้อง เพราะเขมรได้ขอให้ศาลพิจารณาแค่ตัวปราสาท หากฟ้องแย้งจะเป็นการขยายความเพิ่มขึ้น และเมื่อศาลโลกพิพากษาให้เขมรได้ตัวปราสาทแล้ว แม้เราจะไม่ยินยอมในคำพิพากษา และคำพิพากษาไม่สามารถบีบบังคับไทยได้ก็ตาม แต่ในฐานะที่เราเป็นสมาชิกสหประชาชาติ มีพันธะที่ต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ จึงต้องปฏิบัติตาม แต่การปฏิบัติตามนั้นไม่มีกฎเกณฑ์ เราจึงไปขีดเส้นเขตุแดนและทำรั้วที่ล้อมไว้ โดยเขียนว่าเป็นเขตุปราสาทเขาวิหาร ไม่ได้บอกว่าเป็นเขตุของกัมพูชา ตรงนี้แสดงให้เห็นว่าเรายังไม่ได้สละอธิปไตย ยังสงวนสิทธิ และประท้วงอยู่

ดร.สมปอง กล่าวต่อว่าคำสงวนสิทธ์ไม่ได้จำกัดอายุความ ตราบใดที่ไม่ได้ขอให้ศาลทบทวน ซึ่งจะมีอายุความ 10 ปี และเราก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะไปขึ้นศาลอีก เพราะไม่มั่นใจว่าศาลจะให้ความยุติธรรมได้หรือไม่ เราประท้วงศาลที่วินิจฉัย ขัดต่อสนธิสัญญา ขัดต่อกระบวนการยุติธรรม ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และขัดต้อคำพิพากษาที่เคยมีมาแล้ว ตรงนี้ถือเป็นครั้งแรกของโลก ที่ศาลหนึ่งศาลใดให้ถือว่า แผนที่ มีผลในการโอนอธิปไตย

“หลายคนยังเข้าใจผิด แผนที่ ที่กัมพูชาส่งแนบท้ายมา โดยเขียนว่าจัดทำขึ้นตามผลงานของคณะกรรมการปักปันเขตุแดนระหว่างสยามกับอินโดจีนที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญา ปี ค.ศ.1904 แผนที่นี้ถูกพิมพ์ขึ้นเมื่อปี 1908 หลังเซ็นสนธิสัญญาไปแล้ว ดังนั้นแผนที่ฉบับนี้ไม่มีคณะปักปันไทยร่วมทำ ฝรั่งเศสทำขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียว และหลังจากนั้นคณะกรรมการพิจารณาร่วมก็ไม่เคยเอาแผนที่ดังกล่าวขึ้นมาพิจารณารับรอง ตรงนี้เราอย่าไปหลงกลตัวเอง ว่า เป็นแผนที่ที่ทำขึ้นร่วมกัน” ดร.สมปอง กล่าว

ดร.สมปอง กล่าวทิ้งท้ายว่ากระทรวงการต่างประเทศ ต้องฟังเสียงของประชาชน ที่เขามีความรู้ความเข้าใจเรื่องเขาวิหารบ้าง เพราะประชาชนย่อมหวังดีต่อประเทศชาติ จะถือความเห็นของราชการเก่าแก่แต่ดั้งแต่เดิมเป็นหลัก ข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนได้ อย่าหนีความจริง
ดร.สมปอง สุจริตกุล
นายคำนูณ สิทธิสมาน
นายเติมศักดิ์ จารุปราณ
กำลังโหลดความคิดเห็น