“คำนูณ”ยันรธน.50 เจ๋งสุด ชี้แก้ไข 6 ประเด็นยิ่งเพิ่มความแตกแยก จี้นายกฯ เป็นผู้นำยึดหลักความถูกต้องต้านแก้ไข รธน. อย่ารอให้ ปชช.ออกหน้า ขำรัฐบาลคิดตบตาออก กม.ลูกมาตรา 190 หมกเม็ดกู้เงินไม่ต้องผ่านสภาฯ ขณะที่“ยะใส” ชี้มีคนพยายามทำให้สังคมแตกแยก ถึงไม่มี รธน.50 ก็แตกแยกอยู่ดี ยันค้านสุดตัวรับไม่ได้นักการเมืองโยนบาปให้ รธน.
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง รายการ “คนในข่าว”
รายการ “คนในข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น. วันที่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมีนายเติมศักดิ์ จารุปราณ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งได้รับเกียรติจากนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและเลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ มาร่วมพูดคุยถึง แนวโน้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และผลกระทบหลังศาลพิพากษาคดีหวยบนดิน
แนะนายกฯ กล้าเป็นผู้นำต้านแก้ไข รธน. อย่ารอให้ ปชช.ออกหน้า
นายคำนูณ กล่าวถึงท่าทีของกลุ่ม 40 ส.ว. ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จากการประชุมมีมติ 1.ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข เพราะไม่ได้นำไปสู้การสมานฉันท์ และรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพิ่งจะเริ่มใช้ 2.เป็นการแก้เพื่อนักการเมืองทั้งสิ้น ดังนั้นนักการเมืองไม่ควรลงมือแก้ไขเอง 3. มาตรา 190 ไม่จำเป็นต้องแก้ ที่เป็นปัญหาเพราะนักการเมืองไม่ได้ใช้วิจารณญาณ ว่าเรื่องใดควรส่งหรือไม่ควรส่งให้ครม.รับรอง 4.ถือว่ารัฐธรรมนูญนี้ เป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่ประชาชนกลุ่มหนึ่งเสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เข้าแลก 5.กลุ่ม 40 ส.ว. จะไม่ร่วมลงชื่อในญัตติและจะไม่โหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ6.นายกฯ ต้องแสดงความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ ว่าเห็นควรแก้ไขหรือไม่ อย่างโยนให้สภาฯ
ทั้งนี้หากรัฐบาลจะแก้รัฐธรรมนูญจริงๆ ตนอยากขอเวลาASTV จัดรายการ โดยจะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการร่างรัฐธรรมนูญ 50 มาอธิบายให้ฟังชัดๆ ว่า ในแต่ละมาตรามันมีเหตุผลของมัน ไม่ใช่นึกอย่างจะเขียนอะไรก็เขียน เช่น รธน.50 เข้มงวดกับการดำรงตำแหน่งของ ส.ส. เพราะไม่ต้องการให้ ส.ส. ทำงานสองหน้าที่ หรือในมาตรา 266 ก็เพื่อไม่ต้องการให้ ส.ส.-ส.ว. ก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ ดังนั้น ใครเสนอแก้ไขก็มีโอกาสทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 122
ส่วนมาตรา 190 ที่บัญญัติให้ร่างข้อตกลงที่เข้าข่ายต้องผ่านสภา เป็นผลดีต่อประชาชน และในประเด็นนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะเคยเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเข้าไปแล้ว แต่โดนถอนออกมาจากสภา เพราะร่างนั้นไปเขียนไว้อยู่มาตราหนึ่ง ว่า ในเรื่องการกู้เงินไม่เกี่ยวกับ ม. 190 พูดง่ายๆ คือ ถ้าจะกู้เงินไม่ต้องผ่านสภาฯ ตอนนี้รัฐบาลเองก็มีปัญหาแล้วยังจะทำให้เรื่องมันเป็นปัญหาหนักขึ้นไปอีก ดังนั้นการแก้ไขใน 6 ประเด็น นอกจากจะไม่สร้างความสมานฉันท์แล้ว ยังจะเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งขึ้นมาอีก
นายคำนูณ กล่าวว่าอยากให้นายกฯ เป็นตัวของตัวเองยึดแนวคิดเหมือนเรื่องการแต่งตั้ง ผบ.ตร. มาปฏิบัติตามโยบายทุกเรื่องของรัฐบาล เห็นควรทำก็ทำไปเลย ถ้าหากเห็นว่าไม่ควรทำก็ไม่ต้องทำ แม้สังคมจะพูดหรือไม่ก็ตาม แต่สังคมเห็นใจ เข้าใจ และพร้อมจะให้กำลังใจ อย่างในเรื่องการทำประชามติ รัฐบาลก็ทำไปเลย ตนเชื่อว่า ไม่ว่า ส.ว. จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าผลการลงประชามติเป็นไปอย่างโปร่งใส ผลออกมาอย่างไร ทุกฝ่ายจะยอมรับ
“จะแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เรื่องง่าย ในยุคพรรคพลังประชาชนมีเสียงมีเสียงท่วมท้นในสภา ยังแก้ไม่ได้ แล้วไฉนจะมาแก้รัฐธรรมนูญ 50 ที่ผ่านการรดน้ำ พรวนดิน จากประชาชนกลุ่มหนึ่งที่ยอมเสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เข้าปกป้อง เพราะเขาเชื่อว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดี ป้องกันนักการเมืองโกงชาติ ขายเสียง” นายคำนูณ กล่าว
นายคำนูณ กล่าวอีกว่าตอนนี้นายกฯ ไม่มีอะไรที่น่าจะสูญเสียอีกแล้ว การขึ้นมาเป็นรัฐบาล มันยากก็จริง แต่การลงไปแล้วจะให้ประชาชนจดจำภาพที่ดีแล้วให้โอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอย่างสง่างามอีกครั้ง ไม่ใช่เรื่องง่าย ตนอยากเห็นนายกฯ เป็นผู้นำเต็มตัวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่ารอให้ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวแล้วนำมาเป็นข้ออ้างว่าเห็นไหมประชาชนไม่เอา
ขณะที่ นายสุริยะใส กล่าวว่าปัญหาความแตกแยกในขณะนี้ ไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ ต่อให้ไม่มีรัฐธรรมนูญ 50 เงื่อนไขทางการเมือง ที่ต้องการให้เผชิญหน้าก็ยังจะเกิดขึ้นอยู่ดี ดังนั้นโอกาสที่จะแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จจึงเป็นไปได้ยาก ส่วนพวกที่ชอบพูดว่าพันธมิตรฯ คัดค้านหัวชนฝา ตรงนี้การคัดค้านของเราเป็นไปด้วยเหตุและผล เราคัดค้านเพราะ ไม่ต้องการให้นักการเมืองแก้ไขเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง เอะอะก็จะโยนความผิดให้รัฐธรรมนูญ อีกอย่างการแก้ไขก็ไม่ได้ทำเพื่อประชาชน และไม่ใช่เวลาที่จะมาแก้รัฐธรรมนูญ ทางที่ดี ส.ส.-ส.ว. ควรเร่งผลักดันให้มี พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญออกมาใช้บังคับ เพราะกฎหมายสำคัญ ๆ บางฉบับ เช่นองค์กรอิสระ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค ร่าง พ.ร.บ.พวกนี้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่รัฐบาลกลับไม่เห็นความสำคัญ
นายสุริยะใส กล่าวอีกว่ามีบางกลุ่มใช้รัฐธรรมนูญเป็นเกมการเมือง หากมีการลงประชามติไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กระบวนการลงประชามติก็จะถูกบิดเบือน เหมือนในช่วงที่มี สสร.2 ไปจัดเวทีที่ไหนก็มีกลุ่มเสื้อแดงมาป่วน แล้วประณามว่าเป็นลิ่วล้อของ คมช. ทั้งที่ข้อเท็จจริง คมช. ก็แทรกแซงไม่ได้ โดยเอาเหตุนี้มาอ้างไม่รับรัฐธรรมนูญแล้วพาลไม่ชอบรัฐบาลไปด้วย ซึ่งหมดเวลาแล้วที่นักการเมืองพวกนี้ จะลากดึงรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดไปย่ำยี
“เรากำลังจัดงานรำลึกการต่อสู้ของวีรชน 7 ต.ค. โดยตั้งใจจะเชิญนายกฯ และคณะรัฐมนตรี มาร่วมงานด้วย เพราะไม่ต้องการให้งาน 7 ต.ค. เป็นงานของพันธมิตรฯอย่างเดียว แต่ต้องการให้เป็นบทเรียนของคนไทยทุกภาคส่วน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค. สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวทางการเมือง ฉะนั้นถ้านายกฯมางาน หากท่านแสดงจุดยืนที่หนักแน่น โดยให้คำตอบสามวิปฯว่าจะไม่แก้รัฐธรรมนูญ ท่านจะเดินเข้างาน 7 ต.ค. อย่างสง่างาม” นายสุริยะใส กล่าว
เตือน รบ.คิดออกหวยบนดิน ต้องแก้ พ.ร.บ.สลากฯก่อน
นายคำนูณ กล่าวว่าตนติดตามเรื่องหวยบนดินมาตลอด เห็นด้วยเกินร้อยกับคำพิพากษาที่ออกมา เป็นการอธิบายให้เห็นข้อเท็จจริงได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน แล้วสรุปว่าการออกหวยบนดิน 1. ผิด พ.ร.บ.สลากกินแบ่ง พ.ศ. 2517 ที่ไม่ได้เอากำไรจากการขายสลากเข้าคลัง แต่เอาเงินไปใช้สอยโดยไม่สุจริต 2.มติครม.ออกหวย ผิดทั้ง ครม. และกองสลาก เพราะเป็นหวยใต้ดิน
ดังนั้นรัฐบาลชุดนี้ ก่อนที่จะออกหวยบนดิน แม้จะแตกต่างจากสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ควรยึดตามคำพิพากษาเป็นหลัก คือ ต้องแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สลากกินแบ่ง พ.ศ. 2517 เสียก่อน เพื่อความปลอดภัย และเป็นบรรทัดฐาน งานนี้เป็นภารกิจที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถทำได้ เพราะศาลเคยวินิจฉัยว่า หากจะออกหวยบนดินในสมัยรัฐบาลทักษิณ ก็สมารถทำได้ แต่ต้องแก้กฎหมายเสียก่อน
นายคำนูณ กล่าวต่อว่าทำผิดที่สังคมจะคิด ว่า ความผิดมากมายแต่ติดคุกแค่สองปี แล้วรอลงอาญาอีกต่างหาก อย่างไรก็ตามเราต้องเคารพคำพิพากษา ที่ปฏิบัติการภายใต้พระปรมาภิไธย เพราะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีศาลเดียว หากจะพิพากษาประการใด ย่อมผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ทั้งนี้ตามหลักความผิดอาญา ผู้ที่จะเข้าข่ายอันถือเป็นความผิดอาญาได้ จะต้องมีเจตนา ในกรณีนี้หากพูดด้วยความเป็นธรรม คณะรัฐมนตรีหลายท่านคงไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย
นายสุริยะใส กล่าวเสริมว่าการวินิจฉัยของศาลในคดีหวยบนดิน ถือว่าดีแล้ว อย่างน้อยก็ได้วางหลักให้รัฐบาลชุดนี้ต้องนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งคัดในเรื่องการใช้อำนาจ และชี้ให้เห็นว่าศาลไม่ได้พิจารณาสองมาตรฐาน ดังนั้นเราไม่ควรผิดหวังที่หลายคนอาจเห็นว่าศาลลงโทษเบาไป แต่เราควรภาคภูมิใจ ที่ทำให้ศาลมีคำพิพากษา ที่จะเป็นบรรทัดฐานให้กับผู้มีอำนาจในอนาคต ว่าอย่าทำอะไรตาม