xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้ ปชช.สละเลือดเนื้อป้อง รธน.50 เบรก ส.ว.-ส.ส.สุมหัวแก้กันเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา
“คำนูณ” เตือนสติ ส.ส.-ส.ว.อย่าเพิ่งสุมหัวแก้ไข รธน.50 กันเอง ระบุ เป็น รธน.ผีคุ้ม หลังภาคประชาชนชุมนุมยาวนาน 193 วัน เพื่อปกป้อง เมื่อปี 51 จนเสียชีวิต 10 คน เจ็บสาหัสอีกหลายสิบคน และยังจะยืนหยัดพิทักษ์ รธน.ต่อไป แนะรัฐทำเรื่องสมานฉันท์และปฏิรูปการเมือง ตามข้อสรุป กก.สมานฉันท์ก่อน ส่วนการแก้ไข รธน.ต้องผ่านการรับฟัง ปชช.อย่างกว้างขวาง


คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายคำนูณ สิทธิสมาน อภิปรายในสภา

เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 17 ก.ย.นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ลุกขึ้นอภิปราย ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 179 วาระพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนายคำนูณ กล่าวว่าการประชุมครั้งนี้พูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันมาก ราวกับว่าเป็นวาระการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยลืมไปว่า เคยมีการต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้เมื่อปี 2551 จนสามารถหยุดยั้งกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เริ่มดำเนินการโดยสมาชิกรัฐสภาที่มีเสียงมากพอตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ได้

ล่าสุด แม้จะมี ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติแก้ไขอีกครั้ง ตามรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ พ่วงกับอีก 2-3 ประเด็น แต่สุดท้ายก็มีการถอนชื่ออีก จนญัตติไม่ได้เข้าสู่ระเบียบวาระ ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.ก็ยังคาอยู่ในระเบียบวาระใกล้จะครบ 1 ปี และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย

นายคำนูณ ย้ำว่า เราจึงไม่อาจมองข้าม หรือไม่พูดถึง การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะการชุมนุมยาวนานรวม 193 วัน ที่มีผู้เสียสละชีวิตรวม 10 คน ผู้สูญเสียอวัยวะสำคัญ 7 คน บาดเจ็บสาหัสอยู่ในอาการโคม่า 3 คน และมีผู้บาดเจ็บสาหัสตามนิยามที่ยอมรับนับถือกัน 34 คน ดังนั้น เท่ากับว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้ ได้รับการรดน้ำพรวนดินด้วยชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา ของภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว สำหรับพวกเขา ภารกิจพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้น ณ วันนี้ความศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจจะมิใช่เพียงเหตุผลตามปณิธานทางการเมืองเท่านั้น แต่จะผนวกเสริมด้วยภารกิจยืนหยัดพิทักษ์เจตนารมณ์ของผู้เสียสละชีวิตและสูญ เสียอวัยวะด้วย

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร เมื่อไร จึงไม่อาจรวบรัดตัดตอนกันในที่ประชุมแห่งนี้ หรือโดยคณะกรรมการชุดนี้ โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทางตรงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ยืนหยัดพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กลัว ไม่ใช่เกรง หรือให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่จุดประสงค์สูงสุดคืออะไร คือ ความสมานฉันท์ คือ สันติ หรือคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ถ้าคำตอบเป็นว่า คือ ความสมานฉันท์ คือ สันติ และเห็นๆ กันอยู่ว่าการริเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คือ การจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ให้คุโชนขึ้นมาอีก เราจะทำไปทำไม

นายคำนูณ กล่าวถึง รายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ตอบโจทย์ ได้ในระดับหนึ่ง รายงานในบทที่ 2 “การสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง” และบทที่ 3 “การปฏิรูปการเมือง” ไม่มีใครอภิปรายคัดค้านเลย น่าจะถือเป็นฉันทมติประการหนึ่ง ในขณะที่บทที่ 4 “รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน เพื่อให้การประชุมมีบทสรุป รัฐบาลจึงควรรับไปทำเฉพาะส่วนที่ได้ฉันทมติก่อน

นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้งหมด โดยเฉพาะ“บทนำ” ที่มีฉันทาคติกับรัฐธรรมนูญ 2540 อคติกับรัฐธรรมนูญ 2550 และพูดถึงความจริงไม่รอบด้าน โดยเฉพาะจงใจไม่พูดถึงการใช้ช่องว่างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ 2540 ผนึกอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้น ไม่เห็นด้วยกับ “บทสรุป” ที่นอกจากจะไม่มีตรรกะสนับสนุนเลยว่าหากแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแล้วจะเกิดความสมานฉันท์อย่างไรแล้ว ยังไม่มีตรรกะต่อเนื่องกับบทก่อนหน้านั้น

ร่างคำอภิปราย นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 17 กันยายน 2552

“ท่านประธานฯที่เคารพ.....
กระผม นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะสมาชิกรัฐสภา...

กว่า 30 ชั่วโมงที่ผ่านมา พวกเราพูดถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 กันมากเหลือเกิน ในหลากหลายรูปแบบ ประหนึ่งว่านี่คือการประชุมในวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ เป็นแต่เพียงการขอรับฟังความคิดเห็น

แต่ความจริงประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ยินการพูดถึงโดยตรง ก็คือ... การต่อสู้ของภาคประชาชนเพื่อพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้-ซึ่ง-ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม ความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธก็คือกระบวนการต่อสู้ของพวกเขามีผลอย่างสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังคงยืนยงคงทนไม่ถูกแก้ไขมาจนทุกวันนี้ ทั้งๆ ที่กระบวนการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการแก้ไขเริ่มนับ 1ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 โดยสมาชิกรัฐสภามีเสียงมากเกินพอที่จะแก้ไขได้

ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติแก้ไขครั้งแรก-ชนิดยกฉบับ-เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2551 แต่สุดท้ายก็มีการถอนชื่อ จนญัตติไม่ได้เข้าสู่ระเบียบวาระ

ล่าสุด ก็เช่นกัน ส.ส.และ ส.ว.เข้าชื่อกันเสนอญัตติแก้ไขอีกครั้ง ตามรายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ พ่วงกับอีก 2-3 ประเด็น แต่สุดท้ายก็มีการถอนชื่ออีก ญัตติไม่ได้เข้าสู่ระเบียบวาระอีก

แม้จะมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คปพร.-ที่แก้ยกฉบับ-คาอยู่ในระเบียบวาระ แต่ก็คามาใกล้จะครบ 1 ปีเต็มแล้ว และเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญไม่น้อย เพราะขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าชื่อกันเสนอร่างกฎหมาย

การเคลื่อนไหวเตรียมยื่นถอดถอนผู้ที่เสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ของภาคประชาชน ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย หรือประณาม แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีผลก่อให้เกิดการถอนชื่อในระดับสำคัญ

เราจึงไม่อาจมองข้าม หรือไม่พูดถึง การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย หรือกระทั่งประณามหยามเหยียด ซึ่งก็ได้ยินอยู่บ่อยในที่ประชุมแห่งนี้ โดยที่พวกเขาไม่มีโอกาสเข้ามาใช้สิทธิพาดพิง

การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ว่า-ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่-เป็นการสร้าง
ประวัติศาสตร์ใหม่ของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

มีการชุมนุมปักหลักพักค้างต่อเนื่องกลางถนน ในทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ยาวนานรวม 193 วัน

มีผู้เสียสละชีวิตรวม 10 คน

มีผู้สูญเสียอวัยวะสำคัญ 7 คน

มีผู้บาดเจ็บสาหัสอยู่ในอาการโคม่า 3 คน

และมีผู้บาดเจ็บสาหัสตามนิยามที่ยอมรับนับถือกัน 34 คน


ย้ำอีกครั้ง-เสียชีวิต 10 เสียอวัยวะ 7 สาหัสอยู่ในอาการโคม่ามาจนถึงวันนี้ 3

สรุป ผมกำลังจะบอกท่านประธานฯ ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้ ได้รับการรดน้ำพรวนดินด้วยชีวิต เลือดเนื้อ และน้ำตา ของภาคประชาชนผู้บริสุทธิ์แล้ว !

สำหรับพวกเขา-ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่-การพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับนี้คือ “ภารกิจอันศักดิ์สิทธิ์” ธงที่เขาพร่ำประกาศมาโดยตลอดก็คือ “มาทำหน้าที่ มาใช้หนี้แผ่นดิน และมาทำบุญ” การพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญถือเป็นสัญลักษณ์เบื้องต้นของการต่อต้านการฉ้อราษฎร์บังหลวง การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงในการทำการเมืองให้สะอาด บริสุทธิ์

แน่นอน มีบ้างที่เขาทำผิดกฎหมาย มีบ้างที่เขากระทำการที่อาจจะเกินกรอบมาตรา 63 รัฐธรรมนูญฉบับที่เขาปกป้อง

และวันหนึ่งข้างหน้า บางคนในหมู่พวกเขาอาจจะต้องติดคุก ไม่คดีใดก็คดีหนึ่ง หรือหลายคดีนับโทษรวมกัน

แต่...แม้ชีวิตยังสูญเสียได้ อวัยวะยังขาดหายได้ นับประสาอะไรกับอิสรภาพ คุกตาราง เพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์แห่งรัฐธรรมนูญและกระบวนการยุติธรรม นอกจากจะไม่หนีแล้ว พวกเขาจะเดินเชิดหน้าเข้าสู่ที่คุมขังด้วยภาคภูมิ

คุกขังเขาได้-แต่อย่าหมายเข่นฆ่าปณิธาน !

สำหรับพวกเขา ภารกิจพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญยังไม่สิ้น และ ณ วันนี้ความศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจจะมิใช่เพียงเหตุผลตามปณิธานทางการเมืองเท่านั้น แต่จะผนวกเสริมด้วยภารกิจยืนหยัดพิทักษ์เจตนารมณ์ของผู้เสียสละชีวิตและสูญ เสียอวัยวะด้วย

การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร เมื่อไร จึงไม่อาจรวบรัดตัดตอนกันในที่ประชุมแห่งนี้ หรือโดยคณะกรรมการชุดนี้ โดยไม่ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทางตรงอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มที่ยืนหยัดพิทักษ์ปกป้องรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่กลัว ไม่ใช่เกรง ไม่ใช่ละเว้นการทำหน้าที่ของพวกเรา หรือให้ความสำคัญกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ แต่...

แต่...จุดประสงค์สูงสุด ณ นาทีนี้ของพวกเราคืออะไร คือความสมานฉันท์ คือสันติ หรือคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ....

ถ้าคำตอบเป็นว่า “คือความสมานฉันท์...”, “คือสันติ...” และเห็น ๆ กันอยู่ว่าการริเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง คือการจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ให้คุโชนขึ้นมาอีก เราจะทำไปทำไม

รัฐธรรมนูญแก้ได้ครับ แต่ต้องในภาวการณ์และเงื่อนไขที่เหมาะสม

รายงานของคณะกรรมการสมานฉันท์ “ตอบโจทย์” ได้ในระดับหนึ่ง ชื่อเต็มของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ คืออะไร “คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” สมานฉันท์ต้องมาก่อน ตามด้วยการปฏิรูปการเมือง แล้วถึงแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รายงานในบทที่ 2 “การสร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมือง” และบทที่ 3 “การปฏิรูปการเมือง” ที่เท่าที่ผมจำได้ ไม่มีใครอภิปรายคัดค้านเลย นี่น่าจะถือเป็นฉันทมติประการหนึ่ง การประชุม 2 วันนี้ไม่เสียเปล่า

ในขณะที่บทที่ 4 “รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” นั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน

เพื่อให้การประชุมมีบทสรุป – รัฐบาลรับไปทำเฉพาะส่วนที่ได้ “ฉันทมติ” ก่อน

ทำได้ทันที !

บางข้อเสนออาจฟังดูแปลก แปร่ง และไม่แน่ว่าจะได้ผลแค่ไหน แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยไม่ใช่หรือ หลายประการก็ตรงกับนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เคยมีรูปธรรมชัดเจน

ผมไม่เห็นด้วยกับรายงานฯ ทั้งหมด เห็นด้วยกับเพียง “บางส่วน” ไม่เห็นด้วยกับ “บทนำ” ที่มีฉันทาคติกับรัฐธรรมนูญ 2540 อคติกับรัฐธรรมนูญ 2550 และพูดถึงความจริงไม่รอบด้าน โดยเฉพาะจงใจไม่พูดถึงการใช้ช่องว่างช่องโหว่ของรัฐธรรมนูญ 2540 ผนึกอำนาจเบ็ดเสร็จขึ้น ไม่เห็นด้วยกับ “บทสรุป” ที่นอกจากจะไม่มีตรรกะสนับสนุนเลยว่าหากแก้รัฐธรรมนูญ 6 ประเด็นแล้วจะเกิดความสมานฉันท์อย่างไรแล้ว ยังไม่มีตรรกะต่อเนื่องกับบทก่อนหน้า

แต่เห็นด้วยกับคำปรารภของท่านประธานฯ ดิเรก ถึงฝั่ง 2 ประโยค ประโยคที่ 1 “ถ้าความเป็นธรรมไม่มี ความสามัคคีจะเกิดขึ้นในชาติไม่ได้” และโดยเฉพาะประโยคที่ 2 “เราจะต้องรักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์”

และเห็นด้วยอย่างมีเงื่อนไขกับประโยคที่ 3 “ทุกฝ่ายต้องถอยหลังคนละก้าวสองก้าว”

แต่เงื่อนไขของผมคือประโยคที่ 3 ต้องอยู่ภายใต้กรอบของประโยคที่ 1 และประโยคที่ 2 !!"













กำลังโหลดความคิดเห็น